HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 25/05/2563 ]
เผยวัคซีนต้านโควิดคืบหน้า เตรียมทดสอบในคนปลายปี

เผยวัคซีนต้านโควิดคืบหน้า เตรียมทดสอบในคนปลายปี
          ผู้จัดการรายวัน360 - สธ.เผยไทยคืบหน้า "วัคซีนต้านโควิด" 2 รูปแบบ คือ DNAทดสอบในหนู และ mRNAทดสอบในลิง จุฬาฯคาดเจาะเลือดพิสูจน์ภูมิคุ้มกันในลิง กลาง มิ.ย.นี้ เลือกตัวที่ดีที่สุด ผลิตวัคซีน 1 หมื่นโดส ทดสอบในคน 3 ระยะ ประสาน 2 โรงงานเมืองนอก "อเมริกา-แคนาดา"ผลิตให้ คาดได้ช่วง ต.ค.และสิ้นปี 63 พร้อมให้ไบโอเนท รับถ่ายทอดเทคโนโลยี หากเป็นไปตามแผน ปลายปี 64 ผลิตวัคซีนในไทยได้
          ผู้จัดการรายวัน360 - สธ.เผยไทยคืบหน้า "วัคซีนต้านโควิด" 2 รูปแบบ คือ DNA ทดสอบในหนู และ mRNA ทดสอบในลิง จุฬาฯ คาดเจาะเลือดพิสูจน์ภูมิคุ้มกันในลิง กลาง มิ.ย.นี้ เลือกตัวที่ดีที่สุด ผลิตวัคซีน 1 หมื่นโดส ทดสอบในคน 3 ระยะ ประสาน 2 โรงงานเมืองนอก "อเมริกา-แคนาดา" ผลิตให้ คาดได้ช่วง ต.ค.และสิ้นปี 63 พร้อมให้ไบโอเนท รับถ่ายทอดเทคโนโลยี หากเป็นไปตามแผน ปลายปี 64 ผลิตวัคซีนในไทยได้
          วานนี้ (24 พ.ค.) นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า ไทยมีความพยายามในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายรูปแบบ แต่ที่มีความก้าวหน้าคือ แบบ DNA และ แบบ mRNA โดยเริ่มทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งวัคซีน DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทค เริ่มทดสอบในหนูทดลอง ส่วนวัคซีน mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผ่านการทดสอบในหนู และเริ่มทดสอบในลิงเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา
          ทั้งนี้ วัคซีนที่ผ่านการทดสอบมีขั้นตอน คือต้องผ่านในสัตว์ทดลองให้ได้ผลพอใจ ผ่านเงื่อนไขความปลอดภัย และกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ทดลองได้ ถึงจะเริ่มทดสอบในคนได้ การทดสอบในคนมี 3 ระยะ คือ 1. หาความปลอดภัย 30-50 คน 2. กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 250-500 คน และ 3. ให้ผลในการป้องกันโรค 1,000 คนขึ้นไป ซึ่ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค. มีวัคซีนต้นแบบ 10 ชนิด ที่เริ่มทดสอบในคนแล้ว คือ จีน 5 ชนิด อเมริกา 2 ชนิด อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย อย่างละ 1 ชนิด อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเริ่มช้ากว่า แต่หลายประเทศที่พัฒนาไปแล้วจะเป็นฐานให้ประเทศที่กำลังพัฒนากันไป จะได้ปรับปรุงวัคซีนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
          "การพัฒนาวัคซีนในประเทศ  เรามีนักวิจัยที่มีศักยภาพ  มีหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมสนับสนุน และการเชื่อมกับพันธมิตรนานาชาติในการร่วมพัฒนา ถ้าพันธมิตรพัฒนาแล้วได้วัคซีน เราก็จะขอร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี และข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้ไทยมีวัคซีนในเวลาใกล้เคียงประเทศอื่น" นพ.นคร กล่าว
          ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ไทยต้องพัฒนาวัคซีนเอง ไม่รอซื้อ เนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนมากถึง 7.7 พันล้านคน และต้องได้วัคซีน 30-50% อย่างจีนและอเมริกา ที่กำลังพัฒนาวัคซีน ก็มีประชากรจำนวนมาก จีน 1,400 ล้านคน อเมริกา 330 ล้านคน ก็คงไม่พอ กว่าจะมาถึงประเทศเรา ไทยจึงต้องเข้าไปแข่งด้วย แต่เราไม่ได้เริ่มจาก 0 อย่างศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาฯ เราตั้งมา 15 ปี เรียนรู้เทคโนโลยีสะสมมาเรื่อยๆ สามารถทำได้หลายอย่างรวดเร็วขึ้น
          สำหรับวัคซีน mRNA ที่ผ่านด่านหนู และกำลังทดลองกับลิง คาดว่าสิ้นเดือนน่าจะเรียบร้อย โดยประมาณ 2 สัปดาห์ ภูมิน่าจะขึ้น และจะขึ้นสูงใน 4-6 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจเลือดลิงรอบแรก กลางเดือน มิ.ย. แต่ถ้าผลเลือดยังต่ำ ก็รอปลาย มิ.ย.หรือต้น ก.ค. จะทดสอบอีกครั้ง
          ทั้งนี้ ในไทยยังไม่สามรถผลิตวัคซีนจากเทคโนโลยี mRNA ได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่มาก ทั่วโลกขณะนี้มีโรงงานที่ผลิต mRNA ได้ ไม่เกิน 7 แห่ง เราจึงจองโรงงานขนาดเล็กในต่างประเทศก่อน คือที่อเมริกา และเยอรมัน แต่มีโรงงานที่แวนคูเวอร์ แคนาดา เพื่อผลิตให้เราจำนวน 1 หมื่นโดส โดยเมื่อเราได้ผลทดสอบในลิงดี ก็จะเลือกตัวที่ดีที่สุดไปผลิต ซึ่งจำนวน 1 หมื่นโดส มาจากวัคซีนทั่วไป จะฉีดคนละ 2 โดส เราจึงเตรียมอาสาสมัครไว้ 5 พันคน คาดว่าจะผลิตได้จากโรงงานแรกเร็วสุดคือ ต.ค. นี้ และอีกแห่งน่าจะได้ก่อนสิ้นปี เพื่อใช้ทดสอบในคน 3 ระยะ คือ ระยะ 1 ไม่เกิน 100 คน โดยแบ่งเป็น กลุ่ม กลุ่มละ 10-15 คน เพื่อดูขนาดต่ำสุด ขนาดกลาง ขนาดสูง เทียบกับกลุ่ม เปรียบเทียบ ว่าปลอดภัยหรือไม่ ระยะ 2 อาสาสมัครก็เยอะขึ้น และระยะ 3 ที่ต้องมากกว่าพันคน
          อย่างไรก็ตาม การเตรียมการผลิตไม่ใช่รอทุกอย่างเสร็จ ต้องเตรียมโรงงานไทยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก 2 โรงงานขนาดเล็กนี้ด้วย โดย บ.ไบโอเนท เอเชีย พร้อมรับเทคโนโลยีมาผลิต ถ้าแต่ละขั้นตอนผ่านด่านแล้วดี ไทยก็พร้อมผลิตวัคซีนในอีก 1 ปีครึ่งข้างหน้า ถ้าเป็นไปตามแผน อาจจะได้ผลิตเพื่อหลายล้านคนได้ภายในปลายปี 64.


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved