HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 07/03/2555 ]
ไฟป่า1.5หมื่นจุดทั่วปท.นายกฯสั่งรมต.ดูแลปัญหาหมอกควันใกล้ชิด

พื้นที่ป่าสงวนฯ มากที่สุด รองลงมาป่าอนุรักษ์และพื้นที่เกษตรกรรม
          กระทรวงทรัพยากรฯ ชี้มีพื้นที่เผาป่าทั่วประเทศสูงถึง 15,713 จุด ไฟป่าพื้นที่ป่าสงวนมากสุด ขณะที่ควันลามสงขลากระทบเที่ยวบิน ยิ่งลักษณ์ สั่ง รมต.ดูแลปัญหาหมอกควัน 9 จว.เหนือใกล้ชิด เฉลิม บินไปนั่งหัวโต๊ะดูแลใกล้ชิด 3 วัน คพ.ออก 10 มาตรการป้องกันไฟป่า ด้าน สธ.เตรียมห้องพักพิงชั่วคราวติดแอร์รับผู้ป่วยพุ่ง 5 เท่า
          กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ จังหวัดภาคเหนือ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 117.7-188.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ จังหวัดแพร่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน เชียงใหม่ และลำพูน พบฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
          ทั้งนี้ ค่าฝุ่นละอองใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา มีค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ แต่จังหวัดเชียงรายเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่มีค่าฝุ่นละอองลดลง แต่ยังคงเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน โดยดัชนีคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ
          ส่วนพื้นที่จุดไฟป่านั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานพบว่า มีการรายงานปัญหาจุดความร้อนสะสมระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2554-3 มี.ค. 2555 พบว่าพื้นที่ภาคเหนือ มีจุดไฟป่ารวม 10,482 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,959 จุด ภาคกลางและภาคตะวันออก 2,253 และภาคใต้ 19 จุด รวมทั้งหมด 15,713 จุด ซึ่งพบว่าในจำนวนการเกิดปัญหาเกิดในป่าอนุรักษ์ 25% พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 41.7% และพื้นที่เกษตรกรรม 33.30% ทั้งนี้ ไฟป่าที่เริ่มตั้งแต่ช่วง ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดจากปริมาณเชื้อเพลิงสะสมในป่ามีมาก เนื่องจากปีที่ผ่านมา มีความชื้นสูง ไฟป่าจึงน้อย
          ออก 10 มาตรการกันไฟป่า
          นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เสนอ 10 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง ดังนี้ 1. บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และผลักดันให้มีการใช้กฎระเบียบชุมชน 2. มอบหมายให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการจัดระเบียบการเผาในพื้นที่เกษตรเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่จำเป็น 3. เร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่า โดยให้เป็นภารกิจบังคับสำหรับองค์กรปกครองส่วนถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และประสานเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับชุมชนในการเฝ้าระวัง 4. ประสานสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร 5. มอบหมายให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามและควบคุมการเผาในพื้นที่ 6. แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างใกล้ชิด
          7. ให้จังหวัดติดตามสถานการณ์มลพิษหมอกควันจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ 8. ขอความร่วมมือจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเหตุไฟป่า ผ่าน 1362 9. ดำเนินโครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เชิงรุก 10. บูรณาการการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด
          ป่าไม้ แฉท้องถิ่นไม่พร้อม
          ส่วนนายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าไม่อยากโทษว่าท้องถิ่นละเลย ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมในการโอนภารกิจให้ท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ว่าแผนงานป้องกันไฟป่า อาจจะดึงกลับมาให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ดำเนินการเองร่วมกับชุมชน
          ยิ่งลักษณ์ สั่ง รมต.คุมใกล้ชิด
          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (6 มี.ค.) ได้รายงานถึงสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดเหนือที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ในที่ประชุม ครม.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยต่อกรณีเหตุหมอก-ควันที่ภาคเหนือ และให้นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับหน้าที่ดูแลประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด และได้แบ่งงานผู้ว่าฯ ทั้งหมดและให้รายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีรับทราบโดยตรง
          นายกฯ ได้กำชับให้ดูแลเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติสาธารณสุข และพระราชบัญญัติจราจรทางบก ให้บังคับใช้ให้เต็มที่ เพราะใน พ.ร.บ.จราจรทางบกระบุว่า ห้ามมีการเผาในถนนหลวง และให้ผู้ว่าฯ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้ใช้ดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจีสดา ให้ถ่ายภาพทางดาวเทียมทั้งหมดเพื่อรายงานทุกระยะ
          นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้เสนอในที่ประชุม ครม.ว่า อยากให้ประกาศมีการประกาศพื้นที่ภัยหมอกควันเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเลยจะได้หรือไม่ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะเมื่อประกาศไปแล้วจะมีความช่วยเหลืออะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงเป็นการเสนอให้ ครม.พิจารณาและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอกลับเข้ามาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (7 มี.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ลงพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อดูแลปัญหาและประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเวลา 3 วัน
          สธ.ชี้ฝุ่นยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ
          นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ ยังบอกไม่ได้ว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อใด แต่ทุกหน่วยงานก็เร่งมืออย่างเต็มที่อยู่แล้ว สำหรับการประกาศให้ 8 จังหวัดภาคเหนือเป็นพื้นที่ประสบภัยนั้น ยังไม่สามารถประกาศได้ เพราะหลายจังหวัดส่วนใหญ่เกรงว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ ยกเว้น จ.ลำพูนที่ยินดีให้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย
          ส่วนจังหวัดอื่นๆ คงต้องติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งนายกฯ ได้ฝากไว้ว่าในช่วงที่นายกฯ ไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติได้ทันที เพื่อนำงบประมาณฉุกเฉินมาใช้แก้ปัญหา
          ผู้ป่วยทางเดินหายใจเพิ่ม 5 เท่า
          นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า รายงานด้านสุขภาพของประชาชนพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่า แบ่งเป็น ผู้ป่วยโรคหอบหืด เพิ่มเป็น 14,000 ราย ผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 13,000 คน และผู้รับการรักษาผลกระทบที่ตาและการมองเห็น 1,400 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างทั่วถึงแล้ว
          เตรียมห้องพักพิงรับประกาศภัยพิบัติ
          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ โดย นพ.พรเทพ ระบุว่า ในช่วงที่มีปัญหาหมอกควัน 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบ 4 กลุ่มเสี่ยงในภาคเหนือ ประกอบด้วย กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เพิ่มมากขึ้นประมาณร้อยละ 20 โดยที่จังหวัดพะเยามีคนไข้ตาแดงเพิ่มเป็นสิบเท่าจาก 16 คน เป็น 112 คน ส่วนคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองก็เพิ่มถึง 6 เท่า
          ภาวะที่เกิดขึ้นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนรองรับผู้ป่วย โดยสั่งให้โรงพยาบาลทุกแห่งสำรองเตียงเอาไว้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมประกาศเตือนประชาชนไม่ควรออกจากบ้านหากไม่จำเป็น โดยการวัดดูหากมองเห็นเสาไฟฟ้าไม่ถึง 3 ต้น ก็ไม่ควรออกจากบ้าน
          ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือหากมีการประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การอพยพเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากหมอกควันปกคลุมทั่วทุกพื้นที่ของแต่ละจังหวัด แต่หากถึงเวลานั้นกรมควบคุมโรคได้มีแผนรับมือไว้แล้ว โดยมีการประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งให้ จัดเตรียมสถานที่พักพิงชั่วคราวสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้มาอยู่ชั่วคราวในช่วงที่มีหมอกควันมากๆ
          หมอกปกคลุมสนามบินหาดใหญ่
          กรณีมีหมอกควันปกคลุมใน อ.เมืองหาดใหญ่และ อ.คลองหอยโข่ง ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.เป็นต้นมา ล่าสุดวันนี้ ตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น. หมอกยังคงปกคลุมพื้นที่ อ.หาดใหญ่และ อ.คลองหอยโข่งหนาแน่น ทำให้เที่ยวบินจากสุวรรณภูมิมาท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ต้องล่าช้าออกไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง ในขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา ระบุว่า เป็นผลจากสภาพอากาศที่ชื้น
          นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา กล่าวว่า ได้ทำการแจ้งไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา และวันนี้ (6 มี.ค.) ก็ได้แจ้งไปอีกครั้งว่าสภาพอากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ยังคงมีหมอกปกคลุมหนาในช่วงเช้าตั้งประมาณ 06.00-08.00 น.
 


pageview  1204998    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved