HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 11/12/2555 ]
สร้างสมดุลกายและจิต ชีวิตปลอดโรค

 วรธาร ทัดแก้ว
          ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนเรามีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากการที่ร่างกายและจิตใจเสียสมดุล โดยมีปัจจัยมาจากสภาพแวดล้อมมลพิษ สารเคมี ฝุ่นละอองและเชื้อโรค รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีความเร่งรีบ แข่งขันทำให้เกิดผลต่อจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า แม้ว่าธรรมชาติร่างกายของเราจะมีกลไกในการปกป้องและรักษาตนเองจากการเจ็บป่วยได้ แต่การรักษาสมดุลของทั้งร่างกายและจิตใจน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วย ทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้เซลล์และอวัยวะภายในร่างกายมีความสมบูรณ์ แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
          นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากรจิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาเพิ่มเติมทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนและการฝังเข็มเพื่อการสร้างความสมดุลให้ร่างกายและจิตใจ กล่าวว่า ร่างกายและจิตใจจะต้องมีความสมดุลกัน จึงจะทำให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ ไม่เจ็บไม่ป่วยมีความสุข ทั้งการทำงาน และการดำเนินชีวิตแต่เมื่อใดกายและใจเกิดไม่สมดุลก็จะทำให้เกิดผลกระทบขึ้นได้ ทางการแพทย์ระบุว่าจิตใจมีส่วนที่ก่อให้เกิดโรคทางกายได้ เช่น เวลาเครียดมากๆ ก็จะมีฮอร์โมนความเครียดเกิดขึ้นและฮอร์โมนก็จะส่งผลต่ออวัยวะและความสมดุลระบบเซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานหนัก เซลล์แก่เร็วขึ้น ทำให้คนเราแก่เร็ว
          "เวลาเครียดมากๆ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอฮอร์โมนความเครียดก็จะสูงขึ้น การทำงานของระบบฮอร์โมนอื่นๆก็กระทบกระเทือนไปด้วย ส่งผลต่ออวัยวะ เช่น เวลาเครียดมากๆ ท้องจะผูกระบบการขับถ่ายผิดปกติ อวัยวะระบบต่างๆ ในร่างกายก็ทำงานปั่นป่วน ไม่เป็นปกติ เกิดความอ่อนแอขึ้น อาการเจ็บป่วยต่างๆ จะมีมากขึ้นเวลาอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ เป็นต้น"
          นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อธิบายการเจ็บป่วยตามแนวแพทย์แผนจีนว่า เมื่อใดก็ตามที่จิตใจมีภาวะไม่ปกติ เสียสมดุล ก็จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการดูแลรักษาด้วยตัวเอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น เป็นแผลร้อนในบ่อยๆ เนื่องจากเกิดความร้อนขึ้นที่ตับและหัวใจ จึงแสดงออกที่อวัยวะภายนอก มีแผลร้อนในที่ปาก ปากแดง ลิ้นแดง ตาแดง เพราะตาถือเป็นอวัยวะทวารเปิดของตับ
          "หากมีความร้อนที่ปอดก็จะออกมาทางจมูกและผิวหนัง มีผื่นภูมิแพ้ที่ผิวหนังเป็นสิวเรื้อรังรวมถึงโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง กรดไหลย้อนท้องอืดอาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย นอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่นอารมณ์ปรวนแปร อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจเกิดอาการซึมเศร้า มีความคิดทำร้ายร่างกายตนเองและคิดฆ่าตัวตายได้ หลายคนเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ก็จะรักษาไปตามอาการ โดยการรับประทานยา เมื่อหายแล้วสักพักก็จะเกิดอาการขึ้นซ้ำอีก เพราะเมื่อหากร่างกายหายเป็นปกติสมบูรณ์แล้วแต่จิตใจยังมีปัญหาอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไขเรื่องความไม่สมดุล ก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นอีก"
          นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อร่างกายและจิตใจมีความสมดุล ระบบต่างๆ ของร่างกายก็จะกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ อาการผิดปกติจะดีขึ้นและสามารถป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจิตแพทย์ได้แนะวิธีการสร้างสมดุลด้านจิตใจและร่างกาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมี 5 ข้อหลักๆ ดังนี้
          1.หมั่นออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ มีระบบภูมิต้านทานที่ดี อวัยวะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยทำให้หัวใจและปอดแข็งแรง เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ช่วยลดคอเลสเตอรอล ทำให้โอกาสเส้นเลือดอุดตันลดลง ส่งผลดีต่อระบบการย่อยและการขับถ่าย ทั้งยังช่วยทำให้นอนหลับสนิทหลับได้นานอีกด้วย
          2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอไม่ควรกินอาหารที่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป แต่ถ้าเมื่อไรที่ร่างกายและอวัยวะภายในมีความร้อนอาหารที่มีฤทธิ์เย็นที่ช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้เป็นปกติได้ คือ ผักบุ้ง ตำลึง ผักหวาน แตงกวา ฟัก และหัวปลี ส่วนผลไม้ควรเป็นประเภท มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูปส้มโอ กล้วยน้ำว้า แก้วมังกร กระท้อน แอปเปิลน้ำมะพร้าว และลูกพรุน เป็นต้น
          3.พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการอดนอนทำให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายไม่ดี ฮอร์โมนทำงานไม่ปกติ เกิดการติดขัดของเมตาโบลิซึมและส่งผลต่อด้านอารมณ์และจิตใจได้
          4.เสริมสร้างจิตใจให้แข็งแรงโดยการฝึกทักษะการดูแลจิตใจเพื่อรับมือกับความเครียดโดยการฝึกผ่อนคลายจิตใจอย่างสม่ำเสมอ หยุดพักหยุดคิดเรื่องเครียดต่างๆเพราะในแต่ละวันจะมีเรื่องเข้ามากระทบจิตใจมากมายทำให้อารมณ์ขุ่นมัว เศร้าหมอง เครียด ไม่แจ่มใส หากอารมณ์เหล่านี้ไม่มีการระบายออกก็จะเกิดความเครียดสะสมได้ ควรหากิจกรรมสร้างสรรค์ทำเช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นกีฬา ท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติ เที่ยวต่างจังหวัด หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
          5.คอยสังเกตดูแลเอาใจใส่ตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจว่าอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่ ทำอะไรเกินไปหรือขาดไปบ้าง ให้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจ เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรจะปรับตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาวะสมดุลอย่างไร
          นอกจากวิธีการที่กล่าวมาแล้วนพ.ลัญฉน์ศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การฝังเข็มถือเป็นเทคนิคใหม่ที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับงานด้านจิตเวช เพื่อช่วยเสริมสร้างและปรับความสมดุลร่างกายและจิตใจ โดยเน้นหลักของหยินและหยาง และความสมดุลธาตุต่อสภาวะจิตใจและกายn

 


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved