HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 17/09/2555 ]
เก็บเห็ดพิษกินเองยอดป่วยพุ่งสูง400ราย

โพสต์ทูเดย์ -สธ.เผยยอดเปิบเห็ดป่าพิษพุ่ง 400 ราย ตาย 12 ราย พบที่เหนือและอีสานมากสุด
          นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนประชาชนพื้นที่ป่าธรรมชาติมักเก็บเห็ดป่านำมารับประทานในบ้าน ซึ่ง สธ.พบว่า
          สถานการณ์ในปีนี้ ผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดป่าพิษมีแนวโน้มสูงกว่าปี2550-2554 มาก โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.พ.ค. 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานว่าพบผู้ป่วยกว่า 400 ราย มากที่สุดที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสียชีวิต 12 ราย คิดเป็นอัตรา 3%
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดพบว่าเป็นทารกอายุเพียง 1 เดือน ที่ จ.เพชรบูรณ์ซึ่งได้รับพิษจากการกินนมของแม่ที่รับประทานแกงเห็ดป่าพิษเข้าไป แสดงว่าพิษของเห็ดสามารถผ่านทางน้ำนมได้ด้วยแต่รายนี้แพทย์ช่วยชีวิตได้ทัน อย่างไรก็ตามผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยเกิดมาจากการรับประทานเห็ดป่าพิษตระกูลอะมานิตา ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง โดยจะมีสารอะมาท็อกซิน (Amatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษร้ายแรง อาจทำให้ตับและไตวายได้
          "สาเหตุที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อที่ผิดได้แก่ 1.คิดว่าเห็ดที่เก็บมาจากที่ที่เคยเก็บมาก่อนจะไม่มีพิษ 2.เห็ดที่เก็บมามีรอยแมลงหรือรอยสัตว์กัดอยู่แล้วแสดงว่ากินได้ 3.ใช้วิธีการทดสอบตามความเชื่อดั้งเดิมเช่น หุงพร้อมกันกับข้าว ต้มกับช้อนเงินหรือแช่ในน้ำข้าว หากเห็ดไม่เป็นสีดำ ถือว่ากินได้ และ 4.เชื่อว่าการนำมาปรุงด้วยความร้อนสูง เช่น ต้ม แกง จะสามารถทำลายพิษได้" รมช.สาธารณสุข กล่าว
          นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้สถานบริการในสังกัดทุกแห่งที่พบผู้ป่วยจากเห็ดพิษ รับผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดเพื่อติดตามอาการจนกว่าจะหาย เนื่องจากเห็ดพิษร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ภายใน24 ชั่วโมงแรก แต่หลังจากผ่าน 24 ชั่วโมงไปแล้วจะทำให้ตับและไตล้มเหลวจนเสียชีวิตโดย สธ.จะกำชับให้สถานบริการสุ่มตัวอย่างมาคัดแยก และหาสารพิษเป็นระยะในช่วงฤดูกาลที่มีเห็ด


pageview  1206114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved