HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 18/02/2556 ]
ขนมปังอายุยืน คนกินเสี่ยงอายุสั้น

ขนมปังและเบเกอรี่ต่างๆ นอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบของคนยุคนี้แล้ว ยังเป็นทางเลือกในการประทังความหิวในวันที่รีบเร่งหรือยามเดินทาง
          ทุกวันนี้ร้านสะดวกซื้อต่างๆ มักมีขนมปังหลากรูปแบบหลายรสชาติมาให้ผู้บริโภคเลือกตามความพึงพอใจ แต่ด้วยข้อจำกัดของเบเกอรี่ ในร้านเหล่านี้ที่ต้องผ่านการขนส่ง และนำมาวางขายได้หลายวัน ทำให้สารกันบูดกลายเป็น สิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้ว่าบางชนิดจะอ้างว่าไม่ใช้วัตถุกันเสียก็ตาม
          ล่าสุดศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน ภายใต้ การสนับสนุนของแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดเผยผลทดสอบสารกันบูดในขนมปัง-เค้ก พร้อมบริโภค จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง
          พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า 1 ใน 3 ของตัวอย่าง ทั้งหมดมีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐานไทย (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร) และค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ซึ่งหากรับประทาน บ่อยๆ อาจเป็นภาระต่อระบบขับถ่าย และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคไตได้
          พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ กล่าวว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 ทางโครงการได้ร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สุ่มซื้อขนมอบพร้อมบริโภค ทั้ง ขนมปัง และเค้กยี่ห้อต่างๆ จาก ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากกำกับว่า "ใช้วัตถุกันเสีย" 8 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ระบุว่า "ไม่ใช้วัตถุกันเสีย" 1 ตัวอย่าง และ ตัวอย่างที่ฉลากไม่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ 5 ตัวอย่าง แล้วส่งทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อหาสารกันบูดที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propio nic Acid)
          ผลการทดสอบพบว่า 1 ใน 3 (5 ตัวอย่าง) มีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐานทั้งค่ามาตรฐานอาหารของไทยและค่ามาตรฐานอาหารสากล ได้แก่ ขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery ที่ปริมาณรวม 1,656 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.), เค้กโรลวนิลา sun merry ที่ปริมาณ 1,583 มก./กก., ขนมปังแซนวิช Tesco ที่ปริมาณรวม 1,279 มก./กก. , ขนมปังไส้เผือก เอพลัส ที่ปริมาณรวม 1,274 มก./กก., และขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์ ที่ปริมาณรวม 1,195 มก./กก. อีกทั้งยังพบว่าหนึ่งในตัวอย่างที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน (ขนมปังแซนวิชตราเทสโก้) มีการแสดงฉลากลวง โดยอ้างว่า "ไม่ใช้ วัตถุกันเสีย" บนฉลาก ทั้งนี้ตัวอย่างเกือบทั้งหมดที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (3) เรื่องอาหารผิดมาตรฐานมีบทลงโทษตามมาตรา 60 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ขณะที่มีหนึ่งตัวอย่างคือ ขนมปังแซนวิช Tesco ที่เข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 25 (2) เรื่องอาหารปลอม มีบทลงโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท
          นอกจากนี้ พชร ยังตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่ ของสินค้าที่นำมาทดสอบเป็นตัวอย่างที่ระบุบนฉลากว่า "ใช้วัตถุกันเสีย" และเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมาย อย. และเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ซึ่งควรเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ก็พบว่า มีถึง 3 ตัวอย่าง (จาก 8 ตัวอย่าง) ที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งยังพบการใช้สารกันบูดหลายชนิดร่วมกันอีกหลายตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งเป็นไปตามมาตรฐาน และสูงกว่าค่ามาตรฐานซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล
          "อย. ควรมีการทบทวนเรื่องการออกใบอนุญาต และต่ออายุใบอนุญาต โดยนำข้อมูลการกระทำความผิดมาประกอบการพิจารณา สำหรับการแสดงข้อมูลบนฉลากอาจจะมีการใช้วิธีการเดียวกับวัตถุปรุงแต่งรสอาหารคือกำหนดให้ระบุว่า "ใช้ .เป็นวัตถุกันเสีย" บนส่วนประกอบเพื่อแสดงความโปร่งใส และเป็นการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาให้กับ ผู้บริโภค อีกทั้งควรดำเนินการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้เกี่ยวกับการใช้วัตถุกันเสียอย่างถูกต้องและเหมาะสม" พชร กล่าว ขณะเดียวกัน ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัตถุกันเสียทั้ง 3 ชนิด ที่ทดสอบเป็นสารเคมีที่อุตสาหกรรมนิยมใช้ แต่ละตัวมีหน้าที่ในการยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหารแต่มีฤทธิ์ต่างกัน บางตัวเหมาะสมกับการยับยั้งแบคทีเรีย บางตัวเหมาะกับการยับยั้งเชื้อรา การใช้ให้เหมาะสมถูกต้องกับวัตถุประสงค์จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เมื่อจัดลำดับโดยความเป็นพิษต่อร่างกาย กรดเบนโซอิคจะมีความเป็นพิษสูงสุด ตามมาด้วยกรดซอร์บิคและกรดโปรปิโอนิค ซึ่งแม้ว่าร่างกายจะสามารถขับถ่ายสารเคมีทั้งสามตัวออกได้เองเมื่อมีการบริโภค แต่หากมีการรับประทานเข้าไปในปริมาณที่เกินกว่าค่าสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวัน (ADI) อย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน และอาจนำมาซึ่งการเพิ่ม ความเสี่ยงของโรคไตอันเนื่องมาจากการที่ไตต้องทำงานหนักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้
          อย่างไรก็ตาม หัวหน้าศูนย์ทดสอบ ฉลาดซื้อ ให้คำแนะนำในการเลือกซื้อขนมอบ (เบเกอรี่) ว่า หากเป็นเบเกอรี่จากระบบอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยงจากการใช้สารกันบูดสูงกว่าการซื้อจากร้านเบเกอรี่แบบทำวันต่อวัน ดังนั้นการเลือกซื้อเบเกอรี่พร้อมบริโภค ให้เลือกซื้อจากร้านเบเกอรี่ที่ทำสดวันต่อวันจะดีกว่าเลือกซื้อเบเกอรี่ที่อยู่ในซอง หรือถ้ายังชื่นชอบความสะดวกของเบเกอรี่แบบซอง ไม่แนะนำให้บริโภคต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกวัน เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงเรื่องสารกันบูดแล้วยังมีความเสี่ยงจากโซเดียมซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลัก (ผงฟู) อันอาจนำมาซึ่งโรคไตได้อีกด้วย
          รู้อย่างนี้แล้ว...คราวหน้าหากจะมองหาขนมปังที่เก็บไว้ได้นานๆ ควรเปลี่ยนมาเป็นขนม ที่ทำสดใหม่ไม่ใส่สารกันเสียจะดีกว่า


pageview  1205855    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved