HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 29/04/2564 ]
ชงล็อกดาวน์สีแดงเข้ม14วัน ห้าง-ร้านอาหารกระชับเวลา

 รัฐเตรียมยกระดับควบคุมพื้นที่ โฟกัสจังหวัดสีแดงเข้ม สั่งล็อกดาวน์ ปิดกิจการ กิจกรรมรวมคน 14 วันรวด สภาอุตสาหกรรมฯหนุนเต็มสูบคุมเข้มพื้นที่ระบาดหนัก สภาหอการค้าฯหวั่นซ้ำรอยปี'63 เศรษฐกิจเสียหาย 6 แสนล้าน ห้าง-ร้านอาหารประสานเสียงค้าน ชี้ใช้ยาแรงผู้บริโภคผวาแห่กักตุนสินค้า ธุรกิจโรงแรม-ภาคท่องเที่ยวจี้เร่งกระจายวัคซีน ภูเก็ตเดินหน้าทัวริซึ่มแซนด์บอกซ์ 1 ก.ค.
          การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่กระจายไปทั่วประเทศ และยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาโดยปรับระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุข ควบคู่กับเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่ม ล่าสุดมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อจัดหาและกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่หลายจังหวัดที่โควิดระบาดรุนแรง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร(กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ ต่างออกมาตรการคุมเข้มมากขึ้น
          ชงล็อกดาวน์ จว.แดงเข้ม 14 วัน
          แหล่งข่าวจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า เตรียมพิจารณายกระดับการควบคุมพื้นที่จากสีแดง เป็นสีแดงเข้ม ในจังหวัดที่สถานการณ์รุนแรง ส่วนพื้นที่ควบคุม สีส้ม ให้ยกเป็นสีแดง เช่น ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอให้ใช้มาตรการทาร์เก็ตล็อกดาวน์ (target lock down) ปิดกิจการ และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการรวมตัวของคนจำนวนมาก โดยมีระยะเวลาในการ lock down 14 วัน
          "ให้ปรับระดับสีจังหวัดจากเดิม 2 สี ให้เพิ่มเป็น 3 พื้นที่ คือ สีแดงเข้ม ให้เป็น จังหวัดควบคุมสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ สีแดง และสีส้มที่มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากจังหวัดส่วนใหญ่จะให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง"
          สภาหอฯค้านล็อกดาวน์
          นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่นายกฯได้นัดหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่ 28 เม.ย. วาระแรก สภาพัฒน์จะรายงานสถานการณ์โควิด และการดำเนินมาตรการจัดการโควิดของรัฐบาล วาระที่ 2 จะหารือ ถึงประเด็นการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ และเอกชน ว่าจะดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างไร จะมีมาตรการเพิ่ม เติมอย่างไร โดยหอการค้าฯจะไม่เสนอให้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพราะขณะนี้ กึ่งใช้มาตรการล็อคดาวน์อยู่แล้ว จาก ที่ให้ล็อกดาวน์สถานที่ 31 แห่ง ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม แทบไม่มี คนไปแล้ว และมีมาตรการอื่น ๆ ด้วย ซึ่งน่าจะเพียงพอ แต่ต้องบังคับใช้กฎหมาย เข้มข้น ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และ work from home ด้วย
          "ผมว่าเราอย่าไปคอมพลีตที่มาตรการล็อกดาวน์ ที่ผ่านมาเคยใช้แล้วสร้างความเสียหายถึง 6 แสนล้านบาท ประเด็นสำคัญคือ อุตสาหกรรมกำลังขับเคลื่อน ภาคส่งออกเติบโต เดือน มี.ค.ขยายตัวกว่า 8% ถ้าล็อกดาวน์ภาคผลิตสะดุด ไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทัน สิ่งสำคัญคือการจัดหา และกระจายวัคซีนให้ได้ตามแผนการฉีด ให้ได้ทันเวลาเปิดภูเก็ต แซนด์บอกซ์ 1 ก.ค."
          สำหรับความต้องการวัคซีนจากการประสานกับสมาชิกทั่วประเทศ คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากที่ลงทะเบียนไว้ 1 ล้านโดส ซึ่งภาคเอกชนยินดีจ่ายค่าวัคซีนเองทั้งหมด
          ส.อ.ท.ชง "ล็อกดาวน์โซนสีแดง"
          ส่วนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า โควิด-19 รอบ 3 รุนแรง กว่าทุกครั้ง ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ และมูลค่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจสูงถึง 1 แสนล้านบาท/เดือน โดยเฉพาะผลกระทบ กับภาคบริการ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รัฐต้องประกาศล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดสูง รวมถึงบางประเภทธุรกิจ ขั้นต่ำ 15 วัน ธุรกิจที่เสี่ยงกว่านั้นให้ปิดยาวกว่านั้น อาจต้องใช้มาตรการที่มากกว่าการล็อกดาวน์ หากเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงมาก แม้การล็อกดาวน์ยิ่งแย่ แต่ถ้าไม่ล็อกเลยจะเสียหายระยะยาว ส่วนความต้องการวัคซีนจากที่ได้สำรวจจากสมาชิก 100 กว่าบริษัท ยังต้องการที่ 1 แสนโดส นอกจากนี้ได้ติดต่อนิคมอุตสาหกรรมทั้งรัฐและเอกชน ให้เป็นพื้นที่รองรับการฉีดวัคซีน มีปัมบางจากที่เสนอตัวสนับสนุนด้านพื้นที่ด้วย
          สอดคล้องที่พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มองว่า การ แพร่ระบาดของโควิดที่ทวีความรุนแรงขึ้น มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก หากไม่มีมาตรการ ที่เข้มข้นจะยืดเยื้อไม่ต่ำกว่า 3 เดือน รัฐจึง ต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดกว่านี้ เบื้องต้น ควรล็อกดาวน์ 14 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาดสูง อาทิ กทม. นนทบุรี ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาดสูงมาก ควรล็อกดาวน์เป็นพื้นที่ ๆ ควบคู่กับทำแผนกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
          ค้าปลีกร้านอาหารปรับเวลา
          แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกกล่าวในเรื่องนี้ว่า จากการหารือร่วมกันของผู้ประกอบการค้าปลีกถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขณะนี้ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหากทางการจะประกาศล็อกดาวน์ ในส่วนของศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เกรงว่าจะเกิดความโกลาหล ซื้อสินค้ากักตุน ควรใช้มาตรการปรับกระชับเวลาปิด-ปิดตามสถานการณ์แทน ให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้
          "หลังการแพร่ระบาดเริ่มรุนแรงเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าร้านสะดวกซื้อก็ปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการ จากเดิมปิด 22.00 น. ปรับมาเป็นปิด 20.00 น. ร้านสะดวกซื้อปิด 04.00-23.00 น. เป็นต้น หากระบาดหนักขึ้นอีกก็พร้อมลดเวลาเปิดให้บริการให้กระชับขึ้นอีก"
          ให้ตรวจเข้มฝ่าฝีนลงดาบ
          นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร สมาคมขอความร่วมมือลดเวลา จำหน่ายหน้าร้านลง เน้นการ take away อย่างเดียว หากจะให้ล็อกดาวน์ ปิดให้บริการ เลยไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ควรเพิ่มความเข้มงวดตรวจร้านค้า ร้านอาหาร หากรายใด หละหลวม ไม่ทำตามมาตรการก็ให้สั่งปิดได้ ที่สำคัญควรหาวัคซีนมาให้เร็วที่สุด
          "เราเป็นเอกชน ทำมาค้าขาย หากต้อง ปิดจะไม่มีเม็ดเงินหมุนเวียน ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้าค้าปลีกรายใหญ่ทั้งแม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เปิดได้ ร้านอาหารที่มีมาตรฐานก็ต้องเปิดได้"
          เช่นเดียวกับ นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยหากนำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้ เนื่องจากเศรษฐกิจและธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ ต้องหยุดชะงักชั่วคราว เศรษฐกิจยิ่งจะถดถอย รัฐควรเร่งกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงเร็วขึ้นจะดีกว่า
          แนะล็อกดาวน์คู่ฉีดวัคซีน
          ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมท่องเที่ยวมองว่า แนวทางการหยุดการแพร่ระบาดของโควิดนั้น รัฐควรขอความร่วมมือภาคเอกชน ภาคธุรกิจ กำหนดมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะในที่เป็นห้องปรับอากาศ และเร่งฉีดวัคซีนควบคู่ไปด้วย โดย ใช้เวลา 15 วัน หรือ 1 เดือน หยุดการแพร่เชื้อ เนื่องจากการแพร่ระบาดวันนี้รุนแรงเกินจะควบคุมตามหลักของสาธารณสุขได้
          นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่อยากให้รัฐใช้แนวทางล็อกดาวน์พื้นที่ เพราะล็อกดาวน์อย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่รัฐควรเร่งระดมการฉีดวัคซีนควบคู่กันไปด้วย หากปริมาณวัคซีนมีปริมาณไม่เพียงพอ ล็อกดาวน์ไปก็ไม่เป็นผล สำหรับธุรกิจโรงแรมในขณะนี้แม้รัฐไม่ได้ล็อกดาวน์ แต่สภาพโดยรวม เหมือนถูกล็อกดาวน์โดยปริยาย เนื่องจากไม่มีคนเดินทาง ห้องพักไม่มีแขก ขณะที่ ห้องอาหาร ห้องประชุมสัมมนา ซึ่งเคยทำ ธุรกิจได้บ้าง ก็ออกมาตรการมาควบคุม เรียบร้อยแล้ว แต่หากล็อกดาวน์และมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจะเป็นผลดีกับธุรกิจโรงแรม
          ภูเก็ตยันตั้งเป้าเปิดเมือง 1 ก.ค.
          นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จุดมุ่งหมายเปิดจังหวัดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจุดหมายปลายทางที่ยังตั้งไว้อยู่แล้ว ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่อยู่ที่ความเหมาะสม สิ่งที่เตรียมไว้คือ ฉีดวัคซีนชาวภูเก็ตให้ได้ 60-70% ตามเป้า ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาก็ต้องผ่านกระบวนการวัคซีน หรือกระบวนการตรวจโรคยืนยันได้ว่าไม่นำเชื้อโรคเข้ามา
          นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตอนนี้ภูเก็ตแบ่งเป็นสองทีม คือ ทีมควบคุมระบาดและทีมเปิดเมืองวันที่ 1 ก.ค. 64 ยังเดินทำงานต่อเนื่อง ขณะนี้ภูเก็ตกำลังเร่งฉีดวัคซีนตามนัดให้สามารถเปิดรับต่างชาติได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ แต่ที่ค่อนข้างเป็นห่วงคือ กำหนดการจัดสรรวัคซีนจะมาตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่าจะทำ ภูเก็ตทัวริซึ่มแซนด์บอกซ์ 1 ก.ค.นี้ ทั่วโลกจับตาอยู่การส่งสัญญาณว่าทำไม่ได้จะส่งผลเสีย
          อุตฯยานยนต์ชี้รอถึงกลาง พ.ค.
          นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่เห็นด้วยหากจะนำมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นเข้ามาใช้ ควรแก้ปัญหาและควบคุมอย่างเต็มที่ก่อน ล็อกดาวน์ควรนำมาใช้เป็นสิ่งสุดท้าย
          ส่วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ยานยนต์เป็นภาพที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ประกอบกับสถานการณ์การขาดแคลน เซมิคอนดักเตอร์ ยิ่งทำให้สถานการณ์การผลิตอ่อนไหว คาดเดาได้ยาก เชื่อว่าสถานการณ์การผลิตจะเป็นไปในลักษณะ on-off ไปตลอดทั้งปี
          คลังพร้อมมาตรการเศรษฐกิจ
          น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมออกมาตรการบรรเทาผลกระทบของโควิดรอบใหม่ ซึ่งขณะนี้มีงบประมาณกว่า 3.8 แสนล้านบาท ที่ใช้ดูแลและบรรเทาผลกระทบโควิดระลอกใหม่ แบ่งเป็น งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท วงเงินเหลืออยู่ 2.4 แสนล้านบาท และงบฯ รายจ่ายประจำปี 2564 มีวงเงิน ทั้งหมด 1.39 แสนล้านบาท ได้แก่ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท ใช้ไปเพียง 500 ล้านบาท งบฯค่าใช้จ่ายที่บรรเทาเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท ใช้ไปเพียง 3.2 พันล้านบาท
          แนวทางการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยการจูงใจให้ประชาชนที่มีเงินออมออกมาใช้จ่าย จะเป็นไปตาม นโยบายของรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จะพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง เน้นในกลุ่มมีกำลังซื้อ จะสรุปปลายเดือน พ.ค. 64 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ด้วย จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.8%


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved