HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 29/03/2555 ]
เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งใน 3 นาที ตัวแรกของอาเซียน

 จากการรายงานสถานการณ์โรคมะเร็งของเมืองไทยในงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา(2555) พบว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจาก "มะเร็งตับ" สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ปวย ตามมาด้วย "มะเร็งปอด" ที่คร่าชีวิตผู้ปวยโรคนี้ไปถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
          โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้ปวยโรคมะเร็งตับและปอดมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงจนน่าตกใจเช่นนี้ นอกจากส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากการ "รู้ช้า" ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ทำให้กว่าที่ผู้ปวยกลุ่มนี้จะได้เข้ารับการรักษาก็เข้าสู่ระยะหลัง ๆ ของโรค จนไม่สามารถรักษาให้หายขาดและประคองชีวิตให้อยู่ได้ยืนยาวแล้ว
          ในเรื่องของ"ร่างกายผู้ปวย" ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีอายุมาก,มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอด และมีระบบการทำงานของตับที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น รวมถึงกลุ่มผู้ปวยที่ปฏิเสธเข้ารับการผ่าตัด ก็นับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้ปวยมะเร็งตับและปอดมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่ามะเร็งในจุดอื่นๆ มากหลายเท่าตัว
          พ.ญ.ศศิกาญจน์ จำจด แพทย์เฉพาะทางรังสีมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้จึงริเริ่มให้มีการนำ "เครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคTrueBeam (ทรูบีม)" มูลค่ากว่า 180 ล้านบาท อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทันสมัยและมีความแม่นยำในการรักษาโรคมะเร็งมากที่สุดในปัจจุบันเข้ามาไว้ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งของเมืองไทยให้เทียบเท่ากับนานาประเทศ
          ก่อนหน้านี้วิธีการรักษาผู้ปวยโรคมะเร็งตับและปอดที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดจากกรณีที่กล่าวไว้ข้างต้นและปฏิเสธการผ่าตัดคือ การฉายรังสี เพียงแต่บทบาทในการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งค่อนข้างที่จะมีจำกัด โดยเฉพาะในตับ เนื่องจากเครื่องมือในสมัยก่อนไม่สามารถให้รังสีที่แม่นยำและมีปริมาณที่สูงเพียงพอต่อตัวโรค อีกทั้งยังมีโอกาสที่รังสีจะกระจายไปทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องค่อนข้างสูงมากทีเดียว
          แพทย์เฉพาะทางรังสีมะเร็งวิทยากล่าวอีกว่า การนำเข้ามาของเครื่องฉายรังสีทรูบีมที่มีความทันสมัยมากที่สุดในปัจจุบันช่วยให้รังสีจริงที่ไม่ได้รับการปรับแต่ง ทำให้ปริมาณรังสีสูงกว่าเครื่องฉายรังสีทั่วๆ ไป 2-4 เท่า บวกกับการใช้เทคนิครังสีรักษาอย่าง SBRT (Stereotactic Body Radiotheraph) ที่เป็นเทคนิคการให้รังสีใหม่ที่เปรียบเหมือนการผ่าตัดด้วยรังสี สามารถรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำโดยที่อวัยวะส่วนอื่นได้รับผลกระทบจากรังสีน้อยลง
          ทั้งยังเป็นการลดเวลาในการฉายรังสีให้กับผู้ปวยให้เหลือเพียงแค่ 3-5 นาทีเท่านั้น จากแต่เดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 20 นาทีด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและหายขาดของ ผู้ปวยกลุ่มนี้ให้มากขึ้นจากเดิม
          โดยมีการศึกษาทั้งจากต่างประเทศพบว่า การรักษาผู้ปวยด้วยวิธีการฉายรังสีเทคนิค SBRT ในกลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้ในผู้ปวยมะเร็งปอดระยะต้นมีอัตราการรอดชีวิต 2 ปีอยู่ประมาณ 90-95 เปอร์เซ็นต์ และ 5 ปีประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมะเร็งตับนั้นก็ให้ผลการรักษาที่น่าพอใจและได้ผลที่ใกล้เคียงกับการรักษาด้วยการผ่าตัด ยกตัวอย่าง มะเร็งตับที่ผ่าตัดไม่ได้มีอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่สูงถึง 65-100 เปอร์เซ็นต์ และมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่ตับมีอัตราสูงถึง 67-92 เปอร์เซ็นต์
          พร้อมกันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังได้โปรดเกล้าให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์จัด "โครงการเข้าถึงการรักษาด้วยเทคนิค SBRT" ด้วยเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคทรูบีมในผู้ปวยโรคมะเร็งตับและปอด จำนวนชนิดละ 20 ราย
          โดยผู้ปวยที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ปวยโรคมะเร็งปอดระยะต้นที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้จากข้อจำกัดทางสภาพร่างกายหรือปฏิเสธการผ่าตัด และผู้ปวยโรคมะเร็งตับหรือมะเร็งที่กระจายมาที่ตับจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น
          ส่วนผู้ปวยที่ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ เข้าถึงการรักษาด้วยเทคนิค SBRT แต่มีเงื่อนไขตรงตามข้อกำหนดที่ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้วางเอาไว้ และต้องการเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคทรูบีมก็สามารถใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรครวมทั้งสิทธิ์ประกันสังคมได้เช่นเดียวกัน
          สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยงานรังสีมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์


pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved