HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 28/06/2555 ]
ฝึกควบคุมกระเพาะอาหารทางเลือกใหม่ลดอ้วน

 ทั้งๆที่รู้ว่าการอิ่มเกินพอดีอยู่เรื่อยๆ จะนำไปสู่ภาวะโรคอ้วน จะมีผลต่อสุขภาพการระบบอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สิ่งเหล่านี้นี่เองที่จะก่อให้เกิดโรคหลอดเลือสมอง เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้นโรคอ้วนยังส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งทางเดินอาหาร ระบบกล้ามเนื้อ และข้อต่อของร่างกาย เช่น ข้อกระดูกสันหลัง และข้อเข่าเสื่อม อีกด้วย
          คงเพราะความอ้วนสร้างปัญหาให้กับบุคลิก และสุขภาพมากมาย ทำให้หลายคนเสาะแสวงหาสารพันวิธีมากำจัดเจ้าน้ำหนักส่วนเกินนี้ออกไปจากชีวิต วันนี้ไกด์ทูเดย์ มีเส้นทางสายใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจาก ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มาแนะนำ
          นายแพทย์สุรชัย รุ่งธนาภิรมย์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าโรคอ้วนเกิดจากการผสมผสาน ของกรรมพันธุ์สภาพแวดล้อม และพฤติกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ทำให้คนเราใช้พลังงานน้อยลง และเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่รับประทานไปใช่ไม่หมด เกิดเหลือสะสมเพิ่มน้ำหนักตัว
          โดยหลักทั่วไป ถ้ารับประทานอาหาร มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ก็จะมีส่วนเกินสะสมทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้น้ำหนักไม่เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องออกกำลังกายเพื่อใช้พลังงานให้มากขึ้น และต้องควบคุมปริมาณแคลอรี่ในอาหาร โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่น้อยลง เช่น พืช ผัก รวมถึงหลีกเลี่ยง อาหารที่ผ่านการทอด
          ที่ผ่านมาการควบคุมน้ำหนักอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน ก็คือการฝึกควบคุมปริมาตรของกระเพาะอาหาร จากผลการศึกษาพบว่า กระเพาะอาหารของคนอ้วนมีความจุมากกว่าคนที่ไม่อ้วน และเมื่อพยายามควบคุมอาหาร เพื่อลดน้ำหนักตัวได้ระยะหนึ่ง ความจุของกระเพาะอาหารมักจะลดลงตามไปด้วย
          ทั้งนี้มีผู้พยายามศึกษา ความจุกระเพาะอาหารของมนุษย์ โดยใช้วิธีต่างๆ มากมายตั้งแต่วิธีการสมัยก่อนที่วัดปริมาณอาหารเหลว ที่ให้กลืนจนอิ่มท้อง จนถึงวิธีทันสมัย โดยใช้การตรวจคล้ายเอกซเรย์ ทำให้สามารถคำนวณปริมาตรของกระเพาะอาหารได้ จากการศึกษาต่างๆเหล่านี้พบว่า ความจุของกระเพาะอาหารของมนุษย์มีค่าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 800 ซีซี ไปจนถึงประมาณ 4,000 ซีซี หรือตั้งแต่ประมาณ 1 ลิตรถึง 4 ลิตร
          เราสามารถประมาณปริมาตรอาหารที่เรารับประทานต่อครั้งได้ง่ายๆ เช่น น้ำดื่ม 1 แก้วปกติ จะมีความจุประมาณ 250 ซีซี นมยูเอชที 1 กล่องสำหรับผู้ใหญ่จะมีความจุประมาณ 240 ซีซี น้ำดื่มขวดเล็กมีปริมาตรประมาณ 500 - 600 ซีซี เป็นต้น ผู้ใหญ่หนึ่งคนต้องการพลังงานจากอาหารประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และถ้ามีส่วนเกินสะสมถึง 7,000 กิโลแคลอรี่ก็จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม
          ถ้ารับประทานอาหารจนอิ่มตื้อเต็มกระเพาะโดยดูจากปริมาตรของกระเพาะอาหารข้างต้นก็จะมีโอกาสที่ จะมีพลังงานเกินความตองการสะสมไปเรื่อยๆ จนน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากลองนึกภาพจาก อาหารทางการแพทย์ที่มีลักษณะคล้ายนม ถ้าผสมแบบปกติจะให้พลังงาน 1 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 ซีซี ถ้าได้มื้อละประมาณ 2 แก้ว หรือประมาณ 500 ซีซี วันละ 4 มื้อ ก็จะได้พลังงานถึง 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน แต่ในชีวิตจริงอาหารหลายอย่างให้ค่าพลังงานมากกว่าอาหารที่เป็นขอเหลวดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารที่ผ่านการทอด
          ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารที่ไม่ใช่ของเหลวในปริมาณที่น้อยลง นอกจากนี้ในบางคนกินอาหารซึ่งแม้จะเป็นพืชผักที่มีพลังงานน้อยหรือน้ำเปล่าหลายๆแก้ว ซึ่งไม่มีพลังงานเลยก็ตาม จนอิ่มแน่นกระเพาะ กลับทำให้กระเพาะอาหารปรับตัว สร้างน้ำย่อยตามออกมามากขึ้น ทำให้หิวโหยง่ายขึ้น ในตอนค่ำหรือวันต่อมา ดังนั้นจึงไม่ควรกินอาหารอิ่มแน่นกระเพาะอาหารขยายมากเกินไป
          เมื่อเริ่มรับประทานอาหารจะทำให้เกิดความอิ่มใน "ช่วงต้น" ซึ่งความอิ่มช่วงนี้เป็นผลมาจากการรับรู้ของบริเวณทางเดินอาหารเมื่อมีอาหารเข้ามาอยู่ภายใน รวมถึงความ "ตึง" ของกระเพาะอาหาร สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นฮอร์โมนส่งสัญญาณไปยังศูนย์หิว-อิ่มที่อยู่ภายในสมอง
          ส่วนความอิ่ม "ช่วงหลัง" เกิดขึ้นหลังจากที่สมองได้รับสัญญาณจากทางเดินอาหารและจากสิ่งกระตุ้นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มองเห็น กลิ่นที่ได้รับและบรรยากาศรอบตัว ทำให้เกิดความอยาก หรือไม่อยากอาหารในมื้อนั้นอีกต่อไป 7 สัญญาณความอิ่มที่ระดับทางเดินอาหารก็ดี หรือที่ระดับสมองก็ดีต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง กว่าจะส่งสัญญาณเชื่อมถึงกัน
          ด้วยกลไกตามธรรมชาติของร่างกายข้างต้น จึงเป็นที่มาของการฝึกควบคุมปริมาตรกระเพาะอาหาร เพื่อให้เรากินได้น้อยลงแต่รู้สึกอิ่ม ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นกับเราๆท่านๆ แล้วโดยไม่รู้ตัว เช่น ขณะเริ่มรับประทานอาหารแล้วเผอิญมีโทรศัพท์ดังขึ้น หรือมีแขกมาหาคุยธุระอยู่นานหลายสิบนาที พอพูดคุยเสร็จธุระ เราก็อาจไม่รู้สึกหิวหรืออาจไม่รู้สึกว่าต้องกินอาหารต่อก็เป็นได้
          เนื่องจาก ในระหว่างที่เราพูดคุยธุระอยู่นั้น สัญญาณจากทางเดินอาหารได้เชื่อมโยงกับศูนย์หิว-อิ่มในสมองเรียบร้อยแล้ว ทำให้เรารู้สึกอิ่มโดยกินอาหารเข้าไปเพียงนิดเดียวหรือตัวอย่างในเด็กน้อยบางคน กินขนมเพียงซองเล็กๆ ซึ่งไม่น่าจะอิ่มท้องเลย แต่พอถึงมื้ออาหารจริงอาจจะโยเยไม่หิว ไม่อยากกินอาหารมื้อหลัง จนพ่อแม่มักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่า พยายามอย่าให้เด็กกินขนมก่อนใกล้เวลามื้ออาหาร อย่างน้อยครึ่ง หรือหนึ่งชั่วโมง เป็นต้น
          นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียด นอกจากจะช่วยทำให้กระเพาะอาหารทำงานน้อยลงและทางเดินอาหารมีเวลาที่จะส่งสัญญาณไปที่สมอง ทำให้รู้สึกอิ่มและไม่รู้สึกว่าต้องกินอาหารต่อได้เช่นกัน ผู้ป่วยหลายรายที่ฝึกรับประทานอาหารโดยใช้เวลาเคี้ยวอาหารให้นานขึ้น ร่วมกันการลดปริมาณอาหารต่อมื้อ เพื่อฝึกกระเพาะอาหารให้มีปริมาตรลดลงและช่วยลดการสร้าง น้ำย่อยซึ่งกระตุ้นให้อยากอาหารน้อยลง
          ผู้ป่วยเหล่านี้มักเล่าให้แพทย์ฟังว่า หลังจากการฝึกเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ประมาณ 2 สัปดาห์ จะรู้สึกชินกับการรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ ไม่รับประทานดุเดือดเท่าแต่ก่อนและทำให้น้ำหนักลดลงได้ถึง 3 กิโลกรัมต่อเดือน แถมยังมีความสุขที่ยังคงรับประทานอาหารหลายอย่างที่ชอบได้ (แต่จะไม่กินจนอิ่ม เพราะต้องการควบคุมปริมาตรของกระเพาะอาหารไว้ไม่ให้ขยายมากเกินไป) นอกจากน้ำหนักตัวจะลดลงแล้ว ยังมีความสุขที่สามารถลดยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เกิดจากความอ้วนได้อีกด้วย ผลตรวจเลือดต่างๆ ก็ดีขึ้นตามน้ำหนักตัวที่หายไป
          สรุปหลักการฝึกควบคุมปริมาตรกระเพาะอาหารให้เล็กลง ประกอบด้วย
          1.ลดปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อให้น้อยลง
          2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่สูง โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านการทอด
          3. เคี้ยวอาหารแต่ละคำให้ช้าๆ และเคี้ยวนาน ให้ละเอียด
          แม้ว่าการฝึกควบคุมปริมาตรของกระเพาะอาหารอาจไม่ได้ผลดีเท่ากับการผ่าตัดเพื่อลดขนาด กระเพาะอาหาร (gastric banding, bariatric surgery, gastric bypass) หรือการผ่าตัดใส่บอลลูนเข้าไป ภายในกระเพาะเพื่อขัดขวางพื้นที่ของกระเพาะไม่ให้บรรจุอาหารได้มากดังเดิม แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องพึ่งมีดหมอในการทำผ่าตัดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ เราสามารถเลือกลงมือปฏิบัติด้วยตนเองด้วยความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเราเอง


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved