HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 01/04/2556 ]
ภูมิคุ้มกันในเด็ก สร้างได้ไม่ยาก

เป้าหมายในการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ มีใจความที่ระบุถึงการพัฒนาศักยภาพของเด็ก และเยาวชน ผ่านการส่งเสริม และสนับสนุนทั้งด้านการศึกษาเรียนรู้ ทั้งใน และนอกห้องเรียน
          นอกจากนั้นการสร้างเกราะคุ้มกันให้กับเด็กๆ ในเรื่องของคุณธรรม และจริยธรรม ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกในการหล่อหลอมให้เด็ก และเยาวชนมีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดีที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นแรงและกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
          เวทีการประชุมวิชาการระดับชาติ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่จัดขึ้นโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้หัวข้อ "การพัฒนาศักยภาพเด็ก และเยาวชนไทยสู่การประชาคมอาเซียน" มีการรวมตัว และ แลกเปลี่ยนความคิดของนักวิชาการ และบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานด้านเด็ก และเยาวชน และเกิดกระกระตุ้นรวมทั้ง ปลุกจิตสำนึกให้กับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ให้กันมาจริงจังกับการดูแลเด็ก และเยาวชน หน่วยของสังคมที่เราสามารถหล่อหลอมทัศนคติ และความคิดที่ถูกต้องให้กับพวกเขาได้ตั้งแต่เยาว์วัย
          นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว กล่าวถึงคอนเซปต์ในการพัฒนาศักยภาพในตัวเด็ก 3 ประการ ที่พูดถึงกันมากที่สุดในวันนี้ ได้แก่ I am, I have และ I can  ซึ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนาความรู้ความสามารถของเด็กไทยในวันนี้ และไม่เพียงแต่เด็กในเมืองเท่านั้น ที่จะต้องได้รับการพัฒนา แต่โจทย์เรื่องการสร้าง และ เสริมศักยภาพให้กับเด็กชายขอบที่ขาดโอกาส ไม่ว่าจะเป็นชายขอบ ด้านสังคม หรือในเรื่องสถานที่อยู่อาศัยในชุมชนห่างไกล ก็เป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาเด็กในบ้านเรา
          นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือไม่ การพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำกันต่อไป
          "เราอาจจะภูมิใจที่ผลักดันเรื่องสิทธิเด็กเป็นผลสำเร็จแล้ว แต่ประโยชน์ทั้งหลายยังไม่ได้ส่งผลไปถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม ยังมี เด็กอีกมากมายที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย จะต้องคิดเรื่องการพัฒนาคนในประเทศให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ภารกิจนี้เป็นของพวกเราคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ" อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
          ทางด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) กล่าวว่า การตอบโจทย์โลกในอนาคต ให้เด็กผู้เป็นอนาคตของเรานั้น ต้องตอบโจทย์ให้ได้อย่างน้อย 3 เรื่อง
          "Hope จะทำอย่างไรให้เด็กๆ มีความหวัง Happiness จะทำอย่างไรให้เด็กๆ มีความความสุข และ Harmony จะทำอย่างไรให้เด็กๆ อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างเป็นปกติ แม้มีความเห็นต่าง"
          โดยทั้ง 3 คำถามนั้น ผู้อำนวยการ SIGA ได้ให้คำตอบไว้ว่ามี 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ 1.การสอนให้เด็กคิดเป็น (Head) 2.รับมือได้ (Hand) และ 3.มีหัวใจที่เคารพผู้อื่นและตนเอง (Heart) อันจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่ดีได้ในที่สุด ดังนั้น ในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพเด็กจึงขึ้นอยู่กับว่าจะนำวิธีนี้ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร เวทีเสวนาทางวิชาการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ใหญ่หันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมทั้งศีลธรรมให้เกิดขึ้นกับเด็ก เพราะท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เปิดกว้างมากขึ้น เราไม่สามารถจำกัดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็กๆให้อยู่ในกรอบแห่งความเรียบร้อย และกรอบแห่งความเข้มงวดทางวัฒนธรรมได้เหมือนสมัยก่อน แต่การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กๆ จะเป็นเกราะที่ทำให้อนาคตของชาติตัวน้อยๆเหล่านี้มีจิตสำนึกที่ดี ใฝ่ดี และรักการเรียนรู้ซึ่งถือเป็นสุดยอดปรารถนาในการสร้างภูมิคุ้มกันในชีวิตให้กับพวกเขานั่นเอง


pageview  1205878    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved