HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 19/02/2555 ]
ฝากท้องกับอาหารถุง เสี่ยงไปไหม?

         เรื่อง: นิรามัย

          อาหารถุงอีกแล้ว...วันนั้นเปิดออกมาเห็นเส้นผมย้าวยาว...รับประทานไม่ลง วันก่อนรับประทานแล้วต้องไปหาหมอวันนี้ก็อาหารถุงอีก บรือๆๆ ...ใครเคยเป็นเช่นนี้บ้าง ที่มื้อไหนก็อาหารถุงซะส่วนใหญ่
          อาหารถุงไม่ใช่ว่ารับประทานไม่ได้ครับ ถ้าสะอาด ถูกสุขอนามัย ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ก็เป็นอาหารที่รับประทานง่าย ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้อาหารถุงที่วางขายตามร้านขายอาหารตามตลาด หรือร้านค้าริมทางก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอ
          ไป หลายรายที่รับประทานเข้าไปก็มีอันต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอาหารถุงเป็นเหตุ
          เพราะกว่าจะมาเป็นอาหารถุงที่วางขายตามร้านค้าริมทางอาหารเหล่านี้ กระบวนการตั้งแต่การปรุง ภาชนะที่ใส่อาหาร ความสะอาดของ
          คนทำอาหารไปจนถึงคนตักอาหารขาย ต้องสะอาดและถูกสุขอนามัยทุกขั้นตอน มีโอกาสที่จะปนเปื้อนโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์มตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการอาเจียน เป็นไข้ ปวดศีรษะ โรคท้องร่วง และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
          เกี่ยวกับเรื่องนี้"ต้นคิด เพื่อนคู่คิดมิตรสร้างสุข"ได้เก็บสารพัดปัญหาการปนเปื้อนในอาหารถุงเพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาระวังภัยก่อนซื้ออาหารถุงมารับประทานขอนำมาฝาก
          เขาบอกว่า จากการสำรวจวิถีการกินอยู่ของคนเมืองกรุงปี 2552 โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ชี้ว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคประสบปัญหามากที่สุดเมื่อต้องซื้ออาหารตามร้านค้าริมทาง คือความไม่สะอาด สิ่งสกปรก สิ่งแปลกปลอม บางครั้งคนปรุงอาหารไม่ล้างมือ และแต่งกายไม่สะอาด สูงถึง67.3% รองลงมา คือ อาหารไม่สดและอาหารค้างคืน 8.4% และรสชาติไม่อร่อย 4.9%
          นอกจากนี้ สิ่งแปลกปลอมที่ผู้บริโภคเคยพบมาในอาหารมากที่สุด คือ เส้นผม หรือขน 73.6%รองลงมา คือ ฝุ่นหรือก้อนหิน 36.5% หนังยาง36.6% แมลง 32% และยังพบเศษอุปกรณ์ทำความสะอาดอีก 21.9%
          อาหารถุงเกินครึ่ง...มีเชื้อปนเปื้อน
          โดยต้นคิดฯ ยังได้รวบรวมโดยอ้างวารสารสุขาภิบาลอาหาร (ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 ก.พ.-พ.ค.2551) ว่า อาหารที่วางขายตามร้านค้า หรือตลาดเกือบทุกภูมิภาคมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์มเกินครึ่ง โดยมีพื้นที่ที่พบมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 68.1% รองลงมา คือภาคเหนือ 59.2% ภาคใต้ 51.5% และภาคกลาง49.2%
          สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคชนิดนี้ที่สำคัญ คือ สถานที่จำหน่ายอยู่ในบริเวณที่ไม่ถูกสุขอนามัยไม่ใกล้แหล่งอาหารดิบ และไม่มีการไล่แมลง โดยจากการสำรวจพบว่ามีร้านค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกือบทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วน 94.54%
          อาหารกะทิ...พบปนเปื้อนมากที่สุด
          ทั้งนี้ จะเห็นว่าอาหารไทยส่วนใหญ่มีกะทิเป็นเมนูที่เป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นแกงเขียวหวาน น้ำยากะทิ แกงเผ็ด แกงพะแนง รวมไปถึงขนมหวานต่างๆ การซื้ออาหารถุงประเภทกะทิต้องระวังเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน เพราะผลจากการสำรวจอาหารถุงทั่วประเทศ พบว่าอาหารที่เป็นประเภทกะทิ มีการปนเปื้อนมากที่สุด17.65% รองลงมา คือ อาหารประเภทผัดไม่ใส่กะทิ 14.8% ผักลวกไม่ใส่กะทิ 12.18%
          ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยก่อนรับประทานควรอุ่นอาหารให้ร้อนก่อน โดยเฉพาะอาหารประเภทแกงกะทิและผัด เพราะความร้อนจะสามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
          นอกจากนี้ พ่อค้าแม่ค้าที่ตักอาหารขายเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์มในอาหาร ซึ่งจากการที่กรมอนามัยสำรวจสุขอนามัยของผู้ตักอาหารขายทั่วประเทศพบว่าคนขายอาหารกว่า 93.7% ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากแต่งกายไม่สะอาดไม่มีหมวกคลุมผม หรือผ้ากันเปื้อน มือ เล็บไม่สะอาดบางคนสูบบุหรี่ในขณะตักอาหาร จึงเป็นเรื่องที่คนซื้อจะต้องคิดให้ดีก่อนเอ่ยปากซื้อ
          อย่างไรก็ตาม ในการเลือกซื้ออาหารถุงสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาก็คือลักษณะการจำหน่ายอาหารที่ถูกสุขอนามัย อาทิ มีการอุ่นอาหารให้ร้อน มีภาชนะคลุมอาหารป้องกันแมลงวันและฝุ่น และใช้อุปกรณ์ตักอาหารที่สะอาด
          แต่ก็น่าเสียดายที่พฤติกรรมดีๆ เหล่านี้ผู้ขายส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะจากการเปิดเผยของกรมอนามัย ชี้ว่าผู้ขายกว่า90.97% ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
          ถ้าอย่างนี้ก็ต้องคิดหนักล่ะว่า ชีวิตนี้ควรที่จะฝากไว้กับอาหารถุงอยู่อีกต่อไปหรือไม่ หากตราบใดที่ผู้ขายยังไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้ซื้อเป็นสำคัญ

pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved