HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 10/06/2556 ]
ปฐมวัย วัยแห่งต้นกำเนิดนักพัฒนา

 เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานทางการศึกษาที่แข็งแรง เพื่อพัฒนาคุณภาพของเยาวชนในระบบการศึกษาของประเทศให้มีสติปัญญา และมีอาวุธทางการศึกษา ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรที่จะผลักดันให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
          แต่นอกจากเด็กๆ ที่ก้าวเข้าสู่ระบบการศึกษาพื้นฐานแล้ว หากพิจารณาถึงประชากรวัยเด็ก จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเด็กในระดับปฐมวัย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งงานที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะในช่วงระดับปฐมวัย อันหมายถึงเด็กวัยเตาะแตะ จนถึงช่วงก่อนวัยเรียนนั้น ระดับการเจริญเติบโตของสมอง และการเรียนรู้จะอยู่ในช่วงสูงที่สุดของชีวิต
          ไม่เพียงแต่การส่งเสริมในด้านพัฒนาการสมวัย และสติปัญญาเท่านั้น การดูแลและใส่ใจด้านสุขลักษณะ และสุขภาพสำหรับเด็กน้อยๆ เหล่านี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน
          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนาในหัวข้อ "สานพลังสร้างปฐมวัยให้มีคุณภาพ" โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านสุขภาพ และด้านจิตวิทยาเด็กมาให้คำแนะนำ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นกันบนเวทีนี้ รวมทั้งให้แง่คิดที่น่าสนใจมากมายหลายประการ
          จากสถิติที่สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รวบรวมไว้ พบว่าในแต่ละปีประเทศไทยเรามีอัตราเด็กเกิดใหม่ราว 4 ล้านคน และด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ครอบครัวยุคใหม่มักจะเป็นครอบครัวเดี่ยวซึ่งทั้งพ่อ และแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ดังนั้นการดูแลเด็กเกิดใหม่เหล่านี้จึงเป็นงานของสถานรับเลี้ยงและพัฒนาเด็ก โดยในกลุ่มเด็กเล็กกว่า 4 ล้านคนนั้น เด็ก 1 ล้านคนเข้าสู่ศูนย์ดูแลเด็กเล็กเอกชน อีก 1 ล้านคนเข้าศูนย์พัฒนาเด็กของรัฐบาล ที่เหลืออีกประมาณ 2 ล้านคน มักจะอยู่ในการดูแลของครอบครัว "การสร้างคุณภาพเด็กต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ แต่ปัจจุบันมีเพียง 5-10% ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้" พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล รักษาการรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
          พร้อมทั้งอธิบายว่า จากการสำรวจประชากรทั่วประเทศ พบว่าหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้รับความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอในการดูแลสุขภาพทารกในครรภ์ และทารกแรกเกิด ทำให้เรายังพบปัญหา 2 ประการสำคัญ ที่กำลังฉุดรั้งการสร้างพัฒนาการที่ดีในเด็ก ทั้งปัญหาด้านสุขภาพอย่างเด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อย หรือมากจนเกินไป และการให้ความรู้ด้านสุขภาพ และการฉีดวัคซีนในเด็กที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งปัญหาเหล่านี้กำลังเข้าสู่กระบวนการในการพัฒนา และแก้ไขให้ดีขึ้น โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนกำลังร่วมมือกันกระจายสรรพกำลังลงพื้นที่กันอย่างขันแข็ง
          ทางด้าน นายวีระชาติ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริม การศึกษานอกระบบและพัฒนากิจกรรมเยาวชน สำนักประสาน และพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เล่าถึงการพัฒนาเด็กในระดับโรงเรียนเด็กเล็ก
          ซึ่งจากสถิติพบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยศูนย์เด็กเล็กใน สังกัดกรมฯ รองรับเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่สถานเลี้ยงเด็กอื่นๆ 20,000 แห่งทั่วประเทศ ครู 52,000 คน ดูแลเด็กประมาณ 1 ล้านคน เน้นการพัฒนา 2 เรื่อง คือ 1.พัฒนาเด็ก ให้ได้รับการพัฒนาตามวัย ในทุกด้าน และ 2.พัฒนาบุคลากร พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายครูผู้ดูแลเด็ก รวมทั้ง ตั้งศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ ให้เป็นที่ศึกษาดูงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศให้ได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน และพัฒนาระบบเยี่ยมบ้าน เพื่อเชื่อมโยงการดูแลเด็กกับครอบครัวด้วย
          ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น และเป็นความพยายามที่สะท้อนให้เราได้เห็นว่า มีผู้ใหญ่และหน่วยงานหลายแห่งที่ตระหนักถึง การพัฒนาในกลุ่มเด็กปฐมวัย และเร่งหาทางแก้ไขในจุดบกพร่อง แต่ทั้งนี้ทุกกระบวนการ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือ และ การทำงานควบคู่ไปกับสังคมรอบข้างเด็ก ทั้งผู้บริหารสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งผู้ปกครองที่จะต้องให้ความร่วมมือ
          เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้ มีความพร้อมในทุกด้าน เพื่อการเติบโตและพัฒนาในระดับการเรียนรู้ขั้นต่อไปของชีวิตด้วยเช่นกัน


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved