HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 30/09/2562 ]
ควรรู้ไว้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มมากแค่ไหนอันตรายถึงชีวิต

 ในช่วงสัปดาห์-สองสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งเรื่องที่สังคมสนใจมากก็คือกรณีพริตตี้สาวเสียชีวิตปริศนาหลังจากเข้าร่วมงานปาร์ตี้ในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งผลชันสูตรเบื้องต้นระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากอาการช็อกจากการดื่มสุรา หรือชื่อทางการแพทย์ว่า alcohol intoxication โดยพบแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้เสียชีวิตสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงมาก
          เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว คนเรา พบในทุกงานปาร์ตี้ และแทบทุกโต๊ะในร้านอาหาร สังคมจึงสนใจกันมากทีเดียวว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากแค่ไหนจะส่งผลต่อร่างกายระดับใด และมากแค่ไหนที่จะทำให้ช็อกจนเสียชีวิต ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลต่อความสงสัยเหล่านี้ว่า ความทนต่อ ฤทธิ์แอลกอฮอล์ในร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คนที่มีโรคประจำตัว ดีกรีของเครื่องดื่ม และระบบเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกาย เป็นต้น
          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและในระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีการออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดภายในระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 45 นาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม
          จากการวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในการดื่ม ช่วงแรกระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรง ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการง่วง สับสน มึนงง และซึม ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (เหล้าขาว+สี 1.5-2 แบน หรือ 0.75-1 ขวด) ผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และในปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้า หรือไวน์ ปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ จึงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงอาจหยุดหายใจ อันตรายต่อชีวิตได้
          นายแพทย์สุวรรณชัยให้ข้อมูลอีกว่า ความทนต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์ในร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คนอ้วนคนผอม คนที่มีโรคประจำตัว ดีกรีของเครื่องดื่มที่ได้รับ และระบบเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกาย ส่วนปัจจัยที่เสริมให้การดื่มสุราได้รับผล กระทบต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์มาก คือ การดื่มแบบเพียว และการดื่มขณะท้องว่าง เป็นต้น
          "แอลกอฮอล์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็มีแต่ผลเสีย ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีโรค ประจำตัว รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรและเครื่องยนต์ที่นอกจากเป็นสาเหตุทำให้ป่วยและตายก่อนวัยอันควรจำนวนมากแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว อุบัติเหตุ ความรุนแรง และอาชญากรรม ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
          กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำประชาชนให้ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือ หากจำเป็นต้องดื่ม ขอให้ระมัดระวังไม่ดื่มเข้าไป รวดเดียว หรือปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
          สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ติดต่อที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร.0-2590-3342 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


pageview  1205094    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved