HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 08/08/2562 ]
โรคไขกระดูกฝ่อ อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

โรคไขกระดูกฝ่อ โรคนี้ได้ยินชื่อไม่บ่อย แต่ควรรู้จักเอาไว้หน่อย หากมีอาการเข้าข่ายจะได้ไปตรวจวินิจฉัยและรักษาทันก่อนจะอันตราย เพราะโรคนี้เป็นโรคที่อันตรายถึงขั้นทำให้หัวใจ ล้มเหลวเลยทีเดียว
          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า โรคไขกระดูกฝ่อเป็นโรคที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาโลหิตจาง เลือดออก เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ และติดเชื้อโรคง่าย เนื่องจากเม็ดเลือดขาวต่ำ
          ในประเทศไทยพบอัตราการเกิดโรค 4 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี พบบ่อยในช่วงอายุ 15-25 ปี และมากกว่า 60 ปี โดยเพศชายและหญิงพบได้ในอัตราที่เท่า ๆ กัน ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่อาจเกิดได้จากโรคทางพันธุกรรม หรือสาเหตุจากปัจจัยที่เกิดภายหลัง ได้แก่ การรับปริมาณรังสีในขนาดสูง ยาเคมีบำบัด สารเบนซินและยาบางชนิด เช่น ยาแก้ข้ออักเสบ ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะไวรัสตับอักเสบ
          อาการของโรคนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเนื่องจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง ลดลง ถ้าเม็ดเลือดแดงในร่างกายต่ำมากจะมีอาการอ่อนเพลีย หอบและเหนื่อยง่าย หากซีดมากอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การสร้างเกล็ดเลือดลดลงจะทำให้ผู้ป่วยมีจุดเลือดออกตามตัว มีเลือดออกในช่องปาก ในเพศหญิงอาจมีประจำเดือนมากกว่าปกติ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
          ด้านนายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดของผู้ป่วยลดลงต่ำมาก การทำงานของไขกระดูกพบเซลล์ปกติของไขกระดูกลดลงมาก และมีเซลล์ไขมัน
          การรักษาโรคนี้ทำโดยการให้เลือดและรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยให้ เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยที่มีภาวะซีดร่วมกับมีอาการเหนื่อยจากโรคโลหิตจาง และให้เกล็ดเลือดถ้ามีเลือดออกร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000/ล. และการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ซึ่งจะเลือกวิธีนี้ในกรณีที่โรคมีความรุนแรงและ ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี นอกจากนี้ อาจให้ ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่โรครุนแรงไม่สามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เม็ดโลหิตได้ หรือให้ฮอร์โมนเพศชายในผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดไม่รุนแรง
          รู้อาการของโรคกันไปแล้ว ต้องหมั่นสังเกตตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี ๆ


pageview  1205119    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved