HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 20/05/2556 ]
เดินหน้าสู่ต้นทุนความ"ปลอดภัย"

  เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรากฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งอยู่ในธุรกิจอตุสาหกรรม มีโรงงาน และมีเงินทุนไหลเข้าประเทศเพื่อประกอบกิจการด้านการผลิตในพื้นที่ต่างๆ ของบ้านเราจำนวนไม่น้อย เป็นที่น่ายินดีว่า เงินทุน และเทคโนโลยีไม่ได้ไหลเข้ามาเพียงลำพัง แต่เรายังได้เห็นวิธีการดูแล เทคนิคการทำงานเพื่อสวัสดิภาพของกลุ่มคนงาน หรือผู้ใช้แรงงานถ่ายเทเข้ามา เป็นองค์ความรู้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการ และเจ้าของโรงงานในบ้านเราด้วยเช่นกัน
          แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า องค์ความรู้เหล่านี้กระจุกตัวอยู่เพียงในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นของชาวต่างชาติ ยังมีองค์กร และโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในบ้านเราละเลย และเพิกเฉยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย และการดูแลสุขภาพ สวัสดิภาพของพนักงาน ทั้งๆ ที่ คนกลุ่มนี้คือรากฐานที่สำคัญ เป็นฝีพายที่ช่วยขับเคลื่อนให้ระบบการผลิตเดินไปข้างหน้าได้
          บนเวทีอภิปราย เรื่อง "ต้นแบบความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ช่วยสถานประกอบกิจการได้อย่างไร?" ที่จัดขึ้นในงาน "10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" ได้มีบุคคลสำคัญด้านการสาธารณสุข และผู้บริหารของ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ร่วมกันสะท้อนแง่มุมการจัดการสถานที่ทำงานให้มีความปลอดภัย เป็นองค์กรแห่งสุขภาวะที่ดี
          ดร.ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน มาตรการด้านความปลอดภัยในเรื่องสุขภาพของพนักงานหรือลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดนั้น คือ การตรวจสุขภาพ แต่กลับพบว่า เรื่องการตรวจสุขภาพเป็นไปในแง่ของธุรกิจ และหลังจากตรวจสุขภาพแล้วยังขาดการนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพของลูกจ้าง ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกจ้างแล้วยังเป็นการเสียค่าใช้จ่ายแบบไม่คุ้มเสียอีกด้วย
          ทางด้าน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ บอกว่า สุขภาพกับการทำงานต้องไปด้วยกันเสมอ เพราะคนที่พร้อมย่อมทำงานได้ดีกว่าคนที่ไม่พร้อม สิ่งที่มีผลต่อสุขภาพมี 3 อย่าง ได้แก่ 1.สิ่งคุกคาม 2.ความเสี่ยง และ 3.อันตราย ซึ่งหัวใจสำคัญในการป้องกันคือ "การรักษาความปลอดภัย" โดยเกิดจากความรู้ และประสบการณ์จากการทำงานของคนทำงานนั่นเอง  สิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทำงานมากที่สุดโดยไม่รู้ตัวคือ "สภาพแวดล้อมในการทำงาน"
          และด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมในบ้านเรากำลังเผชิญอยู่ ทั้งในเรื่องแรงกดดันของปัญหาการขาดแคลนคน ปัญหาค่าแรงรายวัน และปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่คลี่คลาย สำนักความปลอดภัยแรงงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สสส. จึงใช้โอกาสนี้ ร่วมกัน ศึกษาประสบการณ์ และข้อเท็จจริงของความสำเร็จจากประเทศ อื่นๆ ที่มีกระบวนการการจัดการเรื่องนี้อย่างดี แล้วนำข้อมูลมาสร้าง ต้นแบบในการพัฒนา และแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป
          "แต่สิ่งที่สำคัญคือในกระบวนสร้างต้นแบบนี้จะต้องให้คนจากสถานประกอบกิจการทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทด้วยเพราะคนในพื้นที่ย่อมรู้ดีกว่าแน่นอน จึงจะถือได้ว่าเป็นการพัฒนา และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง" ดร. ชัยยุทธกล่าว
          นพ.ชาญวิทย์ กล่าวเสริมว่า ผลสำเร็จที่จะตามมาในอนาคตก็คือ เจ้าของสถานประกอบกิจการจะรู้ว่าลูกจ้างกำลังเสี่ยงกับอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขลดความเสี่ยงนั้นด้วย
          สุดท้ายแล้ว การลงทุนเพื่อดูแลเรื่องระบบมาตรฐานความปลอดภัยขององค์กร ไม่ใช่ภาระของการแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทรัพย์สิน และชีวิต ย่อมประเมินค่าไม่ได้ ต้นทุนความปลอดภัย จึงถือเป็นต้นทุน สร้างสรรค์ที่ควรส่งเสริมให้เกิดมีขึ้นในทุกๆ องค์กรนั่นเอง


pageview  1206044    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved