HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 07/06/2564 ]
จองทะลัก วัคซีนทางเลือก โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม ฉีดเร็วกว่าแผน

วัคซีนทางเลือกคึกคัก ดีมานด์พุ่ง สมาคม รพ.เอกชน ผนึกองค์การเภสัชฯ สั่งซื้อ "โมเดอร์นา" 10 ล้านโดส เตรียมเคาะราคา 2 เข็ม ไม่เกิน 4 พัน มีลุ้นถึงไทยกลางกันยาฯ สภาอุตฯโล่ง จอง "ซิโนฟาร์ม" โดสละ 900 บาท ไม่รวมค่าฉีด ชี้ 3 แสนไม่พอ คาดความต้องการทะลุล้าน ลุยเจรจาขอซื้อลอต 2 เพิ่ม เปิดแผนคิกออฟฉีดปูพรม 11 จังหวัดรอบกรุงเทพฯปลายมิถุนาฯนี้ ด้านกระทรวงสาธารณสุขยืนยันมีวัคซีนฉีดตามแผน-มาครบทุกยี่ห้อ
          ภาพความสับสน ความตื่นกังวลของประชาชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลังจาก โรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลาย ๆ แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้ลงทะเบียนได้ทยอยประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน โควิด-19 ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยให้เหตุผลว่าวัคซีนโควิด-19 มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะจัดสรรมาให้ โรงพยาบาลจึงขอเลื่อนนัดการฉีดไม่มีกำหนด หรือจนกว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนมาให้
          ดีมานด์วัคซีนทางเลือกพุ่ง
          แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่มีความชัดเจน มีการปรับเปลี่ยนแผนเป็นระยะ ๆ รวมถึงการส่งมอบวัคซีนของผู้ผลิตที่มีความล่าช้า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัคซีนทางเลือกมีความต้องการที่มากขึ้น สะท้อนจากการมีประชาชนจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มบริษัทหรือองค์กรที่สนใจและต้องการจะนำวัคซีนไปฉีดให้พนักงานของตัวเอง ที่มีการโทรศัพท์สอบถาม หรือมีการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊กของ โรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงการแสดงความจำนงผ่านการสอบถามความต้องการวัคซีนทางเลือกของโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งที่มีเป็นจำนวนมาก
          "ความไม่มั่นใจว่าจะได้ฉีดหรือไม่ ทำให้หลาย ๆ คนเร่งหาทางออก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะจ่ายเงินเอง อะไรที่ลงทะเบียนได้ จองได้ ก็รีบจองไว้ก่อน เพราะการจองยังไม่ต้องจ่ายเงิน นอกจากการจองวัคซีน โควิดแล้ว ตอนนี้ยังมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่มีการติดต่อเข้ามา เพื่อขอให้ โรงพยาบาลเข้าไปฉีดวัคซีนให้ในกรณีที่มีวัคซีนเข้ามาด้วย"
          สั่ง "โมเดอร์นา" 10 ล้านโดส
          นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้การหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซิลลิค ฟาร์มา ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกมีความคืบหน้ามาก และวันจันทร์นี้ (7 มิถุนายน) จะมีการประชุมชี้แจงเพื่อกำหนดราคากับสมาชิกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยในแง่ของราคาต้นทุนวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณโดสละประมาณ 1,200 บาท ยังไม่รวมค่าบริการ ไม่รวมค่าประกัน เมื่อรวมแล้วเบ็ดเสร็จ 2 เข็ม (1 คนต้องฉีด 2 โดส) ราคา ไม่เกิน 4,000 บาท และสมาคมจะพยายามลดลงมาอีก ให้เหลือสัก 3,000 ต้น ๆ เพราะตอนนี้คนเดือดร้อนมาก
          ส่วนในแง่ของจำนวนหรือปริมาณการสั่งซื้อ สมาคมสั่งซื้อผ่าน อภ. ยอดรวม ประมาณ 10 ล้านโดส โดยจะทยอยเข้ามารวม 3 ครั้ง ลอตแรก 4 ล้านโดส ประมาณเดือนตุลาคม จากนั้นไตรมาส 1 ปีหน้า จะเข้ามา 1 ล้านโดส และถัดไป ลอตสุดท้ายอีก 5 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม สำหรับลอตแรก 4 ล้านโดส ที่คุยกับ ซิลลิคฯ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเข้ามาเร็วกว่ากำหนดเดิม ประมาณกลางเดือนกันยายน และเริ่มทยอยกระจายเพื่อฉีดให้กับลูกค้าในช่วงปลายเดือนกันยายน
          "จากการที่แต่ละโรงได้ทำการสำรวจความต้องการและยอดจองเข้ามา พบว่ามีกลุ่มลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไป และบริษัทหรือองค์กรแสดงความจำนงเข้ามามาก แต่ละโรงมียอดจองตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับ ขนาดของแต่ละโรง ที่มียอดจองสูง หลัก ๆ จะเป็นกลุ่มธนบุรี ที่มีกว่า 1.4 ล้าน บางกอกเชน 2.5 ล้าน เป็นต้น แต่กลางสัปดาห์หน้าจะมีการอัพเดตตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง" นายแพทย์เฉลิมกล่าว
          ซิโนฟาร์มเคาะ 900 บาท/โดส
          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" หลังจากประชุมร่วมกับ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ ถึงแนวทางการจัดนำเข้า และกระจายวัคซีน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ว่า จากที่ทาง ส.อ.ท.ได้สั่งจองใช้วัคซีนซิโนฟาร์มไป 3 แสนโดส ที่ประชุมกำหนดราคาวัคซีน 900 บาทต่อโดส ไม่รวมค่าฉีด (ค่าฉีดต้องดำเนินการเอง) จากนี้ ส.อ.ท.จะจ่ายเงินบริจาคเป็นค่าวัคซีนตามโครงการวัคซีนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 100% (รวม 270 ล้านบาท) ให้ราชวิทยาลัยก่อนที่จะเริ่มดำเนินการฉีด
          สำหรับการกระจายให้กับภาคเอกชนที่สั่งจองมากับ ส.อ.ท. จำนวน 6,000 รายนั้น เบื้องต้นจะใช้แนวทางการ กระจายให้ตามลำดับและปริมาณการจอง (first come first serve) ซึ่งแต่ละรายต้องจ่ายมาทาง ส.อ.ท. โดยในวันที่ 8 มิถุนายนนี้จะสรุปรายละเอียดแผนการกระจายฉีดในพื้นที่ออกมาให้ชัดเจน ว่าจะสามารถรับวัคซีนได้ที่ไหน อย่างไร คาดว่าจะชัดเจนได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนนี้
          "ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่า 3 แสนโดส จะพอใช้หรือไม่ จากที่สำรวจความต้องการมองว่ามี 5 แสนถึง 1 ล้านคน ทาง ส.อ.ท.ก็มีการเจรจาเพื่อขอเพิ่มปริมาณจองวัคซีนซิโนฟาร์มเพิ่มขึ้นด้วย แต่ตอนนี้ขอให้ส่งมอบลอตแรก 3 แสนโดสให้ได้ก่อน แล้วจะมีลอตต่อไป ปริมาณเท่าไรก็ต้องประเมินอีกครั้ง"
          ขณะที่นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) งานมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานวัคซีนทางเลือก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากนี้ ส.อ.ท.จะดำเนินการ ตามแผน โดยคาดว่าจะคิกออฟการฉีดวัคซีนได้ภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนนี้ ในพื้นที่ 11 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ เป็นเฟส 1 ซึ่งในส่วนของการฉีดนั้นได้ดีลกับโรงพยาบาลธนบุรี, กรุงเทพ และเกษมราษฎร์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการฉีดประมาณ 100 บาทต่อโดส รวมกับค่าวัคซีนประมาณ 900 บาทต่อโดส หลังจากนี้ยังหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยอาจจะขยายต่อไปในจังหวัดหัวเมืองเศรษฐกิจ 5 ภาค เช่น เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี อุดรธานี นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง หรือตราด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ทั้งนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับวัคซีน ทางภาครัฐ
          สธ.ยืนยัน มิถุนาฯมีวัคซีนพอ
          เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานการรับมอบวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ลอตแรก 1.8 ล้านโดส ที่ผลิตในประเทศไทยว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงและสัญญาว่าจะ ส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งจริง ๆ ส่งมาตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. และจะทยอยส่งมอบอีกหลาย ๆ ลอตที่ผลิตจากโรงงานในไทย ทั้งนี้ วัคซีนถูกกระจายส่งไปยังทุกจังหวัดเพื่อฉีดในวงกว้าง และยังมีวัคซีนอีกหนึ่ง ยี่ห้อร่วมไปด้วย
          "เราไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียวในเรื่องวัคซีน โดยม้าคือวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ม้าตัวแรก แอสตร้าเซนเนก้า ตัวที่สอง ซิโนแวค ตัวที่สาม จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ตัวที่สี่ โมเดอร์นา ตัวที่ห้า ซิโนฟาร์ม และจะมีม้าตัวที่หกและเจ็ดต่อไป"
          นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า 2.4 แสนโดส ที่กระจาย ไปก่อนหน้านี้ เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่นำมาจากต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าหากมีการสลับวัน หรืออาจมีการล่าช้าด้วยเหตุผลที่เกินการควบคุม เรายังมีวัคซีนที่จะกระจายเข้าไป เพื่อให้มีเวลาแก้ไขสถานการณ์ เป็นการป้องกัน ลดความเสี่ยง เพราะเราต้องการเมกชัวร์ ว่าการฉีดวัคซีนของไทยจะดำเนินไปได้ ซึ่งลอตนี้อยู่ในส่วนที่ประเทศไทยจัดซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส
          ส่วนกรณีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ศบค.จัดให้อยู่ในกลุ่มโควตาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ต้องไปถาม อว.ว่าจะบริหารจัดการจัดสรรอย่างไร เพราะทั้งมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ อยู่ในส่วนของ อว.ทั้งหมด
          ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บริษัทแอสตร้าฯจะทยอยส่งวัคซีนเป็นงวด ๆ จากนั้นกรมควบคุมโรคทยอยจัดส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ส่งถึงโรงพยาบาลหรือสถานที่ฉีด หลายจังหวัดได้รับวัคซีนแล้ว ยืนยันว่าทุกจังหวัดมีวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้กับประชาชนในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นวันคิกออฟการฉีดวัคซีนจำนวนมาก พร้อมกันทุกพื้นที่ตามนโยบายนายกฯแน่นอน โดยรวมแล้วเดือนมิถุนายนมีประมาณ 6 ล้านโดสขึ้นไป
          "กระทรวงสาธารณสุขจะต้องส่งวัคซีนเพื่อให้เป็นไปตามแผน โดยเรารับวัคซีนมาจากแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ปัจจุบันวางแผนจัดส่งไปแล้ว ไม่มีที่ไหนต้องเลื่อนการฉีด เพียงแต่ข่าวอาจออกมาเร็ว เนื่องจากเรารีบส่งวัคซีนลอตแรก 2.4 แสนโดส ทำให้ได้จังหวัดละ 3,600 กว่าโดส แต่เมื่อได้ อีก 1.8 ล้านโดส ก็จะส่งตามไป เราวางแผน เป็นรายสัปดาห์เพื่อสนับสนุนวัคซี นอย่างพอเพียง โดยยืนยันว่าไม่ต้องมีการ เลื่อนฉีด" นพ.เกียรติภูมิกล่าว


pageview  1204950    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved