HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 06/02/2556 ]
เลี่ยงไขมัน...ช่วงตรุษจีน

ไก่ตอน เป็ดย่าง หมูแดง หมูสามชั้นทอดกรอบ ปลาเก๋านึ่งซีอิ๊ว ผัดหมี่ซั่ว ตับผัดต้นกระเทียม กระเพาะปลาผัดแห้ง ตบท้ายด้วยขนมเทียน ขนมเข่ง ฯลฯ อาหารชั้นเลิศที่ครอบครัวชาวจีนนำมาปรุงอย่างสุดฝีมือ เพื่อเฉลิมฉลองกันในครอบครัว และญาติสนิทในคืนก่อนตรุษจีน ( ฉูซี่ )
          นฤมล วัฒนาโสภณ นักโภชนาการ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท (แผนกผู้สูงอายุ) กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนปีนี้ แค่นึกถึงก็อาหารจานอร่อยก็ละลานตาส่งกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย แต่ในกลุ่มคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง สามารถอิ่มอร่อยกับทุกคนได้ แต่ควรต้องระวังเลือกรับประทานให้เหมาะสม หลายคน ไม่ยอมแตะต้องเนื้อ แต่ใช้เลี่ยงซดน้ำซุปแทน ที่จริงแล้วน้ำซุปส่วนใหญ่มีไขมันสะสมอยู่มาก จึงควรเลี่ยง รวมทั้งการทานแต่แค่พออิ่ม และควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เพราะการกินตามความอยากจะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เนื่องจากเส้นเลือดของคนเราเมื่ออายุมากขึ้นจะเริ่มไม่ยืดหยุ่น และแข็ง มีไขมัน และมีหินปูนเข้าไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคความดันสูง หัวใจขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ ไตวาย ฯลฯ ได้
          ไขมันที่ส่งผลให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น คือ แอลดีแอล, ไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอล ซึ่งได้จากการทานอาหารเป็นหลัก และร่างกายสร้างได้บางส่วน จานหลักประเภทเนื้อสัตว์ ติดมันที่มักจะรับประทานกันในช่วงตรุษจีน ทั้งหมู 3 ชั้นทอดกรอบ, เป็ดย่าง, หมูหัน, ไก่ตอน ล้วนอุดมไปด้วยไขมันแอลดีแอลที่จะไปสะสม ในหลอดเลือด, อาหารจานเส้น, ขนมเทียน, ขนมเข่ง,ขนมหวานมักอุดมไปด้วยไตรกลี- เซอไรด์ซึ่งจะไปสะสมในเส้นเลือด และตับ, เครื่องในสัตว์ต่างๆ ไข่ ก่อให้เกิดคอเลสเตอรอล
          นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขา อายุรกรรมสมอง โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท (แผนกผู้สูงอายุ) อธิบายว่า โดยปกติคอเลส- เตอรอลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย เพราะเป็นโครงสร้างในการสร้างผนังเซลล์, ย่อยวิตามินดี และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมน เพศหญิงเช่นเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน และอื่นๆ แต่ถ้าร่างกายได้รับปริมาณคอเลสเตอรอลมากเกินไป ไขมันแอลดีแอลจะนำส่วนที่เกินไปเกาะตามผนังหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกายทำให้ผนังหลอดเลือดตีบ เมื่อสะสมมากๆ อาจทำให้อุดตัน และอาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด, อัมพาต หรืออัมพฤกษ์ได้ ไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันอิ่มตัว จะขัดขวางการใช้คอเลสเตอรอลของเซลล์ ทำให้ร่างกายมีปริมาณคอเลสเตอรอลมากเกินไป
          "แต่ไขมันใช่ว่าจะร้ายไปทุกตัว ไขมันที่ดีก็มีเช่นกันคือไขมันเอชดีแอล(HDL) ที่ทำหน้าที่เก็บกวาดไขมันที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดไปกำจัดทิ้งที่ตับ ทำหน้าที่เสมือนปลาเทศบาลที่คอยทำความสะอาดผนังตู้ปลา ซึ่งไขมันดีชนิดนี้เราสามารถสร้างได้เองจากการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง 30 นาทีขึ้นไป และถ้าสามารถทำได้ 150 นาที / สัปดาห์จะสามารถเพิ่มปริมาณไขมันเอชดีแอลได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 2 เดือน"
          สำหรับการดูแลตัวเอง เพื่อลดปัญหา
          คราบไขมันเกาะผนังหลอดเลือด นฤมล แนะนำว่า ควรลดปริมาณคอเลสเตอรอล, แอลดีแอล รวมทั้งไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มไขมันเอช- ดีแอลให้มากขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงหรือรับประทานอาหารที่ติดมันแต่น้อย เช่น หนังไก่ เป็ด หมู, เครื่องในสัตว์, ของทอด, ขนมเข่ง ขนมเทียนที่หวานและมีน้ำมันมาก ควรเพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากใยเพื่อให้ กากใยช่วยจับคอเลสเตอรอลจากลำไส้เล็ก ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม ถ้าทำอาหารทานกันเองในบ้าน ควรเลือกใช้น้ำมันให้ถูกประเภท เช่นใช้น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว หรือคาโนลาในการผัดอาหาร
          นอกจากนี้ เพื่อให้เผาผลาญไขมันตัวร้ายได้ดี ควรทานมื้อหนักในช่วงเช้า หรือเที่ยงเพราะยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะเผาผลาญให้ ออกไปจากร่างกาย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรทานก่อน 6 โมงเย็น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และ การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้ไขมัน เอชดีแอลที่เป็นไขมันดีลดลง แต่ไปเพิ่มปริมาณไขมันแอลดีแอลซึ่งเป็นไขมันเลวแทน ควรดื่มชาจีนร้อนควบคู่กับมื้ออาหาร เพราะใน ชาจีนมีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ และยังมีส่วนช่วยให้ผนัง หลอดเลือดแข็งแรงด้วย และที่ขาดไม่ได้คือการ เพิ่มไขมันเอชดีแอลด้วยการออกกำลังกาย, ทานปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด น้ำมันปลา ฯลฯ
          สำหรับการรับประทานยาเพื่อลดไขมันนั้นแนะนำว่า ควรใช้เฉพาะคนที่มีปริมาณคอเลสเตอรอล 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขึ้นไป และควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพราะยาจะไปหยุดการสร้างคอเลสเตอรอลซึ่งคนที่ตับไม่ดีควรระวัง


pageview  1205877    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved