HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 25/03/2556 ]
เมื่อคนไทยจะต้องจูงใจให้มีลูกมากขึ้น

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   pasu@acc.chula.ac.th
          เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาผมได้ฟังข่าวเล็กๆ แต่น่าสนใจจากสำนักข่าวไทย โดยเป็น การสัมภาษณ์ของคุณสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่กำลังจัดทำแผนสร้างประชากรสมดุล เพื่อกระตุ้นให้คนที่อยู่ในวัยที่สมควรแต่งงาน มีลูกสืบสกุล หลังจากพบปัญหาที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมสูงวัย เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนขึ้น อัตราการแต่งงานน้อยลง เป็นโสดมากขึ้น และทำให้ไทยขาดประชากรในวันทำงานในอนาคต
          ปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยในอนาคตไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมหน่วยงานภาครัฐถึงเพิ่งทำแผนงานเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะเป็นปัญหาระยะยาว (20 ปีข้างหน้า) ทำให้นักการเมืองหรือผู้บริหารมีความรู้สึกว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นตนเองก็ไม่อยู่แล้ว หรือ อาจจะมีเรื่องอื่นที่จำเป็นกว่าก็เป็นได้ครับ
          ก่อนที่จะไปดูปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่เมืองไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้น ผมชวนท่านผู้อ่านไปดูตัวเลข สถิติเกี่ยวกับประชากรที่ผมได้มาจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันนะครับ เริ่มจากอัตราการเจริญพันธุ์หรือถ้าภาษาง่ายๆ ก็คือพ่อหนึ่งคนและแม่หนึ่งคนควรจะมีลูกกี่คน ซึ่งตัวเลขที่เหมาะสมนั้น ควรจะเป็น 2 กว่าๆ ครับ (ค่าเฉลี่ยนะครับ) เพื่อทดแทนพ่อแม่ที่จะตายจากไป แต่ของไทยนั้นปัจจุบันอยู่ประมาณ 1.5 และในอนาคตจะตกไปเหลือ 1.35 (ปี 2568-2573) ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขปัจจุบันแล้ว อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (2.6) หรือ ค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนา (2.4)
          คำถามสำคัญก็คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวมีลูกน้อยลง? ซึ่งถ้าตอบแบบง่ายๆ ก็คือวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปนั้นเองครับ มาลองดูตัวเลขสถิติกันต่อครับอัตราส่วนของคู่สมรสที่ไม่มีบุตร (Double Income No Kid) นั้นเพิ่มจาก 11.2% ในปี 2542 เป็น 14.4% ในปี 2551 ในขณะที่ตัวเลขของอัตราการสมรสของคนไทยนั้นลดลงจาก 28.5 คนต่อพันคน ในปี 2539 เหลือ 15.6 คนต่อพันคน ในปี 2551 เรียกได้ว่าในช่วงเวลาไม่ถึงยี่สิบปีคนไทยที่แต่งงานลดลงถึงเกือบครึ่ง ส่วนอัตราการหย่าร้างก็เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ต่อพัน ในปี 2539 เป็น 5.3 ต่อพันในปี 2551
          ท่านผู้อ่านดูตัวเลขสถิติแล้ว ลองมองไปรอบๆ ตัว ก็คงจะไม่แปลกใจหรอกนะครับถึงที่มาของตัวเลขเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีรายงานจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ มาด้วยว่า นอกเหนือจากอัตราการสมรสที่ลดน้อยลงแล้ว อายุแรกสมรสก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การเลื่อนระยะเวลาที่จะมีบุตรนานออกไป และส่งผลให้อายุเฉลี่ยของการมีบุตรคนแรกเพิ่มสูงขึ้น(ทำให้มีบุตรน้อย) นอกจากนี้สิ่งที่เราพบมากขึ้นคือภาวะของการไม่สามารถมีบุตรได้ของคู่สมรสก็เพิ่มขึ้น (แต่ก็ไม่แน่เสมอไปนะครับ เพื่อนรุ่นเดียวกับผมหลายคนเพิ่งคลอดลูกหรือเพิ่งตั้งครรภ์ก็มีครับ)
          จากข้อมูลสถิติเหล่านี้ ประกอบกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น และความใส่ใจในการดูแลสุขภาพที่มีมากขึ้น ทำให้เป็นเรื่องที่แน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งผมมองว่าส่งผลกระทบในสองด้านหลักๆ ครับ ทั้งในส่วนของผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้น และ ประชากรในวัยทำงานที่ลดน้อยลง
          การที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น ส่งผลทั้งต่อเรื่องของโครงสร้างและระบบการรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุของประเทศ รวมถึงผู้สูงอายุสายพันธุ์ใหม่ที่ยังพร้อมและสามารถที่จะทำงานได้หลังเกษียณอายุที่ 60 น่าสนใจว่าถ้าเราไม่เลื่อนอายุเกษียณออกไปหลังจากที่ผู้สูงวัยเกษียณที่ 60 แล้วจะให้ท่านทำอะไรอีก 10-20 ปี (ถ้าอยู่ถึง 80) ยิ่งระบบการออม ระบบบำนาญ ฯลฯ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนไป
          นอกจากฝั่งผู้สูงอายุแล้ว ฝั่งวัยทำงานก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าประชากรวัยทำงานของไทยลดลง ประเทศไทยในอนาคตจะมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมใด? การขาดแคลนคนทำงาน จะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย? ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่จะทวีมากขึ้น? และที่สำคัญคือใครจะเป็นคนสร้างรายได้ให้กับประเทศ?
          ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาระยะยาวทั้งสิ้นนะครับ และเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากยังคงอยู่เผชิญปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น ถึงแม้จะเริ่มช้าไปบ้างแต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐจะหันมาให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะเห็นว่าจะถึงขั้นมีมาตรการจูงใจให้คนไทยมีลูกมากขึ้น (คล้ายๆ กับที่สิงคโปร์เขาทำกัน) ก็เพียงแต่หวังว่าแผนสร้างประชากรสมดุลที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นจะได้รับการเหลียวแลและนำไปปฏิบัติจากท่านผู้มีอำนาจหน้าที่นะครับ


pageview  1205889    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved