HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 28/05/2556 ]
7 เคล็ดลับเสริมแกร่งให้เด็กไม่หวั่น"พ่ายแพ้ และผิดหวัง"

 เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสังคมยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการแข่งขันสูงและมีแนวโน้มที่จะแข่งขันกันอย่าง เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากการสอบชิง เข้าเรียนในชั้นอนุบาลของเด็กเล็ก หรือ การเปิดรับสมัครเพื่อแข่งขันโชว์ความสามารถพิเศษของเด็กในระดับประถม-มัธยม และจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่มีความกังวล เพราะรู้ดีว่าการเลี้ยงดูลูกด้วยความรักเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะให้ลูกรักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่งทั้งร่างกาย และความคิดได้ จึงต้องอาศัย "ประสบการณ์ตรงจากโลกภายนอก" มาช่วยเพิ่มทักษะในการดำเนินชีวิตให้ลูกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การรับมือกับความพ่ายแพ้ และผิดหวัง"
          แพทย์หญิงโสรยา ชัชวาลานนท์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์ ผู้ทำหน้าที่ "จิตแพทย์ภาคสนาม" ให้กับรายการ The Voice Kids Thailand รายการน้องใหม่สัญชาติฮอลแลนด์ที่ทรูมิวสิคนำเข้ามาเฟ้นหาความสามารถด้านการร้องเพลง ของเด็กไทย แต่ไม่ลืมเรื่องความรู้สึกของ เด็กๆ ว่าเป็นสิ่งสำคัญเหนือเรตติ้ง ได้แบ่งปัน ข้อมูลว่า
          "รายการนี้เป็นรายการแรก และรายการเดียวที่มีจิตแพทย์ภาคสนามคอยดูแลอย่าง ใกล้ชิดตลอดการทำงาน "หน้าที่ของ "จิตแพทย์ภาคสนาม" ในรายการ The Voice Kids คือ ให้คำแนะนำกับทีมงาน โค้ช และพิธีกร ในการ พูดคุยกับเด็กๆ และจะเข้าไปประกบอย่าง ใกล้ชิดหากมีเคสที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่าช่วงอายุของเด็กที่เข้าแข่งขันในรายการนี้ คือ 7-14 ปี นับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับการถูกยอมรับจากผู้อื่น ทั้งยังเป็นวัยที่เริ่มสร้าง "ตัวตนหรือคาแรคเตอร์" ให้กับตัวเอง หากต้องเจอการปฏิเสธจากผู้คนรอบข้าง อาจเกิดความรู้สึกผิดหวัง และเสียความมั่นใจไปเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าเด็กได้เรียนรู้ ถึงความผิดหวังและสามารถแก้ปัญหาด้วย ตัวเองแล้ว เขาก็จะพัฒนาเป็นคนที่แข็งแกร่ง และอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย และมีความสุข เช่นกัน" สำหรับเคล็ดลับที่จะฝึกเด็กให้รับมือกับความผิดหวัง คุณหมอได้ให้คำแนะนำอย่างง่ายๆ ดังนี้
          1."ครอบครัวเข้มแข็ง คือ ที่พักพิงใจที่สำคัญ"
          เพราะครอบครัวเป็นสถาบันหลักที่ อบรมเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย สติปัญญาและเป็นที่พึ่งทางจิตใจที่สำคัญที่สุด เมื่อเด็กเจอความผิดหวัง หน้าที่ของคุณพ่อ คุณแม่ คือต้องไม่แสดงความอ่อนแอให้ลูกเห็น เช่น ร้องไห้พร้อมกับลูก เพราะยิ่งจะทำให้เด็กเสียขวัญและรู้สึกเสียใจที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมาเสียน้ำตา
          2."ภาษากาย" ความรักและความอบอุ่นที่เด็กสัมผัสได้
          เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกผิดหวัง ทำให้ไม่พร้อมที่จะรับฟังคำพูดปลอบประโลมหรือ คำอธิบายต่างๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควร หลีกเลี่ยงหรือพูดให้น้อยที่สุด แล้วหันมาใช้ "ภาษากาย" เพื่อแสดงการปลอบโยน และเข้าใจถึงความรู้สึกที่เด็กมี อาทิ การกอด เอามือ ตบไหล่หรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้นานขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าต่อให้เกิดอะไรขึ้นก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักและเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ
          3."ไม่ซ้ำ-ไม่ย้ำ-ไม่ตำหนิ"
          นอกจากคำตำหนิแล้ว คำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดให้เด็กได้ยิน เช่น น่าเสียดาย เพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะจิตใจที่แย่อยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก
          4."เป็นผู้รับฟังที่ดี"
          พยายามกระตุ้นให้เด็กได้เล่าหรืออธิบายถึงสิ่งที่ยังติดค้างในใจ เพื่อเป็นการระบายความรู้สึกที่ไม่สบายใจออกมา นอกจากนี้คุณพ่อ คุณแม่อาจถามในประเด็นที่สำคัญ และรับฟังคำตอบอย่างตั้งใจ เพราะเพียงแค่ได้เล่าออกมาให้ใครสักคนฟัง เด็กก็จะรู้สึกสบายใจขึ้น
          5."เบี่ยงเบนความสนใจจากอดีต ด้วยกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน"
          บางครั้งเด็กจะกังวลและยังจดจ่ออยู่กับความผิดหวังในอดีตที่ผ่านไปแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ควรพูดคุยและแนะนำโดยให้มองไปยังเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแทน
          6."ความพ่ายแพ้และความผิดหวัง คือเครื่องเตือนใจให้เราอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง"
          คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาอยู่กับเด็ก โดยเน้น พูดคุยถึงเรื่องดีๆ ในวันข้างหน้า เช่น อนาคต
          อยากทำอะไร รู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมานาน หรือให้เล่าประสบการณ์ดีๆ ที่ประทับใจเพื่อลดความรู้สึกในด้านลบของเด็ก
          7."ค้นหาเด็กเก่งคนใหม่... ที่ซ่อนอยู่ในลูกคนเดิม"
          คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความกังวลให้กับเด็กได้ ด้วยการดึงความสามารถด้านอื่นๆ ที่เด็กมีอยู่ออกมาอีก ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถนั้นมาทดแทนได้
          การเลี้ยงลูกในยุคที่มีการแข่งขันสูง คุณพ่อ คุณแม่รุ่นใหม่จึงต้องสร้าง "ต้นทุนชีวิต และภูมิคุ้มกันทางจิตใจ" ให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็น การทุ่มเททั้งความรักและความปรารถนาดี เปิดใจรับฟัง และทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกพูด เพื่อหล่อหลอมให้ลูกๆ ได้เจริญเติบโต และเริ่มต้นตั้งหลักชีวิตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต


pageview  1205446    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved