HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 12/03/2556 ]
ดูแลกระดูกคอไม่ให้เสื่อมก่อนวัยกันเถอะ

โรคคอเสื่อม จัดเป็นโรคกระดูกที่เป็นกันมากขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่พฤติกรรมการใช้คอที่ผิดก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสื่อมได้เร็วขึ้น แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะเราสามารถชะลอความเสื่อมไม่ให้เกิดขึ้นเร็วเกินไปได้
          นาวาอากาศตรีนายแพทย์ชัยพฤกษ์ ปั้นดี ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วความเสื่อมของโรคกระดูกและค้อมักจะเกิดได้ที่เนื้อกระดูก และข้อต่อ หากเกิดความเสื่อมที่เนื้อกระดูกจะทำให้เป็นภาวะกระดูกบาง และพรุน แต่หากเกิดที่ข้อต่อจะเรียกว่า "ข้อเสื่อม" ซึ่งในส่วนของความเสื่อมที่กระดูกคอมักจะเกิดขึ้นบริเวณหมอนรองกระดูกคอ และข้อตอคอที่อยู่ด้านหลังเพราะทั้งสองส่วนทำหน้าที่ช่วยให้คอสามารถเครื่อนไหวได้แบบ 3 ทิศทาง ทั้งก้ม-เงย เอียงคอ และหมุนคอ หากเราใช้ผิดวิธี เช่นก้ม หรือ เงย นานเกินไป โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ก็จะทำให้เกิดความเสื่อมเร็วขึ้น         
          ดังนั้น เพื่อไม่ให้หมอนรองกระดูก และข้อต่อกระดูกคอเกิดการเสื่อมวัยก่อนอันควร นาวาอากาศตรีนายแพทย์ชัยพฤกษ์ แนะนำว่า อย่างแรกเลยคนทำงานนั่งโต๊ะโดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศ ควรจะเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1 ชั่วโมง เช่น นั่งทำงาน 1 ชั่งโมง ให้ลุกขึ้นเดิน 1 นาที แล้วค่อยนั่งมาทำงานต่อ
          ต่อมาควรหาเวลาออกกำลังการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามบริเวณรอบๆ คอ ซึ่งมีท่าการออกกำลังกายทั้งท่าก้ม-เงย เอียงคอ หมุนคอ ซ้าย-ขวา โดยใช้วิธีการออกแรงต้านเรียกการออกกำลังกายแบบนี้ว่า "แบบเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ" (Isometric Exercise) และการออกกำลังกายแบบเหยียดกล้ามเนื้อ 3ทิศทาง เช่น หมุน ก้ม เงย เรียกว่า " การออกกำลังกายแบบเหยียดกล้ามเนื้อ" (Stretching Exercise)
          แต่หากมีอาการปวดคอมากๆ แนะนำให้ใส่อุปกรณ์พยุงคอระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ รวมทั้งการทำกายภายบำบัด เช่น ประคบร้อนบริเวณที่มีกล้ามเนื้อหดเกร็ง การเหยียดกล้ามเนื้อโดยนักกายภาพบำบัด นอกจากนั้นแนะนำให้ออกกำลังกายอื่นๆ เพิ่ม เช่น การว่ายน้ำ การทำโยคะเพื่อช่วยยืดกล้ามเนื้อ และสร้างสมดุลของคอ (Neck Balance) เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อรอบๆ คอ และไหล่ รวมถึงเพิ่มระดับความทนต่อความเจ็บปวดได้ดีขึ้น
          นาวาอากาศตรีนายแพทย์ชัยพฤกษ์ กล่าวต่ออีกว่าสำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรัง มีปวดร้าวลงหัวไหล่ แขนและมือ หรือมีอาการชา อ่อนแรงร่วมด้วย โดยไม่ทราบสาเหตุมาก่อน แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทานยา การทำกายภาพบำบัดฉีดยา ต้านการอักเสบเหนือเส้นประสาท (Sekective Nerve Root Black-SNRB) หรือ ฉีดยาต้านการอักเสบเข้าไปที่โพรงประสาท (Epidural Spinal Injection-ESI) หรือผ่าตัดในรายทีมีข้อบ่งชี้ซึ่งปัจจุบันมีวิวัฒนาการไปมากแล้ว ทำให้เนื้อเยื่อรอบแผลผ่าตัดบอบซ้ำน้อย ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติเร็วขึ้น
          ถึงเวลาที่ทุกท่านควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ "คอ-บ่า-ไหล่" ของตัวเองกันได้แล้ว เพื่อให้ห่างไกลโรคกระดูกคอเสื่อม


pageview  1205424    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved