HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ฐานเศรษฐกิจ [ วันที่ 06/05/2564 ]
น้อง MENU หุ่นยนต์เฉพาะกิจ ผู้ช่วยหมอสู้ โควิด

 ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ระลอกสาม ที่คนไทยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดย ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ยังหนักหน่วง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1,583 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 65,153 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตสูงอย่างต่อเนื่อง
          ปัจจุบันได้มีผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างหนาแน่น และต่อเนื่อง ทางจังหวัดต่างๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มจำนวนเตียงรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งผู้ที่มีอาการหนัก และผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง เพื่อขยายการรักษาให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน โดยหลายจังหวัดเริ่มตั้งโรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล (Hospitel) เพื่อรับการดูแลจากแพทย์โรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อให้การรักษาได้อย่างทั่วถึง
          ดังนั้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ในการช่วยส่งอาหาร และยาในระยะไกล พร้อมกับการพัฒนาระบบสื่อสารเพื่อใช้โต้ตอบระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจและโควิด-19 ทาง มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ดร.เศรษฐา ตั้งค้าวนิช รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนผู้ร่วมคิดค้นนวัตกรรม MENU Delivery Robot หรือ น้องเมนู ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล
          ดร.เศรษฐา  เล่าที่มาของแนวความคิดในการสร้างนวัตกรรมนี้ว่า มาจากโจทย์ของ รศ.ดร.สุชาติ แย้ม เม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกี่ยวกับโปรเจ็กต์หุ่นยนต์ จะมีวิธีการอย่างไรที่จะนำมาแก้ไขสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน จึงวิเคราะห์ว่าอยากจะทำเป็นหุ่นยนต์ในเชิงลักษณะเป็นคีออส ตั้งอยู่ที่หน้า ARI คลินิก ตอนนั้นเราพยายามจะลดในเรื่องของปัญหาคอขวดที่เข้ามากองอยู่ตรงหน้า ARI คลินิก แล้วก็พยายามจะดูแลป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งคุณหมอ เภสัช บุคลากร เจ้าหน้าที่ต่างๆ เพราะว่าต้องดูแลป้องกันทุกๆ ท่านไว้
          "ในช่วงนั้น เรากำลังพยายามหาเรื่องของ distancing ตามนโยบาย ก็เลยคิดว่าจะสร้างเป็นตัวคีออสก่อน คือเป็นหุ่นยนต์ที่อยู่กับที่ก็จะมีคอมพิวเตอร์ และมีการดีไซน์ในเรื่องของการใช้งานของเสียง เพราะว่าตอนนั้นทุกๆ ท่าน จะกลัวหมดในเรื่องการสัมผัส เราก็จะดูคีย์เวิร์ดสามารถแก้ไขตรงนี้ได้ ก็ไปนั่งดูว่ามีอะไรบ้างเรื่องของซาวด์เสียงพูด เพราะว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะต้องติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย หรือคนที่ต้องการมาคัดกรองโดยที่ไร้การสัมผัสมาคิดว่า ไหนๆ จะเป็นหุ่นยนต์แล้ว ต้องทำให้เคลื่อนที่ได้"
          สำหรับจุดเด่นของ MENU Delivery Robot  ได้แก่ 1.ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์แก่คนไข้ โดยการใช้รถเข็นควบคุมทางไกล ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ป่วยน้อยลง ลดจำนวนครั้งที่ต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ 2.ช่วยในการสื่อสารระยะไกลด้วยหน้าจอที่ติดอยู่ ณ รถเข็นควบคุมทางไกล จะทำให้แพทย์พยาบาลสามารถคอยดูแลคนได้ตลอด โดยที่ระบบนี้จะช่วยลดทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องทิ้งทุกครั้ง และระยะเวลาใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
          อย่างไรก็ดีทางผู้คิดค้น ได้ผนวกนวัตกรรม MENU Delivery Robot หรือ น้องเมนู หุ่นยนต์เพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล ซึ่งที่มาของชื่อ MENU ย่อมาจาก Medicine+ Engineer + Naresuan University ซึ่งเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติคอยติดตามอาการผู้ป่วย และเรื่องการให้บริการดีขึ้นด้วย ปัจจุบันได้มีการนำหุ่นยนต์นี้ได้ไปทดลองในภาคสนามซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้ป่วยที่มีความพึงพอใจจากได้มีโอกาสพูดคุยกับคนอื่นได้บ้าง


pageview  1204848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved