HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 05/03/2555 ]
โรคพิษสุนัขบ้า...ไม่ได้บ้าแค่สุนัข

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

          ช่วงนี้เราคงจะได้ยินข่าวเรื่องของสุนัขบ้าที่ระบาดอยู่ทั่วกรุง จนทำให้หลายๆ คนรู้สึกหวาดระแวงเมื่อมีสุนัขจรจัดเข้าใกล้ๆ
          แต่เชื่อไหมคะว่า พิษสุนัขบ้า นอกจากจะติดจากสุนัขแล้ว เจ้าสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักรอบๆ ตัวเรา เช่น แมว หนูแฮมสเตอร์ กระรอก กระต่าย ก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าให้กับเราและคนที่เรารักได้เช่นกัน
          โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากอะไร
          มันเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ (Rabies virus) เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนหรือสัตว์ก็ตาม เชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมองและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการอย่างรวดเร็วจนทำให้เสียชีวิตได้ และที่น่ากลัวที่สุดคือปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษา คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 100%
          เนื่องจากคนไทยเรียกโรคนี้ว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นเหตุให้เรามักระวังแค่สุนัขเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แมว หนู กระต่าย กระรอก กระแต ลิง ชะนี วัว ควาย ค้างคาว เป็นต้น โดยทั้งหมดส่งต่อเชื้อผ่านทางน้ำลายด้วยการกัด เลีย หรือน้ำลายกระเด็นโดนได้เช่นเดียวกับสุนัข
          วิธีสังเกตอาการของสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
          สัตว์ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า มักมีอาการหลัก 2 ประเภท คือ 1.ประเภทดุร้าย เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด จะดุร้าย พยายามไล่กัดคนหรือสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง หากโดนกักขัง อาจกัดโซ่ กัดกรง อย่างเกรี้ยวกราดจนฟันหัก ลิ้นเป็นแผลและมีเลือดออก อาการดุร้ายจะเกิดขึ้นเพียง 2-3 วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆ อ่อนเพลีย ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด
          2. ประเภทเซื่องซึม สังเกตอาการได้ยากมาก แต่จะปากอ้าไม่ยอมหุบ ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกมานอกปาก อาจลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ หรือกินของแปลกๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือกินปัสสาวะของตัวเอง
          ทำอย่างไรเมื่อถูกกัด
          หลักที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ เมื่อถูกกัดไม่ว่าแผลจะใหญ่หรือเล็ก แค่รอยข่วน รอยช้ำเขียว หรือแค่ถูกเลียก็ตาม หากไม่แน่ใจว่าสัตว์ตัวนั้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้วหรือยัง ให้คิดไว้ก่อนเสมอว่าเป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ 
          1. รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกแผลด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เพื่อล้างเลือดและน้ำลายของสัตว์ออกจากแผล
          2. เช็ดบริเวณรอบบริเวณรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายในวันนั้นทันที 
          3. หากเป็นไปได้ ให้จับสัตว์ตัวนั้นขังกรง และเฝ้าสังเกตอาการของสัตว์อย่างน้อย 10-15 วัน ระหว่างนั้นหากสัตว์ตัวนั้นตาย ให้นำซากมาตรวจพิสูจน์เชื้อ โดยควรส่งให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอหรือติดต่อสอบถาม ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์
          4. หากเป็นสัตว์จรจัดหรือสัตว์ป่า ไม่จำเป็นต้องติดตามหาสัตว์นั้น แต่ผู้ถูกกัดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที
          หากปล่อยไว้ ไม่ฉีดวัคซีน
          ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ ใน 2-3 วันแรก คันหรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้งๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว จากนั้นจะค่อยๆ มีอาการทางระบบประสาท เช่น ตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กลัวเสียงดัง กลืนน้ำลำบากและเจ็บมากเวลากลืน เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนเกิดอาการเกร็งตัว มักบ้วนน้ำทิ้ง เป็นที่มาของคำว่า โรคกลัวน้ำ
          ผู้ป่วยจะน้ำลายไหลมาก ต้องบ้วนทิ้ง อาละวาด เอะอะ และจะค่อยๆ เซื่องซึมลง ชัก เป็นอัมพาต ความดันโลหิตต่ำลง ช็อกและเสียชีวิตภายใน 5-13 วันหลังจากที่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
          ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า
          แม้อาการโรคพิษสุนัขบ้าจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่โรคนี้กลับสามารถป้องกันได้ง่ายมาก โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ในชุมชน ซึ่งประเทศไทยมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนนี้ฟรีจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563

 


pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved