HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 27/02/2562 ]
ยุทธศาสตร์(ยุติ)ความเค็ม

  เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์
          ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
          เป้าหมายต้องชัดเจน แนวทางจึงแจ่มชัด ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ความเค็ม ที่ต่อไปสังคมต้องมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปักธงนำไว้ก่อนล่วงหน้าถึง เป้าหมายสังคมสุขภาวะ ที่ไม่ใช่แค่การรักษา แต่ต้องกลับมาดักที่ต้นทาง...พฤติกรรม ปัจจัยเสี่ยง มาตรการทางภาษี และยุทธศาสตร์ SALTS
          ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เล่าว่า จุดเปลี่ยนที่ต้องอาศัยความร่วมมือของสังคม นอกจากสร้างความรับรู้ ปรับปรุงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความรู้และรณรงค์อย่างเข้มข้นแล้ว ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ปรับเปลี่ยนสูตรอาหารให้มีความเค็มลดน้อยลง ทั้งหมดเป็นไปภายใต้ยุทธศาสตร์ SALTS ที่ตามติดและเฝ้าระวังการใช้เกลือในสังคม รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการทางภาษีควบคู่ไปด้วย
          สำหรับยุทธศาสตร์ความเค็ม หรือ SALTS คือ ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนสังคมเพื่อการลดการบริโภคเกลือ สสส.ได้ร่วมกับ WHO Country Cooperation Strategy (CCS) กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย รวมทั้งภาคีเครือข่าย ร่วมกันเพื่อการผลักดันการลดโซเดียมอย่างจริงจัง เพื่อเป้าหมายลดเกลือให้ได้ 30% จากปัจจุบันภายใน 5 ปีข้างหน้า!
          SALTS ย่อมาจาก S คือ Steakholder Net-work หรือเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย A มาจาก Awareness หรือความตระหนัก L มาจาก Legislation and Environmental Reform การปฏิรูปกฎหมายและสิ่งแวดล้อม T มาจาก Technology and Innovation เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ S มาจาก Surveillance, Monitoring and Evaluation การเฝ้าระวังตรวจสอบและติดตามผล
          จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 ได้รับรองนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อการลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ทั้งนี้ มีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก การดำเนินงานระดับชาติ และยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% ในปี 2568
          "แม่ข่ายสำคัญคือ เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ซึ่งมี ดร.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ เป็นประธาน โดยเครือข่ายมีนักวิชาการจากหลายฝ่ายมาทำแผนการลดเกลือร่วมกัน ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ก็มาจากการตอบสนองต่อปัญหาประชากรในสังคมที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากเกลือและโซเดียมนั่นเอง"
          ดร.ไพโรจน์ เล่าว่า ยุทธศาสตร์ SALTS ได้ดำเนินมาระยะหนึ่ง ได้แก่ การรณรงค์อย่างเข้มข้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความเข้าใจทั้งต่อตัวประชาชนและภาคธุรกิจ รสชาติเปลี่ยนความอร่อยไม่เปลี่ยน ขณะเดียวกันก็กำกับด้วยกลไกราคาผ่านมาตรการภาษี เพื่อให้ราคาของความเค็มสูงขึ้นแบบมีนัย เพื่อต้านการกินเค็มอย่างได้ผล
          "มาตรการทางภาษีที่บังคับใช้กับภาคธุรกิจ ถ้าคุณใส่เกลือในอาหารเยอะ คุณก็ต้องจ่ายเยอะ ราคาของความเค็มที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดนี้ ได้ผลมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ฮังการี เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการเพิ่มภาษีสำหรับอาหารกรุบกรอบของเด็ก ก็ปรากฏว่าเกลือในอาหารสำหรับเด็กลดลงทันที สำหรับมาตรการทางภาษีในประเทศไทย อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย"
          "หลักการง่ายมาก คือ คุณต้องจ่ายสำหรับความเสียหายที่คุณก่อขึ้น ผู้ผลิตที่ใส่เกลือในอาหารโดยไม่รับผิดชอบต่อปัญหาสุขภาพของคนในชาติ ต่อไปคุณไม่อาจทำในสิ่งที่ไร้ความรับผิดชอบแบบนี้ได้อีก ต่อไปคุณต้องคิดให้มากขึ้น ถ้าจะใส่เกลือหรือใช้โซเดียม"
          นอกเหนือจากกลไกความเค็มของตลาดผู้บริโภคแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า รากของปัญหาการกินเค็มในสังคมไทย ยังมีที่มาจากรากฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งนิยมอาหารรสจัดจ้าน เปรี้ยวจัด หวานจัด โดยเฉพาะเค็มจัด ที่ใช้กรรมวิธีการหมักดองในการผลิต อาหารและเครื่องปรุงรสให้รสเค็มเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลาร้า หมูเค็ม เนื้อเค็ม ไตปลา เป็นต้น
          "ไม่ว่าจะอย่างไร การให้ความรู้และรณรงค์เรื่องสุขภาพคนไทย รวมทั้งมาตรการจากภาครัฐ จะช่วยให้การลดเค็มในสังคมไทยได้ผล ปักธงว่าเราต้องลดความเค็มให้ได้ ก็ได้และทำได้เมื่อร่วมมือกันในทุกภาคส่วน"
          ดร.ไพโรจน์ เล่าว่า ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตจำนวนสูงถึง 10 ล้านคน ความดันโลหิตส่งผลต่อร่างกายให้เกิดโรคภัยต่างๆ เมื่อขับออกจากไตได้ไม่หมด ไตที่ทำงานหนักก็จะเกิดอาการเสื่อม ทำให้ขับโซเดียมได้น้อยลง ในที่สุดก็จะเป็นความดันโลหิตถาวร ความดันโลหิตสูงนี้ยังส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะไตที่ต้องทำงานหนักมาก จนเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง
          "ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคไตสูงถึง 7 ล้านคน กับป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตอีก 5 แสนคน"
          ความร้ายแรงที่ยิ่งไปกว่านั้น คือภาวะความดันโลหิตสูง ที่จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เต้นเร็วขึ้น และหากปริมาณของเหลวในร่างกายมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอการเส้นเลือดอุดตันและเสี่ยงที่จะหัวใจวาย หัวใจขาดเลือด ไปจนถึงเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้เสียชีวิต หรือกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตนั่นเอง
          ยังมีโรคที่คาดไม่ถึง เช่น โรคกระดูกพรุน เพราะเมื่อร่างกายได้รับโซเดียม ก็จะขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้น โดยขับเอาแคลเซียมออกมาด้วย ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมจนเกิดภาวะกระดูกเสื่อมในที่สุด หรืออาจเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะการกินโซเดียมมากๆ จะไปทำลายผนังกระเพาะอาหาร จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของแผลในกระเพาะอาหารได้
          "สิ่งเหล่านี้มีสาเหตุมาจากความเค็มหรือโซเดียม ที่ต้องเอ่ยถึงโซเดียมด้วย ก็เพราะโซเดียมนั้น แอบแฝงอยู่ในอาหารประเภทต่างๆ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในรูปของเกลือ แต่ให้โทษพิษภัยเหมือนเกลือ" ดร.ไพโรจน์ เล่า
          นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า มาตรการลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย ได้ดำเนินการใน 4 มาตรการสำคัญ สอดคล้องกับแนวกลยุทธ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ดังนี้ 1.ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 2.การติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียมเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภค 3.การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และ 4.การรณรงค์ให้ความรู้
          จากการศึกษาประสิทธิภาพและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการลดโซเดียมในประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ในปี 2561 พบว่ามาตรการที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากที่สุด คือ ความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยใช้มาตรการทางภาษีและราคา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่แต่ละปีมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มถึง 98,976 ล้านบาท/ปี
          ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในการประชุมขับเคลื่อนมาตรการลดโซเดียมในประเทศไทย จัดโดยองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า หากลดการบริโภคโซเดียมได้ทั่วโลกในระดับที่แนะนำ จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้กว่า 2.5 ล้านคน/ปี และยังให้ผลตอบแทนในการลงทุนถึง 12 เท่า เพราะทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนในการลดโซเดียม จะได้ผลตอบแทนคืนกลับ 12 ดอลลาร์
          "นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด" ดร.แดเนียล กล่าวกรณีสถานการณ์ไตวายเรื้อรังในประเทศไทย คนไทยป่วยเป็นไตวายเรื้อรังประมาณ 17% หรือ 11 ล้านคน ต้องได้รับการดูแลทั้งการล้างไต และการปลูกถ่ายไต ปัจจุบันมีคนต้องล้างไตประมาณ 1 แสนคน/ปี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 แสนบาท/คน/ปี หากไม่ทำอะไรก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในการดูแล
          มีงานศึกษาวิจัยพบว่า การลดการบริโภคเค็มเพียงเล็กน้อย หรือเพียงประมาณ 700-800 มิลลิกรัม/วัน จะสามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ 20% ทั้งนี้ การลดปริมาณโซเดียมในสังคมบริโภคลงได้ 30% ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นภารกิจสำคัญที่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้เป็นภารกิจ 1 ใน 3 อันดับแรกที่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
          ดร.ไพโรจน์ เล่าว่า ประเทศที่สามารถลดเกลือได้สำเร็จ อย่างอังกฤษหรือฟินแลนด์ ใช้มาตรการในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร การติดฉลาก การใช้ข้อบังคับกฎหมาย หรือมาตรการทางภาษี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางสำหรับประเทศไทยที่จะได้นำมาปรับใช้หรือประยุกต์ใช้ เพื่อการเดินไปสู่เป้าหมายการลดโซเดียมลงได้เช่นกัน
          สำหรับแนวทางและมาตรการเดินหน้าลดเค็มประเทศไทย นอกจากการสร้างความรับรู้ การทำฉลากที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งแนวคิดในการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมสูง ผู้ประกอบการปรับลดสูตรอาหารที่มีปริมาณโซเดียมลดลงแล้ว ก็ยังมีแนวทางด้านนวัตกรรม ซึ่งได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตปรอทวัดความเค็มพกพาสำหรับประชาชน เป็นต้น
          "จุดเปลี่ยนไม่ได้เกิดขึ้นภายในเวลาสั้นๆ แต่ต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก ทั้งการทำความเข้าใจ การสร้างความรู้ความตระหนัก การร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เงื่อนเวลา 5 ปี ลดเกลือลง 30% เป็นไปได้แน่" ดร.ไพโรจน์ กล่าว


pageview  1204943    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved