HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 09/10/2555 ]
2ผู้เปลี่ยน'เซลล์แก่'เป็น'เซลล์เด็ก'ได้รับรางวัลโนเบลการแพทย์ปีนี้

 เอเยนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ฤดูประกาศรางวัลโนเบลประจำปี 2012 เริ่มต้นเมื่อวันจันทร์(8) ในสาขาการแพทย์ ซึ่งปรากฏว่าตกเป็นของ จอห์น กัวร์ดอน และ ชินยะ ยามานากะ2 นักวิจัยผู้มีผลงานการเปลี่ยน "เซลล์แก่" จากร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่โตเต็มวัยกลับสู่ "เซลล์ต้นกำเนิด" ที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์อื่นๆได้ นับเป็นการพลิกความเชื่อว่า เซลล์เต็มวัยไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นเซลล์ตัวอ่อนได้
          ประกาศของคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ระบุว่า จอห์นกัวร์ดอน (John Gurdon) แห่งมหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และ ชินยะ ยามานากะ(Shinya Yamanaka) จากมหาวิทยาลัยเกียวโตประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัลจากการค้นพบว่าสามารถนำเซลล์ที่โตเต็มวัยและเปลี่ยนไปทำหน้าที่เฉพาะแล้วนั้น มาเปลี่ยนชุดคำสั่งใหม่เพื่อให้กลายเป็นเซลล์ที่ยังไม่มีหน้าที่เฉพาะ และพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อทุกชนิดในร่างกายได้ ซึ่งการค้นพบของพวกเขาได้ปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการพัฒนาของเซลล์และอวัยวะต่างๆ
          กัวร์ดอนซึ่งเกิดในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1933 และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดปี 1960 นั้น ได้ศึกษาวิจัยจนค้นพบเมื่อปี 1962 ว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะสามารถเปลี่ยนกลับเป็นเซลล์ที่ยังไม่ถูกกำหนดการทำงานได้ ซึ่งในการทดลองสำคัญเขาได้แทนที่นิวเคลียสของเซลล์ไข่กบอันเป็นเซลล์ที่ยังไม่โตเต็มวัย ด้วยนิวเคลียสจากเซลล์ลำไส้ที่โตเต็มวัยแล้ว ผลคือเซลล์ไข่พัฒนาเป็นเซลล์ลูกอ๊อดที่ปกติ และดีเอ็นเอในเซลล์เต็มวัยก็ยังคงมีข้อมูลอันจำเป็นต่อการพัฒนาเป็นเซลล์อื่นๆ ของกบต่อไป
          การค้นพบของกัวร์ดอนในช่วงแรกต้องเผชิญกับความเคลือบแคลงสงสัย แต่ได้รับการยอมรับเมื่อมีการทดลองที่ให้ผลยืนยันโดยนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ โดยที่มีงานวิจัยและเทคนิคจำนวนมากที่ได้รับการพัฒนาขึ้น กระทั่งนำไปสู่การโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม งานวิจัยของเขาแสดงให้เห็นเฉพาะในส่วนของนิวเคลียส แต่คำถามคือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนเซลล์เต็มวัยให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่พร้อมจะกลายเป็นเซลล์อื่นๆ ได้
          ยามานากะซึ่งเกิดที่ญี่ปุ่นในปี 1962 และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโอซากาในปี 1993 ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีต่อมาจึงสามารถพิสูจน์เรื่องดังกล่าวได้ โดยเมื่อปี 2006 เขาค้นพบว่าเซลล์เต็มวัยที่ยังไม่เสียหายนั้นสามารถนำมาเปลี่ยนชุดคำสั่งใหม่ให้กลายเป็นเซลล์ที่ยังไม่เต็มวัยได้ และการค้นพบของเขายังสร้างความประหลาดใจได้อีก โดยการเปลี่ยนยีนเพียงไม่กี่ตัวก็ทำให้เขาแปลงเซลล์ที่โตเต็มที่แล้วให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดได้ และเป็นเซลล์ที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ทุกรูปแบบในร่างกาย ซึ่งเขาเรียกเซลล์ที่เปลี่ยนกลับสู่เซลล์ระยะเริ่มต้นนี้ว่า"เซลล์ไอพีเอส" (iPS cells)
          ทั้งนี้ เราทุกคนรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ล้วนพัฒนาขึ้นมาจากเซลล์ไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์ระหว่างระยะแรกๆ ของเซลล์นั้น ตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอจะมีเซลล์ที่ยังไม่เต็มวัย แต่ละเซลล์เหล่านี้สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ใดๆ ก็ได้ และก่อตัวขึ้นเป็นอวัยวะที่เจริญเต็มวัย เซลล์ตัวอ่อนนี้เรียกว่า "เซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์" (pluri-potent stem cells)
          เมื่อเซลล์ตัวอ่อนพัฒนาต่อไปก็จะเติบโตไปเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่โตเต็มวัย อย่างเซลล์ประสาท เซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์อื่นๆ เคยเชื่อกันว่าการเดินทางจากเซลล์ที่ยังไม่เต็มวัยสู่เซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะนั้นจะไม่สามารถหวนกลับคืนได้
          คณะกรรมการโนเบลระบุว่าตอนนี้เราสามารถสร้างเซลล์ไอพีเอสในมนุษย์ได้แล้ว รวมถึงใช้เซลล์จากผู้ป่วยมาสร้างเซลล์ดังกล่าวนี้ โดยเซลล์เต็มวัยทั้งเซลล์ประสาท เซลล์หัวใจและเซลล์ตับนั้นสามารถสร้างเป็นเซลล์ไอพีเอสได้ และช่วยให้นักวิจัยศึกษากลไกของโรคได้ด้วยวิธีใหม่ๆ
 


pageview  1205861    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved