HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 11/02/2556 ]
ไทยท้องวัยเรียนพุ่งอันดับ1เอเซีย

 ชี้หลักสูตรการศึกษา ล้มเหลว เด็กขาดทักษะดาเนินชีวิต
          ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เผยสถิติเด็กท้องในวัยเรียนพุ่งกว่า 1 แสนคน ชี้กว่าครึ่งกลายเป็นอาชญากรผิดกฎหมาย จวกหลักสูตรการศึกษาไทยล้มเหลว เหตุไม่ปรับสอนเด็กขาดทักษะดำเนินชีวิต ขณะที่หน่วยงานรัฐเมินเก็บสถิติเด็กที่กลับตัวได้ เหตุเคยชินกับการตีตราเด็กว่าเป็นจำเลยสังคม
          จากวงเสวนาถอดบทเรียนปัญหาท้องในวัยเรียน หัวข้อ "เมื่อวัยเรียนก้าวพลาดในความรัก เราจะตั้งหลักกันอย่างไร" จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
          นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถิติเด็กท้องในวัยเรียนในประเทศไทย ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต จากข้อมูลระบุว่าขณะนี้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั่วประเทศ 15 ล้านคน กว่า 1 แสนคน ประสบปัญหาท้องในวัยเรียน ซึ่งกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ประมาณ 5 หมื่นคน ได้กลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากถูกกดดันจากสังคมและถูกตีตราว่าเป็นเด็กไม่ดี เป็นเด็กที่สร้างปัญหาให้กับสังคม จึงส่งผลให้กลุ่มเด็กหญิงที่ก้าวพลาด คิดว่าตนเองได้ทำความผิดที่ร้ายแรง และในที่สุดจึงหลงเดินทางผิดมากขึ้น เพราะคิดว่ายังไงเขาก็ถูกสังคมตัดสินความผิดไปแล้ว
          ขณะเดียวกันหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทย ยังขาดเรื่องการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความรักในวัยเรียน จึงทำให้การเรียนการสอนในสถานศึกษามุ่งเน้นเพียงแต่ด้านวิชาการ เด็กนักเรียนจึงขาดความพร้อมด้านทักษะในการดำเนินชีวิต ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงควรพิจารณาเพิ่มหลักสูตรในสถานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพราะการใช้ชีวิตจริงในสังคม บางครั้งเด็กที่เรียนไม่เก่ง อาจสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าพวกเรียนเก่ง ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นเยอะแยะไป
          "ตอนนี้สถิติเกี่ยวกับปัญหาท้องในวัยเรียนของเด็กไทย พุ่งเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก จึงสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา การแก้ปัญหาของเรายังไม่ถูกจุด เนื่องจากผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กที่ก้าวพลาดทั้งในวัยเรียน เป็นเด็กไม่ดีสมควรได้รับการลงโทษ ซึ่งถือเป็นทัศนคติด้านลบที่ยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้ถูกกดให้ตกต่ำลงไปอีก นอกจากนี้สังคมไทยก็ไม่เคยคิดถึงการไปเก็บข้อมูลเด็กที่ท้องไม่พร้อม แต่สามารถกลับมายืดหยัดในสังคม เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสังคมว่าเขาเหล่านั้นยังมีโอกาสปรับตัว ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มีเพียงแต่มุ่งเป้าว่าเด็กที่ทำผิดเป็นคนไม่ได้ โดยลืมมองไปว่าผู้ใหญ่เองนั่นแหละเป็นตัวต้นเหตุของปัญหา"
          นางทิชา กล่าวต่อว่า หน่วยต่างๆ มักจะออกมาพูดสะท้อนปัญหาแต่เพียงในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่มีแนวโน้มว่ากลุ่มเยาวชนจะมีเพศสัมพันธ์กัน อย่างเช่นในช่วงวันวาเลนไทน์ แต่พอหมดช่วงเทศกาลหมดลง ก็จะเงียบหายไป แต่ในทางกลับกันหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งทางสถานศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครอง ร่วมมือกันแก้ปัญหาโดยค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติ รวมถึงคอยให้คำแนะนำที่ถูกต้องหากบุตรหลานของตนได้ก้าวพลาดไปแล้ว ก็เชื่อว่าในอนาคตเทศกาลวาเลนไทน์ 5 ปีข้างหน้า ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์และท้องในวัยเรียนน่าจะลดน้อยลง
          ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆจะพูดเรื่องวันวาเลนไทน์ในเชิงบวกน้อยมาก และมักจะไปตอกย้ำเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการเน้นแต่เรื่องสอดส่องดูแล เช่น ตรวจเข้มตามโรงแรม เฝ้าระวังตามพื้นที่เสี่ยง โดยที่ไม่เคยพูดหรือชี้แนะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หรือให้เด็กเข้าใจว่าความรักไม่หวังผลตอบแทนเป็นอย่างไร ส่วนเยาวชนที่ก้าวพลาดไปแล้วผู้ใหญ่ก็ไม่ควรไปซ้ำเติม แต่ควรให้เขามองจุดนั้นเป็นบทเรียน เพื่อให้เขามีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้ สำคัญที่สุดคือผู้ใหญ่เองต้องเปิดใจรับฟังอย่างมีสติด้วย
          "ผู้ใหญ่ในสังคมไทยต้องเลิกพูดว่าเด็กเป็นจำเลยของสังคม เนื่องจากการตำหนิอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือการให้คำปรึกษาและหาทางออกที่เหมาะสมให้กับเด็ก ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่จะสามารถช่วยลดปัญหารุ่นการทำแท้งเถื่อนได้ นอกจากสถานศึกษาแล้ว สถาบันครอบครัวก็ถือเป็นหัวใจหลัก" นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า
          สถานศึกษา และพ่อแม่  ต้องร่วมมือกัน แก้ปัญหา


pageview  1206111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved