HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
เนชั่นสุดสัปดาห์ [ วันที่ 07/06/2556 ]
กรมสุขภาพจิต แนะ! วิธีรับมือกับความเครียดช่วงเปิดเทอม

  เริ่มต้นย่างก้าวเข้าสู่ช่วงเปิดเทอมใหม่กันแล้ว ทั้งเด็กๆ และพ่อ-แม่ผู้ปกครองก็ต้องปรับตัวกันอีกครั้ง ปัญหาสำคัญที่พบว่ามักมากับช่วงเปิดภาคเทอมใหม่อยู่เสมอ ก็คือความเครียดของผู้เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองจากภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ จนส่งผลให้หลายครอบครัวเกิดภาวะเครียดขึ้นได้
          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณพ่อ-คุณแม่ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ โดยหากมีความตึงเครียดต้องรู้จักจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น ฝึกการหายใจการหายใจเข้าลึกๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดที่ง่ายดาย และมีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย รวมถึงเป็นการเติมออกซิเจนในเลือดที่ช่วยปลุกสมองให้ตื่นตัว ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและทำให้จิตใจความคิดสงบ
          การฝึกหัดหายใจสามารถทำได้ทุกหนทุกแห่ง ได้ผลอย่างรวดเร็ว และสามารถคลายเครียดได้ในพริบตา  การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เริ่มด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อทั้งหมดบนใบหน้า แยกเขี้ยวและยิ้มค้างไว้ 10 วินาทีแล้วผ่อนคลาย 10 วินาที ทำซ้ำกับกล้ามเนื้อคอ ตามด้วยไหล่ และกล้ามเนื้ออื่นๆ ซึ่งสามารถทำแบบนี้ได้ทุกที่ จะสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดได้ง่ายกว่า เร็วกว่าในเวลาไม่กี่นาที โดยไม่ต้องมีการฝึกฝนหรือใช้เครื่องมือพิเศษใดๆ
          ทั้งนี้ การออกกำลังกายจะช่วยหันเหความสนใจไปจากสถานการณ์อันตึงเครียดและทำให้ชื่นบานด้วยการหลั่งของเอ็นโดรฟิน การสร้างอารมณ์ขันให้กับตัวเองด้วยการหัวเราะโดยเฉพาะเมื่อเวลาเกิดความเครียด เพราะการหัวเราะจะช่วยลดความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี หรือจัดเวลาสำหรับงานบันเทิงคุยเรื่องตลกหรือดูตลกร่วมกับคนในครอบครัว การนอนหลับพักผ่อนอย่างพอเพียงวันละ 7-8 ชั่วโมง การฝึกทำสมาธิจะสามารถช่วยลดความเครียดได้ และต่อสู้กับปฏิกิริยาในแง่ลบจากความเครียดและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อเกิดปัญหาจะช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้ดี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีการจัดการกับความเครียดที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง
          ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้ครอบครัวต้องจมอยู่กับความเครียด ควรรู้จักที่จะจัดการความเครียดให้ได้ไม่หงุดหงิดใส่กัน ไม่สร้างบรรยากาศตึงเครียดให้เพิ่มขึ้น สมาชิกในครอบครัวควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทานข้าวร่วมกัน หันหน้าปรึกษากันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลูกจะได้เข้าใจสถานะทางการเงินของครอบครัว ในเมื่อต่างฝ่ายต่างพูดภาษาเดียวกัน ย่อมหาหนทางออกได้ไม่ยาก ถ้าบ้านไหนที่เงินฝืดเคือง ลูกก็ต้องช่วยกันเป็นธุระเดินเรื่องให้พ่อ-แม่ เช่น ติดต่อครูที่ปรึกษาเพื่อแจ้งปัญหาทางการเงินของที่บ้าน ให้ครูช่วยหาหนทางที่เหมาะสมเช่นกู้เงินยืมเรียนของโรงเรียน ขอทุนการศึกษา อย่ามัวน้อยอกน้อยใจหรืออับอายใครเขา เพราะพวกเขาช่วยแก้ปัญหาของเราไม่ได้
          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำเพิ่มเติมว่า การฝึกทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความตึงเครียดด้านภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวได้ ดังนั้น แต่ละครอบครัวควรฝึกทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้เป็นนิสัย จะได้มีการวางแผนการใช้เงินว่าจะต้องจ่ายในสิ่งใดเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นการฝึกนิสัยให้รู้จักมัสยัสถ์ ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินกำลังเงิน
          "นอกจากนี้ในส่วนของเด็กๆ พอถึงเวลาเปิดเทอมทีก็จะต้องมีการปรับตัว เด็กที่ปรับตัวไม่ได้จะมีความเครียด เนื่องจากเกิดความกังวลในหลายๆ เรื่อง เช่น เด็กเล็ก จะกังวลเรื่องการปรับตัว ห่างพ่อ-แม่ กลัวการเข้าห้องน้ำเอง กลัวกินอาหารใหม่ๆ กลัวเพื่อนแปลกหน้า หรือกลัวถูกครูดุ สำหรับวัยรุ่น ก็มักจะมีปัญหากังวลเรื่องการปรับตัวกับเพื่อนกลุ่มใหม่ ถูกเพื่อนปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งวัย
          อุดมศึกษาก็เครียดและกังวลเรื่องการปรับตัวในการเปลี่ยนสถานที่เช่นเดียวกัน หลังจากปิดเทอมไป นานอาจยังคุ้นกับการอยู่บ้าน อยู่กับพ่อ-แม่ และยังไม่อยากไปโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย
          คุณพ่อ-คุณแม่คงต้องให้เวลาเด็กๆ ได้ปรับตัวหน่อย แรกๆ เปิดเทอมก็อาจไปส่ง หรือใส่ใจเขามากขึ้น มีการพูดคุยกับลูกให้บ่อย เพื่อให้เขาได้กลับไปร่าเริงกับเพื่อนๆ และการเรียนให้ได้เหมือนเดิม" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวทิ้งท้าย


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved