HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 04/02/2556 ]
ความสุขคืออะไร

 ฉบับที่แล้วกล่าวถึงหลายคนมุ่งมั่นทำงานหาเงินเพื่อที่จะทำเงินได้มากๆ โดย หวังว่าวันหนึ่งได้เงินมามากพอแล้ว เงินเหล่านั้นจะทำให้เรามี "ความสุข" แต่แท้จริงแล้วความสุขที่ใช้เงินซื้อหามาเหล่านั้น กลับเป็นแค่ความสุขเพียงชั่วคราวและสุดท้ายชีวิตของเราก็กลับไปมีความทุกข์เช่นเดิมต่อไป จะเห็นว่าวัตถุสิ่งของ ไม่ได้ทำให้เรามี "ความสุขที่แท้จริง" ได้ แล้วอะไรจะทำให้มีความสุขได้จริงๆ 
          มีการวิจัยจำนวนมากในปัจจุบันที่มุ่งเน้นถึงการค้นหาว่าความสุขของผู้คนจริงๆ แล้ว อยู่ที่ปัจจัยอะไรบ้าง นักวิจัยเหล่านี้เรียกผลงาน ของพวกเขาว่าเป็น "เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข" (Happiness Economics) ผลงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ จากการสำรวจพบว่า ผู้คนมักให้ความสำคัญกับเงินเป็นประเด็นหลักในการทำแบบสอบถาม แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไป ในรายละเอียดโดยให้มูลค่าของปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากเงินจะพบว่ามีสิ่งอื่นๆ ที่ถ้าขาดหายไปจะทำให้ "ความสุข" ของผู้คนลดลงมากกว่ามูลค่าของเงิน จะขออธิบายปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นตามลำดับดังนี้
          ปัจจัยแรกคือสุขภาพ ผู้คนมักไม่ค่อยคิดถึงสุขภาพมากมักเพราะปัจจุบันเรายังมีสุขภาพที่ดี ทำให้เรานึกไม่ออกว่าถ้าเราเกิดป่วย หรือสุขภาพไม่ดีขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงเราเห็นผู้คนจำนวนมากเกิดป่วยขึ้นมาอย่างกะทันหันหรือไม่ได้ตั้งตัวจำนวนมาก หลายคนทำงานมุ่งมั่นหาเงินด้วยความเคร่งเครียดก่อนที่จะค้นพบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งร้ายโดยไม่รู้ตัวมาก่อน หรือหลายคนคิดว่าความโชคร้ายเช่นนั้น คงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นกับตนเองซึ่งเป็นการคิด เข้าข้างตนเองมากกว่าที่จะเป็นความจริง
          นักเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขทำการวิจัยโดยให้ผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์ตอบแบบสอบถามว่าสมมติให้คะแนนความสุขระดับหนึ่งถึงสิบ ถ้าเกิดสุขภาพไม่ดีขึ้นมา (ลดลงหนึ่งในห้า หรือ 20 เปอร์เซ็นต์) ความสุขจะลดลงไปเท่าไร พบว่าผลเฉลี่ยของความสุขจะลดลงไป 6 จาก 10 เหลือความสุขแค่ 4 คะแนน ขณะที่แบบสอบถามว่าถ้ารายได้ลดลงไปหนึ่งในสามหรือลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ ความสุขจะลดลงไปเท่าไร ผลจากการสำรวจพบว่าความสุขลดลงไป 2 ระดับ ยังเหลือความสุข 8 คะแนน แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีการวัดความสำคัญของปัจจัยต่างๆ แล้ว สุขภาพสำคัญกว่าเงินสำหรับคนส่วนใหญ่แต่เรามักมองไม่เห็นความสำคัญ
          ทุกคนทราบว่าการรักษาสุขภาพเป็น สิ่งสำคัญ เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หลายคน อ้างว่าไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย ทั้งๆ ที่ การออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้นแค่ทำต่อเนื่องวันละครึ่งชั่วโมงทุกๆ วันก็เพียงพอ หลายคน ซื้อเครื่องออกกำลังกายอย่างลู่วิ่งหรือจักรยานออกกำลังกายไว้ที่บ้าน แต่เวลาผ่านไปเครื่องมือออกกำลังกายเหล่านั้นกลับกลายเป็นที่ตากผ้าหรือแขวนผ้าเช็ดตัวไปอย่างน่าเสียดาย
          การอ้างว่าไม่มีเวลานั้นเป็นเพียงข้อแก้ตัวเท่านั้นเองเพราะถ้าเราคิดว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็น สิ่งสำคัญ เราจะให้เวลากับสิ่งนั้นก่อนเสมอ เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่ออกกำลังกายนั้น เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน การที่เราดำเนินกิจกรรมไปโดยไม่ได้ออกกำลังนั้นไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะเรายังคงมีชีวิตอยู่ตามปกติ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการขาดการออกกำลัง จะค่อยๆ สะสม ขึ้นเรื่อยๆ จนรักษาได้ยากอย่างความอ้วน หรือไขมันในเลือดเป็นต้น
          หรืออย่างเรื่องการพักผ่อน หลายคนนอนไม่หลับ ทั้งๆ ที่อยากจะนอนให้หลับ ทั้งนี้ อาจเกิดจากความเครียดในหน้าที่การงาน โดย ที่ไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่มักเกิดจากความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ ทำให้หลับได้ไม่สนิท หรืออาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่ม ที่มีกาเฟอีนมากเกินไป เช่น ชา กาแฟ หรือ น้ำอัดลม การนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่ลดลง โอกาสที่จะเจ็บป่วยทั้งจากเชื้อโรคเช่นโรคหวัด หรือโรคที่ เกิดจากภูมิคุ้มกันเช่นมะเร็งมีมากขึ้นตามลำดับ
          จะเห็นว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งสำคัญมากกว่าเงินที่มีแต่เรามักมองข้ามไป โดยมุ่งมั่นหาเงิน และละเลยเรื่องสุขภาพ จนวันหนึ่งเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาเงินเหล่านั้น ก็ถูกนำไปรักษาตนเองจ่ายให้กับโรงพยาบาล เสียทั้งเงิน และเวลา บางครั้งหลายคนอาจไม่ได้ ใช้เงินเหล่านั้นอีกเลย ก็เป็นไปได้ เพราะทำงานหาเงินจนป่วย และเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร เหมือนตัวอย่างที่เห็นจำนวนมากในสังคม ปัจจุบัน


pageview  1205889    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved