HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 11/12/2555 ]
เมื่อ Facebook ทำให้เราเครียดและทุกข์!!

  รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
          คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          pasu@acc.chula.ac.th
         
          เชื่อว่าในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านปรากฏการณ์ของสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ก็จะเปลี่ยนรูปแบบ พฤติกรรม และวิถีชีวิตของท่านผู้อ่านหลายๆ ท่าน Facebook และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากขึ้น มีการเขียนถึงข้อดีของ Facebook กันมากมาย แต่ขณะเดียวกันจากพฤติกรรมการใช้ Facebook ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้บรรดานักวิจัยต่างๆ ได้เริ่มสำรวจและหาจุดอ่อนหรือข้อพึงระวังของสื่อสังคมออนไลน์ตัวนี้กันมากขึ้น
          ล่าสุดมีงานวิจัยที่ University of Edinburgh Business School ที่ระบุเลยครับว่าการมีเพื่อนเพิ่มขึ้นบน Facebook นั้น แทนที่จะเป็นสิ่งที่ดีแบบที่หลายๆ คนคิด กลับกลายเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับเรามากขึ้น และที่น่าสนใจ (แต่ไม่น่าแปลกใจ) คือการรับผู้ปกครอง (คุณพ่อ หรือ คุณแม่) รวมทั้งผู้บังคับบัญชาเข้ามาเป็นเพื่อนใน Facebook นั้นยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับเรายิ่งขึ้น
          ประโยชน์อย่างหนึ่งที่หลายๆ คนมักจะบอกเกี่ยวกับ Facebook คือการได้เจอเพื่อนเก่า หรือ ญาติ หรือ คนรู้จัก ที่ไม่ได้เจอกันนานผ่านทาง Facebook ดังนั้นหลายๆ คนจึงพยายามเพิ่ม "เพื่อน" ของตนเอง ในสังคมออนไลน์ หรือ รับ "เพื่อน" ที่เข้ามาขอ add มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มเพื่อนของตนในสังคมออนไลน์อย่าง Facebook นั้นขยายขึ้นไปเรื่อยๆ
          อย่างไรก็ดี ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเพิ่ม  "เพื่อน" บน Facebook ก็คือเมื่อสิ่งที่โพสต์หรือเขียนหรือแสดงไปบน Facebook นั้นอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนบางกลุ่ม ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เมื่อคุณลูกไปเที่ยวมาและแอบสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา และเมื่อมีการโพสต์รูปดังกล่าวลงบน Facebook เมื่อคุณพ่อคุณแม่มาเห็นเข้า ก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว หรือ อีกตัวอย่างที่พบบ่อยๆ ก็คือ เมื่อพนักงานเข้ามาโพสต์ข้อความบางประการที่ไม่ดีต่อเจ้านายหรือองค์กร และถ้าเจ้านายเป็น "เพื่อน" กันบน Facebook ก็อาจจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ขึ้น
          ดังนั้น ถ้าต้องการจะไม่เพิ่มความเครียดให้กับชีวิต (ที่เครียดอยู่แล้ว) การมีเพื่อนมากขึ้นบน Facebook นั้นต้องระมัดระวังพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชาเป็น "เพื่อน" ของเราบน Facebook ด้วย
          นอกจากที่ Facebook จะทำให้เราเกิดความเครียดแล้ว ข้อควรระวังอีกประการของ Facebook ก็คือทำให้เราขี้อิจฉาหรือเศร้าซึมหรือไม่มีความสุขครับ ทั้งนี้เนื่องจากเรามักจะใช้ Facebook เป็นเครื่องมือในการเข้าไปสอดส่องดูชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะมิตรสหายที่เรารู้จัก แต่เรากลับไม่รู้ว่าการเข้าไปเห็นถึงชีวิตผู้อื่นนั้นอาจจะเป็นผลเสียที่ทำให้เรามีความรู้สึกอิจฉา ไม่มีความสุข หรือ เศร้าซึมได้
          ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่เราโพสต์ลงบน Facebook นั้นมักจะเป็นภาพที่เราชอบและมีความสุข ไม่ว่าอาหารที่ดูน่ารับประทาน ครอบครัวสุขสันต์ การได้เที่ยวพักผ่อน หรือ แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงที่น่ารัก ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าสิ่งที่คนทั่วไปโพสต์ลงบน Facebook นั้นมักจะเป็นด้านบวกในชีวิต แต่เรามักจะไม่ค่อยโพสต์ในสิ่งที่ไม่ดีกับชีวิต เช่น เราอาจจะลงรูปอาหารที่น่ารับประทาน แต่ถ้าเราต้องต้มบะหมี่สำเร็จรูปกินเพื่อประทังชีวิตเราก็จะไม่ค่อยได้นำลง
          ดังนั้น Facebook จึงมักจะเป็นสังคมออนไลน์ที่รวบรวมในสิ่งที่ดี สิ่งที่น่ารื่นรมย์ (ถึงแม้จะมีการบ่นบ้างแต่ก็ยังเป็นอัตราส่วนที่น้อยอยู่) ดังนั้น Facebook จึงไม่ใช่สถานที่ที่บ่งบอกถึงตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคน ดังนั้นเมื่อเราเปรียบเทียบชีวิตเรากับเพื่อนๆ บน Facebook แล้ว เราก็มักจะเปรียบเทียบในด้านเดียวเท่านั้น เช่น เห็นเพื่อนถ่ายรูปอาหารอร่อยในขณะที่เราต้องรับประทานอาหารอย่างด่วนของร้านสะดวกซื้อข้างที่ทำงาน ก็อาจจะทำให้เราต้องเกิดความเศร้าและอิจฉาเกิดขึ้น หรือ เห็นเพื่อนโพสต์รูปครอบครัวสุขสันต์ แต่ตนเองนั้นครอบครัวกำลังไม่สุขสันต์หรือไม่ได้มีโอกาสอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ก็อาจจะนำไปสู่ความทุกข์ขึ้นมาได้
          ดังนั้น ถ้าจะหยุดความทุกข์ ความอิจฉาจาก Facebook นั้น ต้องหยุดที่จะเปรียบเทียบครับ และต้องคิดเสมอว่าสิ่งที่คนอื่นโพสต์ลงบน Facebook นั้นมักจะเป็นด้านบวกของชีวิต ยังมีด้านลบที่ไม่ได้เผยแพร่สู่สื่อทั่วสาธารณชนอย่าง Facebook อีกมาก


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved