HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 05/02/2562 ]
ยกเลิก ห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ช่วยได้จริง หรือยิ่งทำร้ายคนไม่สูบมากกว่าเดิม!?

 ยกเลิก "ห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน" ช่วยได้จริง หรือยิ่งทำร้ายคนไม่สูบมากกว่าเดิม!?
          สังคมฉะแหลก! สูบบุหรี่ข้างนอก ยิ่งทำร้ายคนไม่สูบมากกว่าหรือ? นักแสดงชื่อดังชี้ ยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในสนามบินไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ด้านกระทรวงสาธารณสุขอ้าง อยากให้สถานที่สาธารณะเป็น "เขตปลอดบุหรี่" ทั้งหมด เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนที่ต้องรับพิษจาก "บุหรี่มือสอง" ใครฝ่าฝืนเตรียมรับโทษ!!
          สังคมตั้งคำถามยิ่งแก้ยิ่งหนักกว่าเดิม!!
          หลังท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มีประกาศยกเลิกห้องสูบบุหรี่ที่อยู่ภายในอาคารท่าอากาศยานทุกแห่ง สังคมเกิดการตั้งคมถามอย่างดุเดือดว่า ยกเลิกห้องภายในคนก็ไปสูบข้างนอกอยู่ดี แบบนี้ยิ่งจะทำให้เป็นปัญหาหนักกว่าเดิมอีก ให้สูบข้างนอก ยิ่งทำร้ายคนที่ไม่สูบมากกว่าหรือ?
          และนี่เป็นความคิดเห็นจากสังคมที่ฉะกฎหมายยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศยกเลิกห้องสูบบุหรี่ พร้อมมีการเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่อีกด้วย
          "แทนที่จะให้สูบในห้องปิด แล้วอากาศที่จะออกจากห้องปิดก็กรองให้เรียบร้อยก่อนปล่อยออก ดันปล่อยให้ไปสูบ เอาต์ดอร์ซะงั้น ทำห้องสูบบุหรี่แล้วติดเครื่องฟอกอากาศก่อนปล่อยออกข้างนอกสิ ให้สูบข้างนอก นี่ทำร้ายคนไม่สูบมากกว่าอีก ไม่สูบ แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกห้องสูบบุหรี่"
          "การมีห้องสูบบุหรี่คือการจัดการไม่ให้กระทบสิทธิกัน พอยกเลิก เพื่ออะไรก็ไม่ทราบ ยกเลิกห้องแล้วบอก จะจัดที่สูบข้างนอก มันยิ่งกระทบคนไม่สูบ คนสูบก็ไม่กล้าหือ ไม่กล้าโวยวายมาก เพราะรู้ว่าคนในสังคมถูกจัดการให้มองคนสูบไม่ใช่คนเต็มคนมานานแล้ว"
          "ต่อไปคงจะเห็นคนเข้าไปสูบในห้องน้ำแน่ๆ ในประเทศที่ไม่เห็นค่าของสิทธิของความแตกต่าง จะคาดหวังอะไรได้บ้าง? มีห้องให้สูบเฉพาะก็ดีแล้ว ไม่เดือดร้อนคนไม่สูบ งงกับความคิด"
          ด้าน ทราย เจริญปุระ นักแสดงชื่อดัง ได้โพสต์ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า การยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในสนามบินไม่ใช่วิธีแก้ ปัญหา ไม่มีห้องให้สูบก็ไปหาสูบกันข้างนอกอยู่ดี หากมีปัญหาก็แก้ไขไม่ใช่มีแต่ห้ามเพียงอย่างเดียว "อ้าว! ก็คนไม่สูบบุหรี่ก็ไม่เข้าไปในห้องสูบไง ไม่มีห้องนี่ก็สูบข้างนอกกันสนั่นอะ งง (งดดราม่าเรื่องภูมิแพ้ สงสารเด็ก หายใจไม่ออก คือโลกนี้มี คนสูบไง ทำไมไม่จัดที่แทนห้ามอะ) คือชีวิตนี้พี่เอาแต่ห้ามไม่ได้นะ มันไม่ใช่วิธีแก้อะ มีปัญหาก็แก้ ไม่ใช่ห้าม นี่ไม่ใช่โรงเรียนที่ห้ามแม่งทุกอย่างไง โลกมีความหลากหลายกว่านั้นป่ะ"
          ทั้งนี้ น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ออกมาแถลงถึงเรื่องดังกล่าวนี้ว่าทางท่าอากาศยานได้ถือ ปฏิบัติตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้สถานที่ราชการ รวมถึงท่าอากาศยาน เป็นสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของ ผู้ไม่สูบบุหรี่
          "ได้กำหนดให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงท่าอากาศยาน เป็น สถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของ ผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยกำหนดให้พื้นที่และบริเวณทั้งหมดทั้งภายในและภายนอกอาคารเป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่สามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะได้ ซึ่ง จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.62 เป็นต้นไป
          โดยได้ดำเนินการยกเลิกห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสำนักงานและอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้พิจารณาจัดพื้นที่นอกอาคารเป็นเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสามารถสอบถามข้อมูลสถานของพื้นที่สูบบุหรี่ได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของแต่ละท่าอากาศยาน"
          "สูบบุหรี่ สิทธิบนความแตกต่าง"
          ไม่เพียงเท่านี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยังหนึ่งใน เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ เพื่อไขความเป็นธรรมให้ทั้งสองฝ่าย โดยเจ้าหน้าที่รายนี้เผยกับ ทีมข่าวว่า เป็นสิทธิบนความแตกต่าง ถ้ามองในฝั่ง ผู้สูบเขาก็จะบอกว่าเสียสิทธิ์ แต่ถ้ามองส่วนรวมได้รับผลกระทบคือควันที่ผู้สูบบุหรี่ปล่อยควันนั้นออกมา
          "สำหรับการยกเลิกในครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นด้วยหรือไม่ เพราะเป็นในเรื่องของควัน เพราะฉะนั้นเป็นมุมมองที่หลากหลาย จึงต้องแยกระหว่างสิทธิของคนสูบกับสิทธิของคนที่ได้รับผล กระทบจากควัน แต่ถ้าสูบแล้วเอาควันไปไว้ในปอดของตัวเองก็ไม่กระทบกับสิทธิ์ของคนอื่นๆ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาควันไว้กับตนเอง
          ในมุมมองผม การสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล แน่นนอนว่าการสูบเป็นสิทธิ เป็นร่างกายของคุณ เงินของคุณ แต่ว่าการพ่นควันออกมาจะไปกระทบสิทธิ์ของคนอื่นด้วย มีทั้งสิทธิของตัวเองกับกระทบสิทธิ์ของคนอื่น ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าตัวควันบุหรี่ก็อาจจะทำให้เกิดโรคได้
          ซึ่งข้างซองก็จะบ่งบอกอยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่ มีผลกระทบอันตราย หรือทำให้เกิดมะเร็งได้ ข้างซองก็โหดร้ายอยู่แล้ว แต่ว่าเขาสูบแล้วมีความสุขก็สิทธิ์ของเขา แทนที่จะดูดบุหรี่หันเหไปอมลูกอมเกิดเป็นเบาหวานไปอีก แบบนี้จึงเป็นสิ่งที่มองเห็นได้สองด้าน ซึ่งมีทั้งบวกและลบ"
          อย่างที่กระทรวงสาธารณสุขมีเจตนารมณ์ ออกกฎมาเพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของ ผู้ไม่สูบบุหรี่นั้น เจ้าหน้าที่รายเดิมยังกล่าวเสริมว่า คนที่ต้องการจะสูบอาจจะต้องหาพื้นที่อื่นอีกต่อไป การจัดให้สูบพื้นที่ด้านนอกนั้นถ้าเป็นสถานที่ปลอดโปร่ง มีอากาศพัด มีลมพัดผ่าน ก็เป็นสิทธิของคนสูบ แทนที่จะอยู่ในมุมอับ หรืออยู่ในห้องแอร์ ซึ่งถ้าเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศก็จะทำให้ไหลเวียนอยู่ในห้องอยู่ดี ต้องมีที่ดูดอากาศ มีตัวกรอง
          "สำหรับการติดเครื่องฟอกอากาศ ปัญหาต่อมาถ้าเป็นที่สาธารณะจะมีเครื่องฟอกอากาศได้ขนาดไหน อันนั้นก็อยู่เขตสาธารณะนั้น ว่าใครเป็นคนดูแล และสามารถติดตั้งเครื่องพวกนี้เพิ่มเติมได้หรือไม่  จะเป็นภาระหรือไม่ หน่วยงานจะมีงบประมาณที่จะไปติด หรือไม่
          ความจริง ตามห้างทั่วไปมีอยู่แล้ว แต่เพียงแค่ไม่แน่ใจว่าฟอกอากาศได้ไกลแค่ไหน จะมีทั้งห้าง หรือมีแค่จุดใดจุดหนึ่งของห้าง ซึ่งห้างเองก็ไม่เคยบอกหรือมีแผนผังภายในบอกว่ามีเครื่องฟอกอากาศอยู่จุดไหนบ้าง ควรจะมีบอกไหมว่าจุดไหนมีเครื่องฟอกอากาศ มีในรัศมีถึงแค่ไหน กี่ตารางเมตร ตรงนี้ไม่มีบ่งบอกนั้นแหละจึงกลายเป็นปัญหา"
          นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศถึงกฎหมาย ดังกล่าวนี้ว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกอนุบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดของสถานที่และ ยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 3 ก.พ. 62
          "สำหรับประกาศกระทรวงฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ให้สถานที่สาธารณะ ยานพาหนะ และที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ป้ายรถเมล์ หรือปั๊มน้ำมัน เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด และเพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
          ส่วนสวนสาธารณะให้ห่างจากทางเข้า-ออก ประมาณ 5 เมตร โดยจะไม่ให้มีเขตสูบบุหรี่ภายในบริเวณที่เป็นอาคาร หรือ สิ่งปลูกสร้างส่วนมหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สนามบิน กฎหมายอนุญาตให้สามารถจัดเขตสูบบุหรี่ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ควบคุมดูแล เพื่อไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ แต่หากพบว่า มีการฝ่าฝืน จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท" .


pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved