HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 31/07/2555 ]
คร.เตือนหน้าฝนระวังป่วย! ไข้เลือดออก ฉี่หนู หวัดใหญ่

คร.เตือนหน้าฝนระวัง “ไข้เลือดออก-ฉี่หนู-หวัดใหญ่” เผย ป่วยตายมากกว่ามือเท้าปาก แนะดูแลร่างกายให้ดี ช่วยป้องกันโรค ลดเสี่ยง ลดตาย
       
       นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ไม่อยากให้ตื่นตระหนก และมุ่งไปที่โรคมือเท้าปากเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโรคอื่นๆ ที่มากับหน้าฝนอีกมาก และอันตรายมากกว่า เนื่องจากมีอัตราผู้เสียชีวิตสูง คือ โรคไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา รายงานตัวเลขเพียง 6 เดือนของปี 2555 พบผู้ป่วยสูงถึง 25,351 ราย โดยจำนวนนี้ พบผู้เสียชีวิต 27 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.04 รายต่อแสนประชากรส่วนโรคฉี่หนูนั้น พบ ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-24 กรกฎาคม 2555 จำนวน 1,578 ราย เสียชีวิต 25 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.04 รายต่อแสนประชากร นอกจากนี้ ยังมีโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อเข้าสู่หน้าฝนอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว มักเกิดโรคเหล่านี้ตามมา คือ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือปอดบวม
       
       นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า สำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจนั้น สาเหตุมาจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ที่มีมากมายหลายชนิดในอากาศ สามารถติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม หรือ มือ ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ วิธีป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่น ทำได้ง่ายๆ โดย เวลาไอ จาม ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน และควรล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากหากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดบวมจะอันตรายมาก ถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กต้องสังเกตอาการ หากมีไข้ ไอ หายใจเร็ว หรือ หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-24 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วย 17,970 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ อยู่ที่ 43.65 รายต่อแสนประชากร ภาคเหนือมีอัตราป่วย 41.15 รายต่อแสนประชากร ภาคกลางมีอัตราป่วย 26.30 รายต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราป่วยอยู่ที่ 16.93 รายต่อแสนประชากรตามลำดับ
       
       นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝนยังมีโรคอื่นๆ อีก อาทิ โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากดูแลร่างกายให้ดีก็จะป้องกันโรคเหล่านี้ได้ ซึ่งการปฏิบัติตัวง่ายๆ มีดังนี้ รักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอเพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกน้ำ เปียกฝน รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง เช่น น้ำที่ต้มแล้ว หรือน้ำที่บรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย.รวมทั้งเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด ที่ใช้รับประทาน ไม่มีตะกอน ไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารอื่น ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระลงในส้วม และล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และอย่าให้ถูกยุงกัด เช่น การนอนในมุ้ง หรือทายากันยุง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นต้น หรือหากมีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำใดๆ ติดต่อได้ที่สายด่วน โทร.1422


pageview  1205847    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved