HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 29/04/2562 ]
ผู้หญิงเอเชีย เนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่นสูง เสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าปกติ

 ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง โดยพบในผู้หญิงมากกว่า 2 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งสอดคล้องกับในประเทศไทยที่มะเร็งเต้านมเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่สร้างภาระให้แก่ภาคสาธารณสุข และเป็นมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ในปี 2560 มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 38.73% ของโรคมะเร็งทั้งหมดที่พบในผู้หญิง และคาดการณ์ว่าจะคงอยู่ในอันดับ 1 ไปจนถึงปี 2568
          ปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม คือ ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมที่ยิ่งมีความหนาแน่นสูงก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง
          เต้านมของคนเราประกอบด้วยไขมันและเนื้อเยื่อเต้านม ความหนาแน่น เนื้อเยื่อเต้านมสูงหมายถึงการที่เต้านมมีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเต้านม มากกว่า 50% ซึ่งพบมากในผู้หญิงเอเชีย การมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูง นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้แล้ว เนื้อเยื่อเต้านมที่สูงนี้อาจลดความแม่นยำของการตรวจเมโมแกรมได้
          ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม ไม่สามารถระบุได้โดยการคลำตรวจหรือโดยดูรูปร่างภายนอกของเต้านม แต่สามารถระบุได้จากการตรวจด้วยเมโมแกรม แม้ว่าการทำเมโมแกรมจะเป็นการตรวจมาตรฐาน แต่ในผู้ที่มีเนื้อเยื่อเต้านมที่มีความหนาแน่นสูง จะทำให้ความไวในการตรวจเมโมแกรมลดลง
          นายแพทย์เฉลิมเดช กรรณวัฒน์ รังสีแพทย์ ศูนย์ถันยรักษ์ ให้ข้อมูล ว่า การคัดกรองหามะเร็งเต้านม วิธีที่เป็นมาตรฐาน คือ การตรวจด้วย เมโมแกรม อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยมักจะมีความหนาแน่นเนื้อเยื่อ เต้านมสูง ทำให้ลดความแม่นยำของการตรวจด้วยเมโมแกรม แพทย์จึงมักจะตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ควบคู่ไปกับเมโมแกรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้น ๆ
          การตรวจหามะเร็งเต้านมให้พบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ผลการรักษาดีกว่า มีทางเลือกในการรักษามากกว่า อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า เช่น หากมะเร็งเกิดอยู่ในบริเวณเต้านมเท่านั้น ไม่ได้ลามไปที่อื่น อัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปีจะมากกว่า 92% แต่หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง อัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปี จะลดลงเหลือ 84% และหากมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปี จะเหลืออยู่เพียง 27% เท่านั้น ดังนั้น จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตอนอายุ 40 ปี หลังจากนั้น ให้ตรวจเป็นประจำทุกปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ
          นายแพทย์เฉลิมเดชปิดท้ายว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเสียชีวิต จากมะเร็งเต้านมยังคงสูงในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ คือ การวินิจฉัยโรคที่ช้าเกินไป ผู้หญิงทุกคนจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้


pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved