HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 07/02/2555 ]
"ขนมปลอม" เกลื่อน ระบาดหน้าโรงเรียน ร้านค้าในหมู่บ้าน-ตลาดนัด
          "วิทยา"สั่งกวาดล้างขนมปลอม-หมดอายุ-ไร้ทะเบียน อย.
          สสจ.-อย. เร่งจัดการขบวนการขายขนมหลอกเด็ก จับตาตลาดชายแดน หากพบให้ลงโทษเด็ดขาด 2คศน.เผยผู้ประกอบไร้สำนึกมุ่งทำกำไรไม่สนใจสุขภาพเด็ก ผลิตขนมมือสอง ขนมเลียนแบบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำ ช็อกโกแลต มันฝรั่งทอด คล้ายยี่ห้อดัง แต่ไม่มีฉลากแสดงส่วนประกอบวัตถุดิบ ไม่บอกผู้ผลิต ชี้ "ขนมมือสอง" อันตราย หาซื้อเศษขนมหมดอายุจากโรงงานนำมาแยกแบ่งบรรจุซองใหม่ ขายราคาถูก 
          จากกรณีที่เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) พบข้อมูลการนำขนมหมดอายุ หรืออาหารที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หีบห่อขาด นำไปบรรจุใหม่ และจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก รวมทั้งขนมที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านบริเวณชายแดน ไม่มีการแสดงฉลากภาษาไทยและไม่มีฉลาก อย. รวมถึงขนมเลียนแบบขนมแบรนด์ดังยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายอย่างถูกต้อง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราคาถูกเพียง 1-2 บาท โดยไม่มีตรา อย. ไปวางจำหน่ายในตลาดชายแดน และตลาดตามหมู่บ้านในชนบท 
          ความคืบหน้าวานนี้ (6 ก.พ.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การกระทำของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวจัดว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากเชื้อโรค เชื้อรา หรือสารเคมีปนเปื้อน โดยตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทุกแห่ง และให้เข้มเป็นพิเศษตามจังหวัดชายแดน หากพบให้ลงโทษตามกฎหมายควบคุมอาหาร พ.ศ.2522 โดยไม่ละเว้นโทษใดๆ ทั้งสิ้น 
          "ผมขอความร่วมมือประชาชน ให้ช่วยเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังอาหาร โดยเฉพาะขนมที่เป็นอันตราย ซึ่งหากพบเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น ขนมที่ผลิตจากโรงงานและไม่มีตรา อย. หรือพฤติกรรมนำขนมหมดอายุมาแต่งและบรรจุใหม่ ขอให้แจ้งที่สายด่วน อย. หมายเลข 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งโดยเร็ว" นายวิทยา กล่าว
          ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กรณีที่นำเข้าอาหารจากต่างประเทศมาจำหน่ายโดยไม่ได้ขออนุญาตจาก อย. จะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีการนำอาหารหมดอายุมาจำหน่าย เช่นขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ หากพบว่ามีการแสดงฉลากไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
          ทั้งนี้หากเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพบว่าผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากเป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ มีการปนเปื้อน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
          คศน.เผยขนมเด็กชายแดนอันตราย
          ด้าน ท.พ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะแกนนำเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) กล่าวในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ช่วงการเสวนา “ขนมชายแดน...เรื่องไม่เล็กของเด็กไทย” ว่า จากการเก็บตัวอย่างขนมพร้อมสำรวจพฤติกรรมผู้ประกอบขนมกรุบกรอบในจังหวัดต่างๆ ตามพื้นที่แนวชายแดน ได้แก่ จังหวัดปัตตานี สุรินทร์ หนองคาย และอุบลราชธานี พบพฤติกรรมที่เลวร้ายของผู้ค้าที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก และผู้บริโภคขนมเหล่านั้นได้ โดยสามารถแยกออกเป็น 4 กลุ่ม 
          กลุ่มแรกเป็น “กลุ่มขนมนำเข้า” คือ ขนมจากประเทศเพื่อนบ้าน พบได้ที่ จังหวัดหนองคาย อุบลราชธานี และปัตตานี ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีนและมาเลเซีย ขึ้นอยู่กับว่าใกล้จังหวัดใด โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ขนมเหล่านี้จะถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในรูปแบบกองทัพมด ขนเข้ามาทีละน้อย เพื่อเลี่ยงการบังคับและขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับทาง อย. อย่างถูกต้อง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นบาท 
          ดังนั้นขนมเหล่านี้จึงไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับที่แสดงถึงส่วนประกอบ ผู้บริโภคจึงไม่ทราบถึงรายละเอียดวัตถุดิบ วันที่ผลิตและหมดอายุ แต่ขนมกลุ่มนี้ยังถือว่าเป็นอันตรายไม่มาก เพราะอย่างน้อยต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากประเทศต้นทางมาบ้าง 
          ขนมปลอมระบาดมีแจกวันเด็กด้วย
          ท.พ.ธงชัย กล่าวต่อว่า กลุ่มที่สองเป็น “กลุ่มขนมเลียนแบบ” โดยผู้ประกอบการในประเทศไทยจงใจผลิตเลียนแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการวางจำหน่ายอย่างถูกต้องและได้รับความนิยม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งหน้าซองจะระบุเพียงคำว่า “ต้มยำกุ้ง” เท่านั้น และบรรจุภัณฑ์จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดังอย่างมาก ส่วนราคาขายนั้นขายถือว่าถูกมาก เพียงแค่ซองละ 1-2 บาทเท่านั้น นอกจากนี้บนซองก็ไม่มีรายละเอียดของผู้ผลิต ส่วนประกอบวัตถุดิบ รวมไปถึงตราสัญลักษณ์ อย. 
          นอกจากนี้ยังมีช็อกโกแลตเลียนแบบช็อกโกแลตดังที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีการใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปแบบคล้ายกันมากทั้งการห่อในกระดาษฟอยล์สีทอง มีกรวยกระดาษรองก้นสีน้ำตาล เป็นต้น รวมไปถึงมันฝรั่งทอดกรอบที่มีถุงบรรจุลักษณะคล้ายกลับมันฝรั่งยี่ห้อดัง ที่มีรูปแบบคล้ายกันมาก
          "ขนมกลุ่มนี้น่าห่วงมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าขบวนการผลิตเป็นอย่างไร มีการใส่สารอันตรายหรือสารเคมีในขบวนการผลิตหรือไม่ และในงานวันเด็กที่ผ่านมามีการตรวจพบว่า ขนมที่แจกในงานวันเด็กที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้น เป็นขนมที่ผลิตเลียนแบบเหล่านี้" ท.พ.ธงชัย กล่าว
          ขณะที่กลุ่มสาม เป็น “ขนมตลาดล่าง” ขนมกลุ่มนี้ไม่มีชื่อผู้ผลิต ไม่มีการใส่เครื่องหมาย อย. ไม่มีการติดฉลากอาหาร และขนมกลุ่มนี้จะไม่ได้ไปตามกระแสของขนมยอดนิยม แต่จะวางขายมาเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง โดยบางชนิดก็จะเป็นการนำขนมที่บรรจุปี๊บมาแบ่งขายเป็นซองย่อยๆ ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 การแบ่งบรรจุถือเป็นการผลิตลักษณะหนึ่ง ซึ่งต้องดำเนินการขออนุญาตผลิต จาก อย.
          ขนมมือสองขายเกลื่อนภาคอีสาน
          ส่วนกลุ่มที่สี่เป็น “กลุ่มขนมมือสอง” ซึ่งน่าห่วงมากที่สุด โดยพบว่ามีผู้ประกอบการหัวใสในภาคอีสานจะไปเหมารับซื้อขนมกรุบกรอบจำพวกเวเฟอร์ แครกเกอร์ รวมถึงขนมกรุบกรอบที่มีลักษณะเป็นเกลียวแท่งยาว ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน แตกหักจนจำหน่ายไม่ได้ เป็นเศษขนม ทั้งที่หมดอายุแล้วและยังไม่หมดอายุ มาจำหน่ายในราคาถูก 
          ทั้งนี้แหล่งรับซื้อ คือ จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร จากนั้นนำมาคัดแยก ใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ในถุงพลาสติกใสขนาดเล็ก ว่าจ้างแรงงานชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันทำเป็นรายได้เสริม และหลังจากนั้นจะนำไปกระจายวางขาย ทั้งร้านค้าในหมู่บ้าน ชุมชนและโรงเรียน ราคา 1-2 บาท โดยแหล่งใหญ่อยู่ที่จังหวัดสุรินทร์
          "ปกติขนมที่หมดอายุหรือไม่ได้มาตรฐาน โรงงานผลิตจะต้องทิ้ง ทำลาย หรือขายนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ต่ออีกทอดหนึ่ง แต่ผู้ประกอบการรายย่อยจะไปตระเวนรับซื้อ แล้วนำมาใส่บรรจุในหีบห่อใหม่ และจากการเข้าไปตรวจสอบโกดังจัดเก็บขนมของผู้ประกอบการ พบว่ามีขนมบางส่วนถูกเก็บไว้นานจนอยู่ในสภาพชื้นและขึ้นรา แม้ว่าที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้เข้าจับกุมและสั่งปิดโกดังเก็บขนมเหล่านี้ไปหลายครั้งแล้ว แต่ไม่นานก็กลับมาเปิดใหม่"
          เด็กไทย 30% กินขนมกรุบกรอบทุกวัน
          ท.พ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อกฎหมายใดในการจัดการกับผู้ที่นำขนมซึ่งหมดอายุไปใช้ผิดประเภท และไม่มีข้อใดระบุถึงการนำเอาขนมที่หมดอายุไปขายอีก รวมทั้งยังไม่มีมาตรการควบคุมเศษขนมจากโรงงาน บังคับให้ไปทิ้ง ทำลาย ทำเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ย ทำให้โรงงานสามารถขายเศษขนมให้ใครก็ได้ที่ต้องการ 
          ทั้งนี้ขนมกรุบกรอบที่ได้รับอนุญาตถูกต้องและวางจำหน่ายทั่วไป หากเด็กกินมากเกินไปก็ส่งผลลบต่อสุขภาพอยู่แล้ว เพราะมีส่วนประกอบทั้งแป้ง น้ำตาล เกลือ และไขมัน เน้นที่หวานมันเค็ม ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนและภาวะขาดสารอาหารได้ แต่ในกรณีของขนมปลอมที่เป็นปัญหายังอาจมีอันตรายที่แฝงเพิ่มมา ตั้งแต่เชื้อรา แบคทีเรีย สีผสมที่อาจเป็นอันตราย รวมทั้งการที่ไม่มีการระบุถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่สามารถดำเนินการกับต้นทางได้ 
          สำหรับขนมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะขายตามพื้นที่ชายขอบความเจริญ หน้าโรงเรียน ร้านค้าในหมู่บ้านตามต่างจังหวัด และพบบางจังหวัดปริมณฑล ส่วน กทม.จะมีในกลุ่มตลาดล่าง และขายราคาถูก
          จากข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพของประชาชนไทยเมื่อปี พ.ศ. 2551-2552 โดยเก็บตัวอย่างจากเด็ก 30,000 คน ทั่วประเทศ พบว่าเด็กไทยอายุ 2-14 ปี จำนวน 30% รับประทานขนมกรุบกรอบทุกวัน ขณะที่ 42% กินเป็นบางวัน แสดงให้เห็นว่าเด็กราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเข้าถึงขนม โดยที่ไม่รู้ว่าขนมเหล่านั้นมีความปลอดภัยและอันตรายมากน้อยเพียงใด
          ?"เด็กไทย 30% กินขนมกรุบกรอบทุกวัน"

pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved