HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
เนชั่นสุดสัปดาห์ [ วันที่ 08/03/2556 ]
อันตรายจากการกินก่อนนอน

ดร.วินัย ดะห์ลัน winaidahlan@gmail.com, www.facebook.com/winaidahlan

          การแนะนำโภชนาการเพื่อลดความอ้วนมีอยู่ข้อหนึ่งที่ใช้กันบ่อยคือ 'อย่ากินก่อนนอน' เหตุผลคือ พลังงานที่ได้จากการกินก่อนนอนจะสะสมเป็นไขมันได้ง่ายกว่าการกินอาหารชนิดเดียวกัน ในปริมาณพลังงานที่เท่ากันในเวลากลางวันหรือเย็น คำแนะนำลักษณะนี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ใครอยากจะอ้วนก็ง่ายนิดเดียว คือหมั่นกินก่อนนอนเข้าไว้ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสะสมไขมัน  รู้ทั้งรู้อย่างนี้แต่ก็ยังอธิบายเมแทบอลิซึม ในร่างกายไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
          คำอธิบายสำหรับผมสำหรับเรื่องนี้ที่ใช้อยู่บ่อยๆ คือ การกินก่อนนอนทำให้ร่างกายใช้พลังงานจากการย่อยน้อยลง เนื่องจากผิดเวลา พลังงานในร่างกายที่ใช้น้อยลงนี้ทำให้เกิดพลังงานเหลือมากพอที่จะนำไปเก็บสะสมไว้ในรูปไขมัน แต่ก็อธิบายได้เพียงเท่านี้ โดยอธิบายต่อไม่ได้ว่าเหตุใดพลังงานที่ร่างกายได้รับจึงเปลี่ยนไปเป็นไขมันง่ายนัก ทั้งไม่รู้ด้วยว่าไปเปลี่ยนเป็นไขมันที่ไหน
          มาถึงวันนี้ในที่สุดก็ได้คำตอบจากงานวิจัยนำโดยศาสตราจารย์ ดร.คาร์ล จอห์นสัน (Carl Johnson) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยแวน- เดอร์บิลท์ เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี  ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Current Biology วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013 นักวิจัยทีมนี้ทำการศึกษาในหนูทดลอง ทดสอบผลของการกินอาหารในเวลาที่ต่างกันในที่สุดก็ได้คำตอบว่าการกินอาหารในช่วงเวลาที่แย้งกับนาฬิกาชีวิตของร่างกายจะทำให้กลไกการทำงานของฮอร์โมนอินสุลินเปลี่ยนไป
          หนูทดลองเป็นสัตว์ที่ต้องกินเวลากลางคืน หรือในเวลาที่ไม่มีแสง อยากจะให้หนูกินอาหารก็ต้องดับไฟมืดเสียก่อนทำให้หนูเข้าไว้ว่าเป็นเวลากลางคืนซึ่งหนูจะออกมาหาอาหาร นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ดัดแปลงจีน Bmal 1 และ Bmal 2 ในดีเอ็นเอของหนูทำให้เวลากินอาหารของมันเปลี่ยนไป จากกลางคืนเป็นกลางวันจากนั้นจึงปล่อยให้มันกินอาหารเปรียบเทียบกับหนูที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจีน
          เมื่อดับไฟมืดตลอดเวลาแล้วปล่อยให้ หนูกินอาหาร หนูปกติจะกินอาหารไม่หยุด  หากเปิดไฟไว้ตลอดเวลาหนูจะไม่กินต่อเมื่อเกิดอาการหิวมันจะเริ่มกินอาหาร ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เวลาที่ควรกิน หนูปกติจะแสดงอาการในลักษณะนี้ ขณะที่หนูที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจีน Bmal จะแสดงอาการ ตรงข้าม จากนั้นทีมวิจัยจึงศึกษาผลของการกินอาหารในปริมาณที่เท่ากันในเวลา ที่ขัดแย้งกับช่วงเวลาที่มันควรกิน
          สิ่งที่ทีมวิจัยทีมนี้พบค่อนข้างน่าสนใจคือ การกินอาหารให้พลังงานในช่วงเวลาที่ขัดแย้งกับนาฬิกาชีวิต กลไกการทำงานของอินสุลินจะกลับด้านกับเวลาปกติ แต่ก่อนอื่นเห็นทีจะต้องอธิบายเพื่อให้เข้าใจการทำงานของอินสุลินเสียก่อน อินสุลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์อื่นๆ ดึงน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้เข้าสู่เซลล์เพื่อสลายเป็นพลังงานจ่ายให้แก่เซลล์นำไปใช้ในการทำงาน
          กรณีที่ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไปหรืออยู่ในช่วงที่ไม่ต้องการใช้พลังงานที่ว่านั้น อินสุลินจะกระตุ้นให้นำพลังงานส่วนเกินไปสะสมเป็นไขมันเก็บไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน นี่คือกลไกการทำงานของอินสุลินซึ่งเป็นทั้งการกระตุ้นการใช้พลังงานและกระตุ้นการสะสมพลังงานส่วนเกิน
          ทีมงานของ ดร.จอห์นสัน พบว่า หนูทั้งปกติและดัดแปลงจีน หากให้กินอาหารนอกเวลาตามธรรมชาติ กลไกการทำงานของอินสุลินจะกลับด้านจากที่ควรจะเป็น อย่างเช่นหนูปกติหากปล่อยให้กินในเวลากลางคืนหรือช่วงที่ไม่มีแสง อินสุลินจะเหนี่ยวนำให้กลูโคสกลายไปเป็นพลังงานมากกว่าที่จะนำไปสะสมเป็นไขมัน ในทางตรงข้ามหากปล่อยให้มันต้องกินในเวลาที่มีแสงซึ่งผิดธรรมชาติของมัน หนูจะนำพลังงานไปสะสมในรูปของไขมันมากกว่าที่จะนำไปใช้เป็นพลังงาน ในทางตรงข้ามหนูที่ถูกดัดแปลงจีนจะเกิดปัญหาที่เป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน นาฬิกาชีวิตจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของอินสุลินและ เมแทบอลิซึมของร่างกาย
          เหตุนี้เองที่ทำให้ทีมวิจัยได้ข้อสรุปสำหรับมนุษย์ว่าอินสุลินเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสะสมไขมันหรือก่อความอ้วนสำหรับคนที่กินอาหารก่อนนอน ทั้งนี้ เป็นเพราะจีนมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นล้านปีกำหนดให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องกินอาหารในเวลากลางวัน ตรงข้ามกับหนู แต่ในงานวิจัย ไม่ได้อธิบายเพียงแค่นี้ สิ่งที่ ดร.จอห์นสันพบคือ หนูที่กินอาหารในเวลาที่ขัดแย้ง กับนาฬิกาชีวิตบ่อยครั้งผลที่ติดตามมา คือเซลล์ร่างกายเริ่มตอบสนองต่ออินสุลิน ในทิศทางที่ผิดปกติกระทั่งเกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน ผลคือเกิดโรคอ้วนง่ายขึ้นทั้งยังเกิดเบาหวานง่ายขึ้น
          คนที่กินอาหารในเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาก่อนนอน นาฬิกาชีวิตกำหนดให้ร่างกายต้องพักผ่อน หากในเลือดมีน้ำตาลสูงขึ้นจากการกินอาหารให้พลังงานก่อนนอน ร่างกายจะกระตุ้นให้ตับอ่อนสร้างอินสุลินเพื่อดึงเอาน้ำตาลที่สูงขึ้นในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ในเวลาที่ผิดปกติลักษณะนี้กลไกอินสุลินจะกระตุ้นให้พลังงานที่เข้าสู่ร่างกายเปลี่ยนเป็นไขมันมากขึ้นกว่าในเวลาปกติ ร่างกาย จึงสะสมไขมันมากขึ้น ดังนั้น การกินอาหารให้พลังงานเวลากลางคืนซึ่งเป็น ช่วงที่ร่างกายควรจะพักผ่อนผลที่ติดตามมาคือ ความอ้วน
          ก่อนหน้านี้มีรายงานการศึกษาพบว่าคนที่ทำงานในเวลากลางคืนหรือกะดึก ร่างกายจะสะสมไขมันมากกว่าคนที่ทำงานกะกลางวัน ทั้งๆ ที่ร่างกายได้อาหารที่ให้พลังงานเท่ากัน นอกจากจะอ้วนง่ายแล้ว ยังเป็นเบาหวานได้ง่ายกว่าคนที่ทำงานในเวลากลางวันอีกต่างหาก ถึงวันนี้จึงอธิบายได้แล้วว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น งานวิจัยของ  ดร.จอห์นสัน สรุปว่า แม้จะเปลี่ยนพฤติ- กรรมของหนูให้กินอาหารต่างเวลาบ่อยๆ แต่นาฬิกาชีวิตของหนูก็ไม่เคยปรับตัว มนุษย์ก็เช่นกัน เป็นสัตว์ที่นาฬิกาชีวิตทำงานเป็นปกติในเวลากลางวัน แม้จะเปลี่ยนเวลานอนเป็นกลางวันจนชิน แต่นาฬิกาชีวิตก็ไม่เคยเปลี่ยน
          จากผลงานวิจัยของ ดร.จอห์นสันทำให้ตอบได้แล้วล่ะครับว่านาฬิกาชีวิต นี่เองที่ทำให้อินสุลินทำงานกลับด้านจาก ที่มันควรจะเป็น เวลาที่ไม่ควรจะกินอาหารหากสร้างพฤติกรรมให้ชินกับการกินอาหารในเวลาก่อนนอน อินสุลินจะยังทำงานเหมือนที่มันต้องทำนั่นคือ ผลักให้พลังงานส่วนใหญ่ไปเก็บสะสมไว้ ปัญหาลักษณะนี้หากเกิดขึ้นบ่อยจะก่อให้เกิดภาวะดื้อต่อ อินสุลินกระทั่งเกิดโรคอ้วนและเบาหวานตามมาได้
          เมื่อก่อนไม่แนะนำให้กินอาหารก่อนนอนเพื่อป้องกันโรคอ้วน ถึงวันนี้ต้องแนะนำต่อไปด้วยว่าหากไม่อยากเป็น เบาหวานก็อย่ากินอาหารก่อนนอนให้มันบ่อยนัก


pageview  1205185    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved