HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 21/09/2555 ]
น้ำ"บางระกำ'เริ่มเน่า ชาวบ้านป่วย-น้ำกัดเท้า

ศูนย์ข่าวภูมิภาค - น้ำท่วม "บางระกำ" ขยายวงกว้าง น้ำยมทะลักเพิ่มวันละ 10-15 ซม.ชาวบ้านโอดน้ำเริ่มเน่าจากเศษซากวัชพืชส่งกลิ่นเหม็น เช่นเดียวกับที่ "ชัยภูมิ-อ่างทอง"หลังจมน้ำมากว่า 2 สัปดาห์ทำให้น้ำเน่าเหม็นแล้วและชาวบ้านป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้าจำนวนมากขณะที่หลายจังหวัดสถานการณ์ยังอ่วม ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ จับตาเกิดพายุในทะเลจีนใต้สั่งเฝ้าระวังภาคใต้ฝนตกหนักอาจเกิดดินสไลด์ปิดถนน
          สถานการณ์น้ำท่วม จ.พิษณุโลก เริ่มมาหนักที่เขต อ.บางระกำ ในหลายตำบล มวลน้ำจากแม่น้ำยมสายหักและแม่น้ำยมสายเก่าได้มารวมกันที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำในแม่น้ำยมเกินกว่าจุดวิกฤตล้นตลิ่ง 7 เมตร โดยวานนี้ (20 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 8.19 เมตร หรือเพิ่มวันละ 10-15 ซม. และแนวโน้มยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง ส่วนน้ำจาก อ.พรหมพิรามจ.พิษณุโลก อ.กงไกรลาศ และ อ.เมือง จ.สุโขทัยเริ่มลดระดับลงมา ส่งผลให้น้ำที่ท่วมขังทุ่งนาในเขต ต.ท่านางงาม ต.ชุมสงสงครามต.บางระกำ ต.คุยม่วง เริ่มขยายวงกว้างและเพิ่มระดับสูงขึ้นด้วยประมาณการว่ามีน้ำท่วมขังในเขต อ.บางระกำขณะนี้ประมาณ 50,000 ไร่
          ที่บ้านวังแร่ ม.3 ต.ชุมแสงสงครามอ.เมืองพิษณุโลก น้ำที่หลากท่วมทุ่งนาบริเวณนี้กว้างมากเหมือนทุกปี จนเหมือนทะเลสาบแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับผลผลิต เนื่องจากนาข้าวทั้งหมดได้เก็บเกี่ยวไปก่อนน้ำท่วมแล้วในทุ่งนาเต็มไปด้วยเรือประมงขนาดเล็กออกหาปลา วางข่าย ตั้งลอบ เป็นการกอบโกยรายได้เสริมในช่วงเวลาน้ำท่วม
          อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมบางระกำปี 2555 นี้ชาวประมงพื้นบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้หาปลาได้น้อยกว่าน้ำท่วมปี 2554 มากเนื่องจากน้ำมาท่วมช้า และขณะน้ำที่ท่วมขังกำลังเริ่มเน่าเหม็นจากเศษวัชพืชที่ทับถมกันใต้น้ำแล้ว ทำให้ปลาหนีไปหาน้ำใหม่ที่ท้ายน้ำ
          ชาวบ้านพิจิตรสร้างเพิงพักริมถนน
          ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พิจิตรได้ขยายวงกว้างและวิกฤตมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง ชาวบ้านต้องลงทุนซื้อวัสดุ เช่น ไม้ตะปู เพื่อใช้ในการก่อสร้างเพิงพัก บนถนนหลังจากน้ำจากแม่น้ำยมเพิ่มระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนท่วมพื้นที่บ้านซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ ชาวบ้านจึงต้องสร้างเพิ่งพักเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและใช้เป็นที่เก็บของมีค่า เช่น รถจักรยานยนต์และเครื่องมือทางการเกษตร
          น้ำชัยภูมิเน่าแล้ว-ชาวบ้านป่วยอื้อ
          ส่วน จ.ชัยภูมิ สถานการณ์หลังน้ำชีทะลักล้นบึงละหาน ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 18,500 ไร่ติดอันดับ 4 ของประเทศ หลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรใน 5 หมู่บ้าน ของ ต.ละหานอ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ สูงต่อเนื่องกว่าเมตร ชาวบ้านกว่า 2,000 คน กว่า 512 หลังคาเรือนถูกตัดขาดนานกว่า 2 สัปดาห์ นักเรียนกว่า 312 คนต้องนั่งเรือมาเรียน ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 หมู่บ้านในหมู่ 2,10,13,16 และหมู่ 17 ของต.ละหาน เริ่มมีระดับลดลงกว่า 50 ซม.แล้วจากระดับกว่า 1.5 เมตร และยังมีพื้นที่บ้านเรือนราษฎรบางส่วนในหมู่ 2,16 และ 17 อีกกว่า300 หลังคาเรือน ถูกน้ำท่วมขังมานานกว่า2 สัปดาห์ มีระดับสูงเกือบ 1 เมตรอยู่ ซึ่งเริ่มเกิดปัญหาเกิดน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นมาก และมีประชาชน เด็กนักเรียนที่ต้องพากันลุยน้ำเข้าออกชุมชนบ่อยครั้งเกิดป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้วจำนวนมากหลายร้อยคนด้วยเช่นกัน
          "โผงเผง" ตัดกล้วยทิ้งหลังจมน้ำเน่าเหม็น
          ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง ชาวบ้านในหมู่ที่ 5 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทองต้องตัดต้นกล้วยหลายร้อยต้นในสวนทิ้งจนเกือบหมด หลังน้ำในคลองโผงเผง คลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาไหลทะลักล้นคันกั้นน้ำเข้าท่วมสวนกล้วย และบ้านเรือนตั้งแต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สูงกว่า 60 ซม.ทำให้กล้วยเริ่มทยอยยืนต้นตาย และทำให้น้ำที่ท่วมขังบริเวณดังกล่าวเกิดการเน่าเสีย เนื่องจากยังไม่สามารถที่จะระบายออกได้
          อรัญฯ น้ำเริ่มลดลง-รัฐเร่งช่วยปชช.
          ด้านสถานการณ์น้ำท่วม อ.อรัญประเทศจ.สระแก้ว ที่บริเวณหน้า บขส.อรัญประเทศระดับน้ำได้ลดลง แต่รถเล็กยังไม่สามารถวิ่งผ่านไปมาได้ ส่วนที่บริเวณหอนาฬิกา หน่วยทหารและหน่วยกู้ภัยได้นำรถของทหาร วิ่งบริการรับ-ส่งประชาชน นอกจากนี้ ต.บ้านใหม่หนองไทร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกันผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ตั้งจุดบริการอาหารและน้ำดื่มให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ประสบอุทกภัยด้วย
          ปราจีนฯ ยังอ่วมหนักน้ำยังท่วมสูง
          ส่วนที่ชาวชุมชนตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรีจ.ปราจีนบุรี ชาวบ้านยังคงต้องใช้เรือในการเข้าออกพื้นที่และอาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้านเนื่องจากยังมีน้ำท่วมสูงอยู่ประมาณ 2 เมตรและยังไหลเข้าท่วมตลาดเทศบาลกบินทร์
          สำหรับพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี ต้องรับน้ำจากเขาสอยดาว และจาก จ.สระแก้ว คลองพระสทึงและแควพระปรง ซึ่งขณะนี้ประสบภัยแล้ว10 ตำบล 62 หมู่บ้าน ขณะเดียวกันมวลน้ำเริ่มไหลเข้าท่วมหลายพื้นที่ของ อ.ศรีมหาโพธิ์ส่งผลให้ถนนในตลาดท่าตูม ถูกน้ำท่วม แต่รถยนต์ยังสามารถสัญจรได้  ส่วนในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ถูกน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีไหลเข้าท่วมถนนบางจุด มีน้ำท่วมประมาณ20 เซนติเมตร
          จับตาพายุลูกใหม่ในทะเลจีนใต้
          ที่ตึกสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.)ทำเนียบรัฐบาล น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำล่าสุดว่า ภาพรวมในทุกพื้นที่ดีขึ้นแต่มีบางมีพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง คือจ.ปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งระดับน้ำในอ.เมืองปราจีนบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง 17 ซม. ส่วนระดับน้ำของลุ่มน้ำปราจีนบุรีโดยเฉพาะอ.อรัญประเทศ และ อ.เมืองสระแก้ว ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ อ.ศรีมหาโพธิ์ และอ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ยังมีระดับน้ำที่ทรงตัวแต่กำลังลดระดับตามการไหลของน้ำ ส่วนสถานการณ์ฝนในภาคตะวันออกลดลงและไม่มีผลกระทบ ซึ่งถ้าจากนี้ไปยังเป็นเช่นนี้อยู่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
          สำหรับสภาพอากาศและฝนตอนนี้เบาบางลง และกำลังเคลื่อนตัวไปยังภาคเหนือจึงมีฝนตกในบางพื้นที่ของ จ.สุโขทัย ทำให้ปริมาณน้ำใน จ.สุโขทัย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลกและ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่ได้ลดลงไป กลับเพิ่มขึ้นหรืออยู่ในระดับทรงตัว แต่ยังไม่ส่งผลกระทบใดๆเพราะฝนตกลงมาไม่มาก แต่ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
          น.อ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า พื้นที่ภาคกลางระดับน้ำในคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยาต่ำกว่าตลิ่งแล้ว แต่ยังเหลือคลองโผงเผงจ.อ่างทอง และคลองบางหลวง ที่มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำที่ 1,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณจ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯนั้นต่ำกว่าตลิ่ง1 เมตรรวมถึงยังไม่มีน้ำทะเลหนุนในตอนนี้แต่จะกลับมาหนุนอีกครั้งในวันที่ 26 ก.ย.นี้
          ทั้งนี้ กทม.จะมีฝนตกในปริมาณที่น้อยลงในช่วงบ่าย ถึงค่ำจนถึงวันที่ 22 ก.ย.นี้ก่อนที่ฝนจะเคลื่อนไปยังภาคเหนือและอีสาน จากนั้นจะมีฝนตกที่ กทม.อีกครั้งในวันที่ 25-26 ก.ย.ซึ่งเรากำลังจับตาการก่อตัวของพายุในทะเลจีนใต้ว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งถ้าพายุขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม เราก็ต้องเตรียมรับมือในภาคอีสานตอนล่าง เช่น จ.อุบลราชธานีนอกจากนี้ เราต้องเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ในจ.พังงา ระนอง และ ชุมพร ที่เริ่มมีฝนตก
          กทม.ยันอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำได้
          ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ-คลองหนองจอกว่า สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ-หนองจอก ที่ทางกรมชลประทานอยู่ระหว่างการเร่งสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังเพิ่มเครื่องสูบน้ำที่บริเวณ อ.ท่าไข่ และ อ.บางขนาก จ.ฉะเชิงเทราเพื่อเพิ่มการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพอีกด้วยทั้งนี้ กทม. และกรมชลประทานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และในวันที่ 21 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
          "สถานการณ์ขณะนี้ยอมรับว่าระดับน้ำสูงมาก ทั้งในและนอกสถานี เนื่องจากที่ผ่านมามีฝนตกเพิ่มมากขึ้น โดยระดับน้ำด้านนอกสถานีอยู่ที่ระดับ 1.68 เมตร จากระดับปกติ1.30 เมตร ด้านในสถานีอยู่ที่ระดับ 1.06 เมตรจากระดับปกติ 90 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 30 เซนติเมตร"
          ด้านนายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ยินดีที่จะให้รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอุโมงค์ยักษ์ แต่หากไปตรวจสอบก็จะเห็นแค่เครื่องดักขยะ เนื่องจากอุโมงค์อยู่ใต้ดิน


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved