HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์ [ วันที่ 27/02/2555 ]
"หัวใจ" เต้นผิดจังหวะน่ากลัวกว่าที่คิด
          เหนื่อยง่าย ใจสั่นเจ็บหน้าอก หน้ามืดเป็นลมหมดสติ...สัญญาณเตือนของภาวะ 'หัวใจเต้นผิดจังหวะ'ที่หนุ่มๆ โหมงานหนักเล่นหนัก ต้องใส่ใจ
          หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ โรคหัวใจชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปรกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งทำให้ระบบการบีบตัวสูบฉีดเลือดเพื่อนำไปเลี้ยง ส่วนอื่นๆ ในร่างกายไม่สามารถทำงานได้เป็นปรกติ และเมื่อบางส่วนของร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่างๆ มากมายตั้งแต่อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด จนถึงขั้นหมดสติ หรือเสียชีวิตได้
          นพ.โชติกร คุณวัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยว่า "หัวใจ ก็เหมือนกับบ้าน คือมีคลื่นไฟฟ้าที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นเป็นปรกติ และสามารถบีบตัวสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และมีระบบหลอดเลือด คอยหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เปรียบได้กับระบบไฟฟ้าและประปา ดังนั้นเมื่อระบบไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปรกติ จึงเกิดผลกระทบโดยตรงต่อจังหวะการเต้นของหัวใจที่เราเรียกว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งนี้ การที่หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นหรือเต้นช้าลงนั้น ก็ขึ้น
          อยู่กับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ประวัติสุขภาพ และปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละคน
          โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เป็นสองชนิด ใหญ่ๆ คือ หัวใจเต้นเร็วกว่าปรกติ และหัวใจเต้นช้ากว่าปรกติ แต่ในการเต้นช้าหรือเร็วก็ยังจำแนกออกไปได้อีกหลายชนิด ต้องเข้าใจก่อนว่าแหล่งควบคุมการเต้นของหัวใจแบ่งออกเป็นสองส่วน คือตำแหน่งที่อยู่ที่หัวใจส่วนบนซึ่งทำหน้าเป็นแหล่งกำเนิดคลื่นไฟฟ้า และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นทางเชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนกับห้องล่างซึ่งทำหน้าที่ให้หัวใจห้องข้างบนและห้องข้างล่างทำงานสัมพันธ์กัน
          ทีนี้หากแหล่งกำเนิดคลื่นไฟฟ้าทำงานผิด ปรกติ หัวใจก็จะเต้นช้าลงจนเหลืออัตรา 20-30  ครั้งต่อนาที บางครั้งอาจหยุดเต้นไปชั่วคราวสักห้าหรือสิบวินาที ซึ่งอาจทำให้คนไข้หน้ามืดหรือหมดสติได้ หรือเมื่อหัวใจห้องข้างบนกับห้องข้างล่างเกิดทำงานไม่สัมพันธ์กัน หัวใจก็จะเต้นช้าลงจนผิดปรกติได้เช่นกัน
          สำหรับอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปรกติเราต้องดูว่าเกิดที่บริเวณหัวใจห้องข้างบนหรือข้างล่าง ถ้าเป็นที่หัวใจห้องบนก็ไม่เป็นอันตรายมากนัก ยกเว้นถ้าเต้นเร็วแล้วผิดจังหวะเรียกว่า หัวใจเต้นพลิ้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการใจสั่น และอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจซึ่งนำไปสู่การเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ ส่วนการเต้นเร็วผิดปรกติที่เกิดบริเวณหัวใจห้องข้างล่าง ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายโดยตรง จะทำให้หัวใจเกิดการบีบตัวเร็วมากจนอ่อนแรงลงและหยุดเต้นไปได้ ซึ่งส่งผลรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
          ปัจจุบัน มีการตรวจหาความผิดปรกติของ การเต้นของหัวใจได้หลายวิธี ตั้งแต่การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่เรียกว่า EKG ในขณะที่มีอาการ หรือถ้าผู้ป่วยมีอาการบ่อยแต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลาแพทย์จะติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไว้ที่ตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง แล้วนำผลที่ได้มาประเมินหา ความผิดปรกติในภายหลัง ถ้าผู้ป่วยมีอาการนานๆครั้งแพทย์สามารถให้ผู้ป่วยพกเครื่องบันทึกหัวใจแบบไร้สายซึ่งสามารถพกได้เป็นเวลาหลายอาทิตย์ เมื่อมีอาการผู้ป่วยสามารถเอาเครื่องมาแนบที่หน้าอกและบันทึกการทำงานได้ ส่วนการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย (EST) หรือการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) ก็เป็นการตรวจเพื่อช่วยให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่ถูกต้อง
          ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถรักษาได้ หลายวิธี วิธีที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมที่สุดในการรักษาอาการหัวใจเต้นช้าผิดปรกติที่ไม่ได้เกิดจากยา คือ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ซึ่งเปรียบเสมือนแบตเตอรี่เทียมที่จะเข้า ไปทำหน้าที่กระตุ้นและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจในตัวของผู้ป่วย
          ส่วนการรักษาอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปรกติ ขึ้นกับตำแหน่งห้องของหัวใจที่ผิดปรกติ เช่น หากเกิดความผิดปรกติจากห้องข้างบน ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งจะทำให้ลดอัตราการเต้นให้ช้าลง การรักษาจะเริ่มจากวิธีพื้นฐานไปถึงวิธีที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่นหากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นจากการทานยาหรือทานยาแล้วมีผลข้างเคียงของยา วิธีการจี้ไฟฟ้าก็เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งซึ่งทำได้ โดยเจาะเข้าไปบริเวณเส้นเลือดหน้าขาแล้วใส่สายเข้าไปในหัวใจเพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ใช้คลื่นไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ และใช้คลื่นไฟฟ้าความถื่สูงสร้างความร้อนและชี้ตำแหน่งที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติ เพื่อทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปรกติอีกครั้ง"
          แต่ถ้าเป็นความผิดปรกติจากหัวใจห้องล่าง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญการรักษาอาจจะเริ่มจากยา หรือการจี้ไฟฟ้า ผู้ป่วยบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้ รับการฝังเครื่องช็อคไฟฟ้า โดยผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กในลักษณะเดียวกันกับการใส่เครื่องกระตุ้น หัวใจ เครื่องช็อคไฟฟ้าจะช่วยได้มากในคนที่หัวใจอ่อนแรงมาก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้น ผิดปรกติและหยุดเต้นเฉียบพลันได้ อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่าผู้ป่วยบางคนมีอาการหัวใจวายขณะ นอนหลับหรือออกกำลังกายได้
          นพ.โชติกร คุณวัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาลบำรุง
          ราษฎร์
          2 กลุ่มเสี่ยง "หัวใจ" เต้นผิดจังหวะ
          1.ผู้ที่ดื่มกาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม เป็นประจำ
          2.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ความดัน เบาหวาน หรือมีปัญหาที่ต่อมไทรอยด์

pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved