HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ฐานเศรษฐกิจ [ วันที่ 05/08/2564 ]
ชำแหละ สาธารณสุข จี้เร่งปลดล็อกกฎระเบียบ รักษาชีวิตคนจากโควิด

สืบเนื่องจากสำนักวิจัย"ซูเปอร์โพล" เผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับบทบาทของ "ระบบราชการ" ท่ามกลางภาวะวิกฤติโรคระบาด" โดยสำรวจระหว่างวันที่ 24-31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น มีหลายคำถามที่อยู่ในความสนใจของสังคม อาทิความเห็นของประชาชนกลุ่มสำรวจที่สะท้อนศักยภาพของ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานรัฐ และกระทรวงต่างๆ ต้องเร่งปรับปรุงตัวเองอย่างเร่งด่วน โดย กระทรวงสาธารณสุข ที่ นายอนุทินชาญวีรกูล เป็นเจ้ากระทรวง ติดอันดับ 1 ตามมาด้วยกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ
          การเมือง-ขรก.ไม่ยึดโยงกัน
          จากผลสำรวจดังกล่าว นาย นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ให้แง่มุมที่ น่าสนใจเกี่ยวกับการกู้วิกฤติโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ยังไม่โดนใจประชาชน ว่า การแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ เกี่ยวข้องกับเสาหลักของชาติทั้งหมด 5 เสา แต่มีอยู่ 4 เสาที่สำคัญได้แก่ ฝ่ายการเมือง ระบบราชการ ภาคประชาชน และนายทุน
          เมื่อแยกออกให้เห็น 4 เสาหลักเช่นนี้ จะพบเหตุปัจจัยสำคัญอยู่ที่ "ฝ่ายการเมืองและระบบราชการ" ไม่ยึดโยงกับภาคประชาชน และไม่ประสานผลประโยชน์กับนายทุนที่เกี่ยวข้องให้ครบกระบวนการของการแก้ปัญหา ก่อให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหามากมาย เพราะ
          1. กระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการภายในกระทรวงมีกำแพงระเบียบกฎเกณฑ์ขวางกั้น ทำให้ไม่สามารถเชื่อมประสานกันภายในและส่วนราชการอื่นภายนอกกระทรวง ผลตามมาคือ ความล่าช้าไม่ทันต่อวิกฤติโควิด ความล่าช้าที่เกิดจากกฎหมาย ระเบียบราชการต่างๆ
          2. ฝ่ายการเมืองกับระบบราชการของกระทรวงสาธารณสุข ทำงานไม่สอดรับสอดคล้องกัน เช่น ครม.สนับสนุนให้ใช้ "สมุนไพรไทย" ขึ้นบัญชียาหลักได้ แต่ไปติดระเบียบกฎเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำให้มติ ครม. ที่ออกมาติดขัดในภาคปฏิบัติ
          นอกจากนี้ มาตรการส่งผู้ติดเชื้อผู้ป่วย กลับภูมิลำเนา ที่ใช้แนวทางกักตัวในชุมชน (Community Isolation) และ กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ขาดการเตรียมความพร้อมไปสร้างปัญหา ทรัพยากร คนไม่พร้อม อุปกรณ์ไม่พร้อมงบประมาณไม่พร้อม และอื่นๆ ภาครัฐใช้รถทหารไปส่งชาวบ้านผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเสร็จแล้ว มีภารกิจแค่ไปส่งชาวบ้านกลับภูมิลำเนา แต่ไม่มีหน่วยงานรัฐอื่นๆ มาดูแลให้ครบกระบวนการ
          ปชช.ล้ำหน้า-รัฐล้าหลัง
          3. ปัญหาส่วนราชการ ไม่เชื่อมประสานกับ ส่วนราชการ โยนกันไปมา ผลกรรมที่เป็นทุกข์และความเดือดร้อน ตกอยู่กับประชาชน ซึ่งแย่มาก เช่น ชุดยา ชุดตรวจโควิด ราคาสูงเกินความสามารถของประชาชนในการจับจ่ายได้ ยกตัวอย่าง "ฟ้าทะลายโจร" ที่ช่วยบรรเทาอาการป่วยโควิดของผู้ป่วย แต่ขาดตลาดและราคาสูง มีการโยนเรื่องกันไปมาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กับ กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นข่าวหลุดออกมาให้ประชาชนรับรู้
          นอกจากนี้ ชุดตรวจโควิดที่ราคาสูงจากต้นทุนนำเข้าบางรายเพียง 50-60 บาท แต่ในท้องตลาดสูงถึง 300-400 บาท แม้แต่ราคากลางที่อาจจะสูงเพราะคุณภาพหรืออะไรก็แล้ว แต่ที่รัฐบาลจัดหาให้ประชาชนยังอยู่ที่สูงมาก มันสะท้อนให้เห็นอะไรในการทำงานของภาครัฐทั้ง 2 เสานี้คือ ทั้ง ฝ่ายการเมือง และ ระบบราชการ
          คำตอบคือ  การทำงานของภาครัฐโดยมุ่งใช้อำนาจรัฐ (State Power) มากกว่าอำนาจของภาคประชาชน(Non-State Power) และยิ่งใช้แนวทางการทำงานแบบ สั่งการออกมาตรการไปก่อน ค่อยไปแก้ไขกันข้างหน้า เป็นการทำงานของภาครัฐที่ล้าหลังไปสัก 40-50 ปีที่แล้วของประเทศที่พัฒนาแล้ว น่าจะกล่าวได้ว่า คุณภาพประชาชนกำลังล้ำหน้า แต่คุณภาพรัฐกำลังล้าหลัง เพราะระบบราชการ
          แนะ 3 ทางรอด
          นายนพดล ระบุว่า ข้อเสนอคือทางออก 3 ประการคือ
          ประการแรก คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานรัฐ ต้องทำงานให้เกิดผลตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงวิกฤตินี้ให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชน
          ประการที่สอง ก่อนออกมาตรการแม้จะเร่งรีบ ต้องเป็นการออกมาตรการที่ใช้ข้อมูลที่ดีรอบด้านและปฏิบัติได้จริงไม่ใช่สั่งแล้วกลับไปกลับมา สร้างความสับสนซ้ำเติมวิกฤติให้ประชาชน
          ประการที่สาม เอาเสาหลักของชาติอีก 2 เสาเป็นหัวใจคือ ภาคประชาชนและ ภาคธุรกิจ ให้เข้ามาช่วยนำในการแก้ปัญหา และให้ปรับกระบวนการทำงานโดยขอให้ยึดหลัก "กฎมีไว้เพื่อประชาชนไม่ใช่ประชาชนมีไว้เพื่อถูก กด" ความหมายคือ กฎเกณฑ์ต้องมีไว้เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน ฝ่ายการเมืองและส่วนราชการ จึงควรเร่งแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการช่วยชีวิตประชาชน
          "ดังนั้น ขอให้ออกระเบียบหรือคำสั่ง เพื่อปลดล็อคเงื่อนไขโดยมีเป้าหมายรักษาชีวิตและความอยู่รอดของประชาชนเป็นหลัก อย่างรวดเร็วทันใจเหมือนช่วงยึดอำนาจใหม่ๆ" ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวทิ้งท้าย


pageview  1205837    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved