HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 22/05/2555 ]
ปรับสมดุลธาตุด้วยตำรับยาไทยห่างไกลโรค

 ธาตุ
          ในร่างกายของคนเราจำแนกเป็น 3 กลุ่มใหญ่เรียกว่าตรีธาตุ ประกอบด้วย ปิตตะ ธาตุไฟ วาตะ ธาตุลม เสมหะ ธาตุน้ำ หากธาตุทั้งสามไม่สมดุลร่างกายก็จะเกิดการเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมและอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนจากฤดูกาลหนึ่งไปสู่ฤดูกาลหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบธาตุภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้ การดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทยถือเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่จะช่วยรักษาสมดุลของธาตุไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยได้
          ดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย
          เบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่าการแพทย์แผนไทยได้แบ่งฤดูกาลไว้ 3 ฤดู คือ คิมหันตฤดู(ฤดูร้อน) วสันตฤดู (ฤดูฝน) และเหมันตฤดู (ฤดูหนาว)โดยในแต่ละช่วงฤดูกาลจะมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อธาตุจนเสียสมดุลและก่อให้เกิดการเจ็บป่วยที่ต่างกันไป เช่น ในฤดูร้อนมักเจ็บป่วยด้วยอาการปิตตะกำเริบ คืออาจมีอาการร้อนใน เป็นไข้ ตัวร้อนได้ง่าย ในฤดูฝนมักเจ็บป่วยด้วยวาตะกำเริบและมีเสมหะร่วมด้วย เช่น เป็นหวัด คัดจมูก ไอ จาม เป็นต้น โบราณจึงมีตำรับยาที่เป็นยากลางๆ ใช้ได้ทั่วไปตามฤดูกาล เรียกว่า "พิกัดยา" ช่วยลดอาการและดูแลสุขภาพในช่วงฤดูต่างๆ
          แพทย์แผนไทยประยุกต์ อธิบายถึงตำรับยาดังกล่าวประกอบด้วย พิกัดตรีผลา สำหรับฤดูร้อน จำกัดจำนวนผลไม้ 3 อย่าง คือ สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม ช่วยแก้อาการเจ็บป่วยที่มักเกิดในฤดูร้อน มีฤทธิ์ช่วยในการระบาย ปรับสมดุลธาตุ ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง
          พิกัดตรีกฏุก สำหรับฤดูฝน จำกัดจำนวนของส่วนผสมที่มีรสเผ็ดร้อน 3 อย่าง อาทิ ขิง พริกไทย ดีปลี เพื่อช่วยแก้อาการเจ็บป่วยที่มักเกิดในฤดูฝน
          ตำรับสุดท้ายได้แก่ พิกัดตรีสาร สำหรับฤดูร้อน หมายถึงการจำกัดจำนวนสิ่งที่ให้คุณในฤดูหนาว 3 อย่างได้แก่ เจตมูลเพลิง สะค้าน ชะพลูหรือช้าพลู ซึ่งมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการหรือโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว เป็นตำรับค่อนข้างร้อนเพื่อให้ความอบอุ่นร่างกายในช่วงหน้าหนาว ซึ่งร่างกายจะมีเสมหะหรือน้ำมาก จึงต้องใช้สมุนไพรเหล่านี้ช่วยในการควบคุมร่างกายให้เกิดสมดุล
          หน้าฝนปรับสมดุลด้วยพิกัดตรีกฏุก
          ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โอกาสที่คนจะเป็นหวัดก็เกิดได้ง่าย หลายๆ คนอาจเริ่มมีอาการของวาตะและเสมหะกำเริบบ้างแล้ว แพทย์แผนไทยประยุกต์ได้แนะนำวิธีการดูแลตัวเองง่ายๆ ด้วยตำรับยาสมุนไพรไทย "พิกัดยาตรีกฏุก"ซึ่งจะมีรสเผ็ดร้อนช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นและยังออกฤทธิ์ต่อทางเดินหายใจ โดยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงสามารถดื่มในรูปยาต้มหรือชารับประทานก็ได้ในพิกัดขิงพริกไทย ดีปลี จำนวนเท่าๆ กัน ใช้ต้มกับน้ำจนเดือด นำมาดื่มก่อนอาหารเช้ากลางวัน เย็น หรืออาจต้มเป็นน้ำชาจิบเรื่อยๆระหว่างวัน หรือจะใช้เป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ทำให้หายใจสะดวกโล่ง
          หมอเบญจวรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนผสมของขิงมีสรรพคุณช่วยขับลม กระจายลม ละลายเสมหะ ควบคุมสมดุลของธาตุน้ำไม่ให้เสมหะ น้ำมูกกำเริบ เหมาะกับการนำมาใช้ในช่วงฤดูฝน หากมีอาการกำเริบแล้วก็ให้ชงในอัตราส่วนที่เข้มข้นขึ้นกินเป็นยา แต่ไม่ควรนำมากินต่างน้ำเนื่องจากเป็นยาที่มีฤทธิ์ร้อนแต่ถ้าหากไม่สามารถหาตัวยาสมุนไพรได้ครบตามพิกัดดังกล่าวก็สามารถใช้สมุนไพรที่หาได้ง่าย เช่น ขิง หรือใบกะเพรา มาชงเป็นน้ำชาดื่มถ้ามีอาการหวัดคัดจมูกช่วงเช้าหลังตื่นนอนเป็นประจำแนะนำให้ดื่มน้ำขิงอุ่นๆก่อนนอนจะช่วยบรรเทาอาการได้ดี
          สำหรับวิธีทำให้ใช้ขิงประมาณ 3 หัวแม่มือ หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำประมาณ 1 ลิตร แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้ากลางวัน เย็น หรือจิบเรื่อยๆระหว่างวัน เน้นดื่มตอนน้ำขิงยังอุ่นๆ กรณีทำเป็นชานำขิงประมาณ 1 หัวแม่มือ หั่นชิ้นบางๆ แช่ในน้ำร้อน 1 แก้ว ประมาณ 200 ซีซี ดื่มอุ่นๆ แต่มีข้อควรระวังคือการใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากๆ จะให้ผลตรงข้าม คือจะไประงับการบีบตัวของลำไส้จนทำให้ลำไส้หยุดบีบตัว ดังนั้น การดื่มน้ำที่สกัดจากขิงไม่ควรใช้น้ำเข้มข้นมากเกินไป เพราะจะไม่ให้ผลในการรักษาตามที่ต้องการ
          แพทย์แผนไทยประยุกต์ เบญจวรรณ ย้ำว่า นอกจากการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว สิ่งสำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายร่วมด้วยเพียงเท่านี้ก็สามารถดูแลตนเองไม่ให้ป่วยได้
          หากมีข้อสงสัยการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรไทย หรือการแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร. 037-211-289 หรือที่ www.abhaiherb.com และ www.facebook.com/สมุนไพรอภัยภูเบศร
 


pageview  1206124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved