HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 16/01/2556 ]
ความเหงามีจริง

 ความเหงา
          เป็นเรื่องที่เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่เราจะได้ยินบ่อยที่สุดในช่วงเวลาของวัยรุ่นวัยทำงานตอนต้น เพราะเวลาเหงาพวกเขาจะกระหน่ำบ่นอย่างเห็นได้เป็นรูปธรรมผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ
          บางคนถึงกับตั้งสเตตัสตัวเองเป็นเรื่องความเหงาให้คนที่เข้ามารู้กันไป
          จะจะเลยว่า "ฉันเหงานะ" ความเหงาของวัยรุ่น วันออนไลน์ จึงดูกระโตกกระตากและเห็นได้ชัดกว่าวัยอื่นๆเยอะ
          ล่าสุด หลังจากหนูดีได้พาตัวเองเข้าสู่โลกของ Instagram และลองเสิร์ชข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจต่างไปจากการดูในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ในที่สุดเห็น Hashtag ของคนที่เราตามคนหนึ่งเขียนว่า #foreveralone ซึ่งเป็นคำที่ดูเหงาและเศร้าจนน่าสงสาร
          เลยทีเดียว พอมองก็นึกอยากรู้ขึ้นมาว่า ในโลก Instagram นี้ มีใครที่
          Forever Alone กันสักกี่คนแน่ ในที่สุดหนูดีลองกดเข้าไปดู เชื่อไหมคะว่า
          ในโลกเล็กๆ ของ Instagram นั้น มีคนใช้ Hashtag นี้ถึง 1,317,473 Tags เลยทีเดียว
          หลังจากนั้นพอมองลงไป Tags ล่างๆ หนูดีก็พบอะไรที่น่ารัก คือ#foreveralonetogether และ#foreveraloneclub เรียกได้ว่า คนไฮเทครุ่นนี้รู้จักการใช้เทคโนโลยีมาพาคนเหงาเข้าหากันจริงๆ แต่ทั้งสองTags ก็มีสมาชิกที่ส่งภาพเข้าร่วมเพียงหลักพันเท่านั้น นับว่าจากคนเป็นล้านมีการพยายามรวมกลุ่มกันแค่หลักพัน นี่เพียงในโลกออนไลน์แห่งเดียว แต่หากนับรวมในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เราคงมีคนเหงาที่ออกมาป่าวประกาศแบบนี้อีกจำนวนนับไม่ถ้วน น่าสนใจว่า หากเขารวมตัวกันเป็นคลับคนเหงาๆ ได้ แล้วจะมีคนหายเหงาได้สักกี่คน อาจจะมีการจับคู่กันในนั้น จนหายเหงาถาวรตลอดไปได้บ้างไหม
          ความเหงา เป็นได้ทั้งความเสี่ยงและเป็นได้ทั้งแหล่งสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล ที่หากเจ้าของรู้จักใช้จะสามารถเปลี่ยนแปรความเหงาให้เป็นสิ่งที่มีค่าได้มากทีเดียว
          ในความเหงานั้นเราสามารถนำเวลามาใช้ทำอะไรได้มากมาย ถ้าเราปรับใจตัวเราให้สู้เสียอย่าง อย่าเหงาแล้วปล่อยให้ตัวเองหงอยไปเลย แล้วนั่งเศร้าๆ อยู่หน้าโทรทัศน์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้ตัดใจซะ แล้วลุกไปหาสิ่งเหล่านี้ เช่น พาตัวเองไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อาจจะแค่เพื่อความสนุกหรือเพื่อเพื่อนใหม่หรือเพื่อมีความสามารถหารายได้พิเศษ
          ลุกขึ้นไปออกกำลังซะ ไหนๆ จะเหงาอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไม่อ้วน เลือกไปเหงาที่ห้องยิมแล้วกัน เหงาไปปั่นจักรยานในคลาสไป หรือเหงาไปโยคะไปก็ยังดูเศร้าน้อยกว่าเหงาอยู่คนเดียวในห้องคอนโดหรือหอพัก
          นำเวลาไปเรียนการลงทุน เอาเวลาที่เหงามามุ่งมั่นสร้างฐานะกันดีกว่า กว่าจะรู้ตัวอีกที หายเหงาแถมรวยขึ้นอีกเยอะ (ใครสนใจข้อนี้ เข้าไปดูเลยค่ะ เว็บตลาดหลักทรัพย์ ห้องเรียนการเงินดีๆ ฟรีๆ เพียบ ที่ www.set.or.th และเลือกที่แถบเมนู"TSI ความรู้สู่ความมั่งคั่ง" หนูดีเองเข้าไปนั่งฟังหลายครั้ง ได้ความรู้ดีๆมาดูแลการเงินตัวเองมากมาย)
          เอาเวลาที่เหงาไปทำบุญ ปฏิบัติธรรม ภาวนา เผื่อได้เพื่อนใหม่อีกด้วย
          ข้อสุดท้ายนี้ ทำเป็นเล่นไปอาจดูเหมือนเชย หรือเป็นการแนะนำตามระเบียบแบบแผน ฟังดูมีคุณธรรม แต่ครั้งหนึ่งหนูดีกับดีเจปูเป้ได้จัดรายการวิทยุในคลื่นMET107 เช้าวันหนึ่งในประเด็น Forever Alone นี้ละค่ะ และพอถึงช่วงที่ให้แฟนรายการโทรเข้ามาแลกเปลี่ยน ก็มีคุณผู้หญิงท่านหนึ่งโทรเข้ามาแล้วแบ่งปันว่า เธอเองเหงามากตั้งแต่เลิกกับแฟนมารู้สึกโหวงอยู่นาน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอตัดสินใจว่า ไม่ไหวล่ะ ขอไปปฏิบัติธรรมดีกว่า (ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองว่าคนไปปฏิบัติธรรมเป็นคนอกหักและมีบางวัดที่ไม่รับคนอกหัก ซึ่งหนูดีมองว่า เขาอกหักมาแบบนี้ เขาคิดจะนำพระธรรมมาเยียวยาจิตใจน่าจะเป็นเรื่องดีไม่ควรกีดกัน และคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันไปภาวนาเพราะสนใจ อยากศึกษา ไม่ได้เจอพิษรักมาเสมอไป)
          ในที่สุด เธอติดใจมาก และไปร่วมกิจกรรมที่วัดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งไปภาวนาเรื่อยๆตอนนี้เธอบอกว่าสภาพจิตใจดีขึ้นมาก ความเหงาไม่รู้หายไปไหน แถมได้เพื่อนใหม่ที่เป็นคนใจดีๆ ทั้งนั้นเพราะเป็นคนมาทางธรรม เรียกได้ว่า เธอเยียวยาตัวเองได้ชะงัดจนหายขาดจากอาการเหงาและดูสดใสต่างไปจากตอนอกหักใหม่ๆอย่างเห็นได้ชัด แถมมีกิจกรรมให้ไปร่วมทุกๆ เดือน ทำให้หายเหงาไปมาก
          หนูดีสังเกตว่า คนเรามีที่มาของความเหงาได้หลายสาเหตุจริงๆและดีกรีความเหงาก็จะไม่เหมือนกัน เช่น...
          เหงาเพราะเป็นคนไม่มีงานอดิเรก
          กลุ่มนี้จะใช้เวลาหมดไปกับกิจกรรมเอนเตอร์เทนว่างเปล่า ที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยกับชีวิต เช่น เล่นเน็ต ดูละคร เล่นเกม ฯลฯ เป็นความเหงาแบบเซ็งๆ แต่ไม่ทรมานจิตใจนัก
          เหงาเพราะเลิกกับแฟน
          คนเหงากลุ่มนี้ เหงาทรมานค่ะเพราะจากเคยมีใคร มันกลายเป็นไม่มีจะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอๆ ว่าทำไมคนคนหนึ่ง วันหนึ่งรักกันแทบตาย อีกวันหายไปไหนไม่รู้ การใช้เวลาจะไม่ใช้แบบเหงาเรื่อยเปื่อยแต่จะใช้ในการร้องไห้ นั่งซึมเศร้า จับเจ่าประมาณนั้น เป็นความเหงาที่ทรมานกว่าแบบแรกมาก
          ความเหงาทั้งสองแบบนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ในแบบแรกอาจตกเป็นเหยื่อของคนนอกที่จะเข้ามาทำให้ชีวิตหายเหงา ซึ่งอาจเป็นคนไม่ดีจริง อาจเข้ามาเอาเปรียบ ทำร้าย ส่วนกลุ่มหลัง มักตกเป็นเหยื่อของตัวเองการทำร้ายตัวเองประเภทต่างๆ จนถึงขั้นรุนแรงสุดคือการฆ่าตัวตาย
          เหงาแบบไหน ก็ไม่ดีทั้งนั้น แต่ความเหงาก็เป็นเพียงอารมณ์ๆ หนึ่งที่ผันแปรไปเรื่อยๆเหมือนทุกอารมณ์หากเรามองมันเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดี เราจะพบว่า ถ้าเรามีเวลาพอจะเหงา เราเอาเวลานั้นมาทำอะไรพัฒนาชีวิตได้อีกมากมาย ทำไปเรื่อยๆนอกจากชีวิตจะดีขึ้นแล้ว เรายังอาจพบว่าความเหงาอันตรธานหายไปไหนไม่รู้...แบบไม่ทันรู้ตัวจริงๆ
          ติดตามหนูดีที่ www.facebook.com/mindbrain และ
          www.twitter.com/nudi_vanessa
          วิทยาศาสตร์ความสุข กับ หนูดี-วนิษา เรซผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ ปริญญาโทด้านสมองและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ ผู้ก่อตั้งบริษัท อัจฉริยะสร้างได้ เจ้าของและผู้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาอัจฉริยภาพโรงเรียนวนิษา www.mindbrainedu.com และ www.vanessa.ac.th


pageview  1205489    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved