HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 06/02/2556 ]
ภัยร้าย"โรคมะเร็ง"ตายชั่วโมงละ 7 ราย

 ทุกวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถูกกำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก หลายประเทศหันมารณรงค์เพื่อบรรเทาปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น ทว่าโรคมะเร็งยังคงเป็นแชมป์ของโรคที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ว่า มะเร็ง-คุณรู้แค่ไหน (Cancer - Did you know?)ให้ประชาชนมีความเข้าใจโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง ขณะที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 1แสนราย
          นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2551 องค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการตรวจวินิจฉัย 12.7 ล้านราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 7.6 ล้านราย หรือร้อยละ 13 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยใหม่ถึง 21.3 ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านคน โดยระบุว่ามะเร็งร้อยละ30-40 สามารถป้องกันได้ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง และหากได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งที่เหมาะสม จะสามารถป้องกันและได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
          อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี ล่าสุดในปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 61,082 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย เป็นชาย 35,437 ราย และหญิง 25,645 ราย ขณะที่องค์การอนามัยโลกคาดมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 118,600 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้มะเร็งที่ผู้ชายป่วยมากที่สุดได้แก่มะเร็งตับ ปอด ลำไส้และทวารหนัก ต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิงได้แก่มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอด ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เกิดจากการใช้ชีวิตแบบคนเมือง ที่นิยมกินแต่เนื้อสัตว์ กินผักผลไม้น้อย ออกกำลังกายน้อย
          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมผลักดันการเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นนโยบายของประเทศเช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยได้มอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือไฮแทป ศึกษาความเป็นไปได้ คาดจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ เพื่อเสนอต่อครม. ซึ่งการตรวจคัดกรองจะเป็นการค้นหาคนที่เริ่มมีความผิดปกติของลำไส้ เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาได้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งโอกาสหายมีมาก และการเสียชีวิตลดลงด้วย
          ด้านนายแพทย์ณรงค์สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าที่ผ่านมาพบว่าคนไทยยังมีความเชื่อผิดๆ เรื่องโรคมะเร็งว่าเป็นโรคเคราะห์กรรม หรือเชื่อว่าเป็นแล้วต้องตาย รักษาไม่ได้ จึงไม่ได้ให้ความสนใจที่จะป้องกันหรือเข้ารับการตรวจคัดกรองตามที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ เนื่องจากเซลล์มะเร็งใช้เวลาก่อตัวนานและไม่แสดงอาการใดๆ ให้รู้ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มาพบแพทย์ประมาณร้อยละ 70-80 อยู่ในระยะเซลล์ลุกลามไปที่อวัยวะอื่นแล้ว โอกาสหายมีน้อยมาก ทำให้สถิติการเสียชีวิตติดอันดับ 1
          ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไข โดยพัฒนาระบบการป้องกันด้วยการรณรงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยง 5 สาเหตุหลักคือ บุหรี่ เหล้า เพิ่มการกินผักผลไม้ การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนักตัว และบริการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เริ่มตั้งแต่ในเด็กแรกเกิด ฉีด 4 ครั้งจนถึงอายุ 6 เดือน เพื่อป้องกันมะเร็งตับ และเพิ่มระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อยคือมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม
          นอกจากนี้ในด้านการรักษาผู้ป่วย ได้พัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็งให้มีประจำใน 12 เครือข่ายบริการ ตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ เทคโนโลยีชั้นสูงในการตรวจวินิจฉัยและรักษา อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขยังได้ตั้งเป้าหมายใน 5 ปี จังหวัดในภาคอีสาน 20 จังหวัด ต้องมีไข่พยาธิใบไม้ตับน้อยกว่าร้อยละ 10 และภายใน 3 ปี สตรีไทยมีการตรวจเต้านมจนสามารถพบมะเร็งในระยะ 1-2 ซึ่งเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจาย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และในปี 2557 ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และคิวรอการฉายแสงรักษามะเร็งลดลงกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย ได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
          ขณะที่นายแพทย์ธีรวุฒิคูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ บอกว่า สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สถาบันมะเร็งฯ ได้จัดทำโครงการศึกษานำร่องที่จังหวัดลำปางตั้งแต่ปี 2553 ในกลุ่มประชาชนอายุ 50 - 70 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบผู้ป่วยมากที่สุด โดยตรวจคัดกรองจำนวน 78,000 ราย ด้วยการใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายราคาประมาณ 60 บาท เพื่อตรวจหาเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ ผลตรวจพบร้อยละ 1.1 หรือ 858 ราย และได้ส่งต่อไปรับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผลจากการส่องกล้องของผู้ป่วยจำนวน 561 ราย พบผู้ป่วยมะเร็ง 26 ราย มีติ่งเนื้อที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง 153 ราย ได้ส่งตัวเข้ารักษาทันที ซึ่งการตรวจคัดกรองนี้ถือว่าได้ผลดี มีต้นทุนต่ำมากเพียง 60 บาท และหากพบผู้ป่วยจะสามารถนำเข้าระบบการรักษาได้เร็ว เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม แต่หากตั้งรับรอรักษาผู้ป่วยเมื่อมีอาการลุกลามไปแล้ว โอกาสหายมีน้อยมากและค่ารักษาสูงนับแสนบาท
          นายแพทย์ธีรวุฒิบอกว่าหากโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้รับการประกาศเป็นนโยบายชาติ จะเป็นผลดีกับประชาชนอย่างมาก และการปฏิบัติไม่ยุ่งยาก โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย ตรวจได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และให้เครือข่าย อสม.ที่มีกว่า 1 ล้านคนรณรงค์ให้ประชาชน อายุ 50 ปี 55 ปี 60 ปี 65 ปี และ 70 ปี ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน เก็บตัวอย่างอุจจาระมาตรวจ หากพบมีเม็ดเลือดแดงแฝง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจมีความผิดปกติของลำไส้ จะส่งต่อไปรับการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาลและให้การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป
          ทั้งนี้ สัญญาณอันตรายของมะเร็ง 7 ประการ ได้แก่ 1.ระบบขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด 2.กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียดแน่นท้องเป็นเวลานาน 3.มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง 4.มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น 5. เป็นแผลรักษาไม่หาย 6.ก้อนหูดหรือไฝตามร่างกายโตขึ้น และ 7.มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งหากใครที่พบอาการผิดปกติเหล่านี้ ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยละเอียดในทันที
          'สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี'
 


pageview  1205886    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved