HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 05/06/2555 ]
โรคพาร์กินสันภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

ในปัจจุบันนี้มีความตื่นตัวในโรคพาร์กินสันเป็นอย่างมาก เนื่องจากการมีผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ ดาราภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูด ซึ่งได้แก่ ไมเคิร์ล เจ ฟ็อกซ์ นักมวยชื่อก้องโลกอย่างโมฮัมเหม็ดอาลี หรือแม้กระทั่งสันตะปาปา โป๊ป จอห์น พอลที่ 2 ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่างก็ออกมาเปิดเผยว่า ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันและได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรคพาร์กินสันและการรักษาขึ้นมาด้วย
          ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงอยากนำเสนอบทความที่ให้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการรักษาทั้งจากทางการใช้ยาใหม่ๆ และการผ่าตัดสมอง หรือการผ่าตัดสอดสายเข้าลำไส้เล็กเพื่อปลดปล่อยยาอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เครื่องปั๊มยาช่วย มีการคาดการณ์ว่าโดยทางสถิติน่าจะมีผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคนี้ในประเทศไทยประมาณ 4-5 หมื่นคนโดยบางส่วนอาจยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ตลอดจนยังไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี
          อาการของโรคพาร์กินสัน
          อาการหลักของโรคพาร์กินสัน ประกอบด้วย 4 อาการหลัก ได้แก่
          1.อาการสั่น (Rest Tremor)2.อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle Rigidity)
          3.อาการเคลื่อนไหวช้า(Bradykinesia)4.อาการสูญเสียการทรงตัว (Postural Instability)
          โดยอาการที่อาจพบร่วมด้วยได้แก่ อาการน้ำลายไหล เขียนตัวหนังสือเล็ก เดินไม่แกว่งแขน เดินซอยเท้า เท้าติด ยกเท้าลำบาก หกล้มบ่อย พูดเสียงเบาๆ อยู่ในลำคอ นอนไม่หลับ เป็นต้น อาการจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งและลามไปอีกข้างหนึ่ง โดยที่อาการสองข้างจะไม่เท่ากัน ข้างที่เริ่มเป็นก่อนจะเป็นมากกว่าข้างที่เป็นทีหลัง ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการสั่นเคลื่อนไหวลำบากปวดกล้ามเนื้อ ไหล่ติด ในรายที่สูงอายุอาจมาด้วยอาการหกล้ม ซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกหักได้
          ขั้นตอนการวินิจฉัย
          เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค อาจต้องตรวจเลือดเพื่อทำการสแกนสมองโดย CT หรือ MRI เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยแยกโรค และเริ่มจากรักษาด้วยยาทดแทนโดปามีนที่ขาดหายไปจากเซลล์สมองเสื่อมมีการตรวจด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น การทำ F-Dopa PET Scan หรือ DAT dopaminergic transportation scan จะสามารถเสริมความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคนี้ได้
          การรักษา...
          ในปัจจุบันการรักษาด้วยยายังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงต้นของอาการโดยยากลุ่มใหม่ๆ ที่ใช้ในการรักษาจะเป็นยาชนิดออกฤทธิ์ยาว ใช้กินเพียงแค่วันละ 1 ครั้งก็สามารถควบคุมอาการได้ 24 ชั่วโมง เช่นPramipexole หรือ Ropinirole หรือยาชนิดแผ่นแปะบริเวณผิวหนัง ได้แก่ Rotigotine Patch ซึ่งยาชนิดใหม่ทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นยากลุ่มโดปามีนอะโกนิส (Dopamine Agonists) ชนิดออกฤทธิ์ยาว
          ถ้าใช้ในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอการใช้ยา Levodopa ได้ ซึ่งทำให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เช่น อาการยาหมดฤทธิ์ก่อนเวลาอันควร หรืออาการตัวหยุกหยิกรำละครลดน้อยลงได้ ส่วนยาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นยาใหม่ คือ ยา Rasagiline ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มMAO-B Inhibitor ซึ่งนอกจากมีฤทธิ์ในการลดอาการของโรคพาร์กินสันได้แล้ว อาจยังสามารถชะลอความเสื่อมของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย
          ส่วนยา Stalevo เป็นยาที่มีส่วนประกอบของยา Levodopa ร่วมกับ Entacapone และCarbidopa ซึ่งสามารถยืดระยะเวลาให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้นกว่าเดิม
          ส่วนในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากโรคนี้ และยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้การปรับยาเป็นไปได้ยากขึ้น
          จึงมีการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ โดยการผ่าตัดซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
          1.การผ่าตัดสอดสายเข้าทางหน้าท้องสู่ลำไส้เล็กและเชื่อมต่อสายหน้าท้องกับยาDuodopa ซึ่งเป็นยา Levodopa Gel โดยใช้ปั๊มยาเข้าสู่ลำไส้เล็กตลอดเวลา ทำให้การดูดซับยาดีขึ้น ใช้ยาขนาดน้อยลงและยาออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้นมาก ช่วยลดอาการของโรคพาร์กินสันในระยะรุนแรง และสามารถปรับขนาดของยาที่ให้ได้ตลอดเวลาตามอาการของโรค
          2.การผ่าตัดสมอง Deep Brain Stimulation เป็นการฝังสายไฟในสมองส่วนลึก โดยการเจาะผ่านรูเล็กๆ บริเวณกะโหลกศีรษะ และเชื่อมต่อสายเข้ากับแบตเตอรี่ขนาดเล็กที่บริเวณหน้าอก ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมได้ตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยและทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้น ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง และยังสามารถลดปริมาณยาที่กินอยู่ลงได้ 30-50%ทำให้ภาวะแทรกซ้อนจากยาลดลงด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นกว่าเดิมมาก
          ส่วนอาการทางกายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว(Non motor symptoms) เช่นความจำหลงลืม การนอนหลับที่ผิดปกติ ฝันร้าย ประสาทหลอน ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันต่ำ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่ ความเสื่อมทางเพศ ท้องผูก เหล่านี้เป็นอาการที่พบได้ของโรคนี้ และสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้
          ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายของเซลล์ตัวอ่อน (Stem Cell) หรือวิธีล้างสารตกค้างจากร่างกาย(Chelation) เนื่องจากเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ว่าเกิดจากอะไร แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ได้มีการตั้งสมมติฐานและทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุของโรคนี้และหาทางหยุดยั้งการเสื่อมของเซลล์สมองรวมทั้งทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสและความหวังของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
 


pageview  1206108    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved