HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 22/02/2555 ]
พัฒนาการเด็กไทยถดถอยประชากรอนาคตไร้คุณภาพ 
          ดวงกมล สจิรวัฒนากุล
          
          เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เป็นคำขวัญที่สะท้อนข้อเท็จจริงของสังคม เพราะหากเด็กไทยมีการเจริญเติบโตที่ดี พัฒนาการอย่างสมบูรณ์และสมวัย หมายถึง ประชากรของประเทศในอนาคตย่อมมีคุณภาพ 
          จากข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าแต่ละปีจำนวนเด็กเกิดใหม่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางเดียว เฉลี่ยอยู่ที่ 1% ต่อปี โดยเมื่อ 30 ปีแล้ว อัตราเด็กเกิดใหม่ของไทยอยู่ที่หลักล้านคนต่อปี ต่อมาลดลงมาอยู่ที่ 8 แสนคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ราว 7 แสนคนต่อปี ดังนั้น ในแต่ละปีเด็กเกิดใหม่ลดลงประมาณ 7,000 คนต่อปี และอีก 10 ปีข้างหน้า อัตราเด็กเกิดใหม่จะลงไปอยู่ที่ 6 แสนคนต่อปี 
          นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ระบุว่า ข้อมูลตัวเลขเด็กเกิดใหม่เป็นสิ่งน่ากังวล เพราะปัจจุบันวัยทำงานต้องรับภาระดูแลวัยพึ่งพิงอยู่ที่ 1 : 1 คน โดยมีเด็กและผู้สูงอายุประมาณ 30 ล้านคน ส่งผลให้ในอนาคตเด็กรุ่นหลังเกิดใหม่ขณะนี้ต้องรับภาระดูแลวัยพึ่งพิงมากขึ้น โดยเฉพาะจำนวนผู้สูงอายุอาจสูงถึงอัตรา 1 : 2 
          อนาคตคนวัยทำงาน 1 คน ต้องดูแลวัยพึ่งพิงถึง 2 คน เด็กรุ่นเกิดใหม่จึงต้องทำงานเก่งกว่าคนยุคปัจจุบันเป็น 2 เท่า 
          ตอนนี้เรา 1 คน จ่ายภาษีให้รัฐบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุและเด็กในสัดส่วน 1 : 1 คน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กรุ่นหลัง ต่อไปเขาต้องรับภาระมากขึ้น ทำงานมากกว่าเราเป็น 2 เท่า เพื่อเลี้ยงวัยพึ่งพิง 2 คน ไม่เช่นนั้นรัฐบาลไม่มีภาษีมาอุดหนุนสวัสดิการดูแล นพ.ยศกล่าว 
          ทั้งนี้ ภาพรวมเด็กไทยเกิดใหม่กำลังมีปัญหาคุณภาพอย่างมาก ทั้งด้านสติปัญญาและการพัฒนาการ ซึ่งที่ผ่านมา แม้แต่องค์กรยูนิเซฟได้แสดงความวิตกกังวลต่อคุณภาพของเด็กไทย โดยเฉพาะปัญหาไอคิวที่ลดลง และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทยถึง 2 ครั้ง ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อหารือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการดูแลตั้งแต่ในครรภ์ รวมไปถึงแนวทางการเลี้ยงดูเด็กที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาการขาดสารอาหาร เพราะปัจจุบันพ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้านไม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตนเอง ศูนย์เด็กเล็กจึงทำหน้าที่แทน 
          ปัจจุบันศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 23,000 แห่ง ในจำนวนนี้ 20,000 แห่ง ดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอีก 3,000 แห่งดูแลโดยหน่วยงานอื่น ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์เด็กเล็กประสบปัญหางบประมาณ จึงกระทบต่อคุณภาพนมและอาหารของเด็กในศูนย์ โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางของเด็กๆ ที่ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีประมูลอาหารกลางวันแทน ซึ่งการประมูลต้องราคาถูกที่สุด ดังนั้น ย่อมส่งผลต่อคุณภาพอาหารแน่นอน 
          นพ.ยศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการติดตามการเติบโตของเด็กไทย เดิมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นหน่วยงานดูแลพัฒนาการเติบโตของเด็ก โดยมีสมุดพกประจำตัวสีชมพูคอยจดบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับตัวเด็กทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง และการรับวัคซีน ซึ่งหากเด็กมีปัญหาอะไรก็จะได้รับการแก้ไขทันที แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วเพราะการบริหารศูนย์เด็กเล็กอยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้ง สธ.ยังไม่มีอำนาจสั่งการ ดังนั้น เวลาที่เด็กคนใดขาดสารอาหารจึงไม่มีใครรู้ แต่จะทราบต่อเมื่อมีการสำรวจข้อมูลทั่วประเทศ ซึ่งก็ไม่สามารถลงแก้ไขปัญหารายคนได้ เพราะเป็นการสำรวจในภาพรวม 
          โดยขณะนี้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพได้ร่วมมือกับกรมอนามัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ โครงการวิจัยอนาคตไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก 0-5 ปี เพื่อแก้ไขสาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการของเด็กไทย 
          พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทีมคณะนักวิจัย กล่าวว่า การเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การควบคุมอารมณ์ รวมทั้งทักษะด้านภาษาและสังคม ช่วงอายุ 0-5 ปี เป็นต้นทุนสำคัญการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการวางโครงสร้างการดูแลสุขภาวะของแม่และเด็ก อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา หรือไต้หวัน ไทยจึงควรศึกษาตัวอย่างดีๆ มาพัฒนานโยบายสร้างเสริมสุขภาวะและป้องกันโรคของคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ 
          พญ.ลัดดา กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่บั่นทอนคุณภาพเด็กไทยเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยมีหลายปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไข ตั้งแต่การตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยเฉพาะปัญหาพ่อแม่วัยรุ่น เพราะเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น มีแนวโน้มน้ำหนักน้อย เกิดก่อนกำหนด อีกทั้งพ่อแม่ยังประสบปัญหาชีวิตรอบด้าน ไม่มีเวลาและขาดทักษะในการเลี้ยงดู เด็กที่เกิดมาจึงเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการไม่สมบูรณ์และปัญหาสุขภาพในระยะยาว 
          การคัดกรองความผิดปกติของเด็กในครรภ์และแรกคลอด แม้จะมีการกำหนดเป็นบริการมาตรฐาน แต่การดำเนินงานยังไม่ครอบคลุม ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยเกิดมาพร้อมกับการเป็นโรคโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย) โรคเอ๋อ (ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน) และดาวน์ซินโดรม ทั้งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองแต่แรก 
          ส่วนปัญหาเด็กจำนวนมากมีความผิดปกติด้านการได้ยินและมองเห็น โดยที่ไม่ทราบเลยว่าสิ่งเหล่านี้ คือ ความผิดปกติ เพราะรัฐไม่จัดบริการตรวจค้นหาปัญหาเหล่านี้ ปัญหาคุณภาพของศูนย์เด็กเล็ก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโภชนาการไม่เหมาะสม มีทั้งขาดและเกิน โดยเฉพาะโรคอ้วนที่พบมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง 
          ร่วมระดมสมองหาแนวทางสร้างเสริมสุขภาวะเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเข้าโรงเรียนอนุบาล ที่เป็นวัย 0-5 ปี เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพประชากรของประเทศไทยในอนาคต กับผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ 
          เชิญร่วมหาทางสร้างอนาคตของเด็กเพื่ออนาคตของชาติ...
          "อนาคตคนวัยทำงานต้องดูแลวัยพึ่งพิง 1 : 2 เด็กรุ่นเกิดใหม่จึงจำเป็นต้องทำงานเก่งกว่าคนยุคปัจจุบันเป็น 2 เท่า"

pageview  1204999    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved