HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 21/11/2561 ]
สรุปผลสอบรพ.พระราม 2 ผิดอาญาไม่ทำตามมาตรฐาน

 ข้อคาใจ กรณี ช่อลัดดา ทาระวัน ซึ่งถูกสามีสาดน้ำกรดใส่หน้า ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 2 และเสียชีวิตระหว่างส่งตัวไปยังโรงพยาบาลบางมดซึ่งมีสิทธิประกันสังคมอยู่
          ล่าสุด 20 พ.ย. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้แถลงผลการสอบสวนกรณีโรงพยาบาลพระราม 2 ถูกร้องเรียนว่าปฏิเสธการรักษาและมีการให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่ามี 5 กรณีที่เข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2559 ดังนี้
          1.กรณีที่พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ตรวจประเมินวินิจฉัยอาการผู้ป่วยและรักษาเบื้องต้นโดยไม่รายงานแพทย์ คณะ กรรมการฯ มีมติเข้าข่ายกระทำผิดเรื่องการไม่ควบคุมและดูแลมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามกฎหมายวิชาชีพ ตัวเอง อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 34 (1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีมติเอกฉันท์ให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้ดำเนินสถานพยาบาลในชั้นศาล
          2.กรณีพยาบาลให้การตรวจรักษาแล้ว จากการสอบถามพบว่า ได้รายงานผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการฯ จึงได้สั่งการให้รับผู้ป่วยไว้ใน โรงพยาบาล แสดงว่ามีความจำเป็นต้องรับการประเมินจากแพทย์ ก่อนที่จะนำผู้ป่วยไปนอนโรงพยาบาลตามที่ได้สั่งการ ดังนั้น คณะกรรมการฯ มีมติว่า อาจจะเข้าข่ายไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด เข้าข่ายผิดมาตรา 34 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          3.ไม่ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉิน และการคัดแยกระดับฉุกเฉินตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 35 (3) และ (4) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คณะกรรมการฯ มีมติให้เปรียบเทียบปรับ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          4.ไม่ได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยา ผู้ป่วยในสภาพอันตรายและต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินให้พ้นขีดอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาล อาจเข้าข่ายผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไม่ควบคุมให้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรา 33/1 โดยเข้าข่ายเอาผิดตามมาตรา 36 วรรค 1 มีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้รับอนุญาตฯ และ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          และ 5.เมื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว มีการอ้างความต้องการของผู้ป่วยเองไปรักษาโรงพยาบาลแห่งที่สอง เรื่องนี้เข้าข่ายเรื่องส่งต่อโดยไม่เหมาะสม ตามมาตรา 36 วรรค 3 อาจจะมีความผิดตามกฎหมายที่กำหนดโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแจ้ง โดยให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้รับอนุญาตฯ และ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          "สุดท้ายแล้วคณะกรรมการฯ มีมติให้แจ้งความร้องทุกข์ทั้งหมด ทั้งเปรียบเทียบปรับและจำคุก โดยจะแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ท่าข้าม ในวันที่ 21 พ.ย. สำหรับการเปรียบเทียบปรับนั้น คณะอนุกรรมการเปรียบเทียบจะพิจารณาว่าทั้งหมดปรับเท่าไร โดยจะเสนอวงเงินเปรียบเทยบปรับต่อคณะกรรมการสอบสวนต่อไป" อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าว
          นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับสถานพยาบาล คือ พยาบาลที่ให้การดูแลรักษาและยอมรับว่าไม่ได้รายงานแพทย์เวร กรณีนี้เข้าข่ายเรื่องจริยธรรมประกอบวิชาชีพไม่เป็นตามมาตรฐานที่กำหนด จะส่งเรื่องให้สภาการพยาบาลพิจารณาต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ได้มาจากการซักในเชิงลึกและตัวพยาบาลยอมรับเองว่าไม่ได้รายงาน เพราะเห็นว่าผู้เสียหายขอไปรักษาอีกแห่งตามสิทธิของตัวเอง อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่ามีตารางเวรของแพทย์เวรตามที่ขออนุญาต
          "จากการพิจารณาทั้งหมดสรุป ว่าไม่เข้าข่ายปฏิเสธรักษา เพราะผู้ป่วยขอไปเอง และจากการดูกล้องวงจรปิดก็มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีนี้เข้าข่ายไม่ทำตามมาตรฐาน ในการคัดกรองและแยกระดับอาการฉุกเฉิน รวมถึงการส่งต่อ" นพ.ณัฐวุฒิ ระบุ


pageview  1205102    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved