HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 06/02/2556 ]
ต้านโรคติดเชื้อเพื่อประชากรโลก

การประชุมนานาชาติรางวัลเจ้าฟ้า-มหิดล (PMAC) นับเป็นการประชุมระดับนานาชาติด้านสุขภาพที่ทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานระดับนานาชาติเข้าร่วมประชุม และเสนอประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ รัฐบาลไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จ- เจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรสุขภาพในระดับโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (JICA) และหน่วยงานระดับนานาชาติ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดขึ้น
          สำหรับหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง "รวมพลังต่อต้านโรคติดเชื้อ : ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ"(A World United Against Infectious Diseases : CrossSectoral Solutions) ภายใต้แนวคิด "One Health" โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม- ราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จฯมาเป็นองค์ประธานในการเปิดการประชุม และทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับโรคติดเชื้อความตอนหนึ่งว่า
          "โรคติดเชื้อยังคงคุกคามความเป็นอยู่ ของประชากรทั่วโลก โรคเหล่านี้ปรากฏและ แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรทั่วไป เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการพัฒนา อย่างไรก็ดีการดำเนินงานของภาคสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียวไม่เพียงพอที่จะรับมือ เพราะโรคที่เกิดใหม่หรือโรคที่ระบาดซ้ำ และมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมานั้น ส่วนมากเป็น โรคที่เกิดมาจากสัตว์
          ดังนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมนั้นมี ความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งยวด และจำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน สิ่งที่น่ากังวล มิได้เจาะจงเฉพาะสุขภาพมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่หมายถึงสุขภาพโดยรวมของทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นสุขภาพโดยรวม หัวข้อของการประชุมวิชาการในวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ทันสมัยเหมาะกับสภาวะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน"
          การประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปีจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550 เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระมหิตลา- ธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย" และ "รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในระดับสากล รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งหนึ่งของโลก
          "การประชุมครั้งนี้เท่ากับประเทศไทย ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีระดับโลก เนื่องจากมี ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้นำด้านสาธารณสุขระดับโลกทุกภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสนอแนวทางในการขับเคลื่อน นโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญระดับโลก ซึ่งถือเป็น โอกาสอันดีของนักวิชาการและผู้นำด้าน สาธารณสุขของไทย เพราะเนื่องจากหัวข้อ "รวมพลังต่อต้านโรคติดเชื้อ : ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก และถือเป็น การรวมตัวครั้งสำคัญของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคติดเชื้อระดับโลก ทั้งนี้เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของวาระ สุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health" ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2556 กล่าวถึงความสำคัญของการประชุม ครั้งนี้
          นอกจากนี้ภายใต้หัวข้อ "สุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health" คณะกรรมการจัดงานยังได้จัดให้มีกิจกรรมพิเศษ คือการประกวดศิลปกรรมเพื่อเฟ้นหาสุดยอดเยาวชนในระดับประเทศและนานาชาติ ที่สามารถใช้จินตนาการ ประสบการณ์ ความเข้าใจ และความรู้ด้านสุขภาพแบบองค์รวม ถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะในรูปของภาพวาดและคลิปวิดีโอ โดยใช้ธีม "One Health" ทั้งคน สัตว์ และระบบนิเวศน์ เพื่อชิงรางวัลมูลค่ากว่าหนึ่งล้านบาท ซึ่งเป็น ที่น่ายินดีว่าเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกมาครองได้ถึง 3 รางวัล
          รางวัลแรกเป็นของ พรรณพัชร คีรีเดช นักเรียนชั้น ป. 4 เจ้าของรางวัลชนะเลิศ ระดับโลก กลุ่มอายุ 9-13 ปี จากโรงเรียนเผยอิง กับผลงานชื่อ "สุขภาพของฉัน" ใช้เทคนิค สีโปสเตอร์ "หนูได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่อง ของเทคโนโลยี มีคนตัวเล็ก คนตัวใหญ่ ใช้สีน้ำเงินรองพื้นเพื่อสื่อถึงการรักษา หนูชอบความสดของสีโปสเตอร์จึงเลือกใช้สีประเภท นี้"
          เจ้าของรางวัลในกลุ่มอายุ 14-17 ปี ได้แก่ นิชานันท์ นาคไทย นักเรียนชั้น ม .5 โรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรี กับภาพ We the one all for one เล่าถึงผลงานซึ่งสะท้อนภาพความสมบูรณ์ในระบบนิเวศน์ ว่า "บ้านเรา ถ้าทั้งคน สัตว์ และระบบนิเวศน์ดีแบบหนึ่งเดียว เชื่อว่าจะส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพใจดี ตามไปด้วย"
          ส่วนเจ้าของรางวัลระดับโลก กลุ่มอายุ 18-25 ปี เกียรติศักดิ์ สุกันธา ศิลปินอิสระ จากเชียงใหม่ ใช้ชื่อภาพว่า "สายใยรัก" เขียนขึ้นเพื่อสื่อถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ใช้สีอะคริลิค เพราะต้องการ ให้ออกมาในโทนอบอุ่น สุดท้ายคือรางวัลประเภทคลิปวีดิโอ ผู้ชนะคือ เพ็งอุดม "คลิปวิดีโอความยาว 3 วินาที ใช้เทคนิค เคลย์แอนนิเมชั่น สต็อปโมชั่น ผ่านการปั้นดินน้ำมันให้เป็นอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เทคนิคนี้จะช่วยให้ง่ายต่อความเข้าใจ และสามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย"
          สำหรับผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลใน ปีนี้ ได้แก่และ Dr. Uche Veronica Amazigo ซึ่งได้รับเกียรติจากนาย เดวิด ร็อคกี้เฟลเลอร์ จูเนียร์(David Rockefeller, Jr.) ประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในฐานะองค์ปาฐกของการประชุม เป็นผู้ขึ้นกล่าวชื่นชมความเป็นผู้นำ ด้านสาธารณสุขของประเทศไทยในระดับนานาชาติและแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในปีนี้ รวมทั้งนำเสนอประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์อย่างยืนยาวมาเกือบร้อยปีกับประเทศไทย
          และในวาระการฉลองครบรอบ 100 ปี ของมูลนิธิฯ ที่ยังคงรักษาอุดมการณ์ของ ผู้ก่อตั้ง ที่มุ่งให้มูลนิธิรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ส่งเสริมให้มนุษย์ทั้งโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม
 


pageview  1205883    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved