HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 17/10/2555 ]
ตะกั่วในสีทาบ้านอันตรายพบเด็กเล็กกว่า 50% เสี่ยง

ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย
          และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "ตะกั่วในสีทาอาคาร : ภัยที่ป้องกันได้" โดยมี ดร.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยอันตรายจากสารตะกั่วในเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ตั้งแต่ปี 2553 ในศูนย์เด็กเล็กในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร 17 แห่งในเขตชุมชนแออัด พบว่า  ในจำนวน 9 แห่ง มีสีทาอาคารที่มีสารตะกั่วสูงมาก และส่วนใหญ่เป็นสีน้ำมัน
          "เด็กเล็กมากกว่า 50% มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วจากสีทาอาคาร  ซึ่งผมได้ใช้วิธีการขูดสีจากตัวอาคารแต่ละแห่งมาสุ่มตรวจจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกพบการเปื้อนสารตะกั่วในปริมาณที่สูงกว่ามากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลิตร (PPM) จากนั้นมีการสุ่มตรวจในพื้นที่เดิมแต่เพิ่มจุดในการตรวจอีกครั้งหนึ่ง ยังพบว่าสีทาอาคารดังกล่าวมีการปกเปื้อนที่สูงในจุดอื่นๆ ด้วย ดังนั้น เมื่อเด็กเล็กก่อนวัยเรียนมาอยู่อาศัย ย่อมเสี่ยงที่จะได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม " แม้ว่าสารตะกั่วที่พบจะน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิด 90 PPM แต่เมื่อพบแล้วก็ไม่เป็นผลแน่นอน เพราะเด็กเล็กที่ความเสี่ยงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากสามารถดูดซึมเอาสารตะกั่วได้มากกว่าถึง 5 เท่า และเมื่อเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย สารเหล่านี้จะเข้าไปทำลายระบบการพัฒนาเซลล์สมองและเซลล์เม็ดเลือด ทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงต่อการพัฒนาสมอง สติปัญหา หรือไอคิวต่ำ และระบบประสาท และเมื่อรับสารตะกั่วเข้าไปก็จะไปฝั่งอยู่ในกระดูก และเนื้อเยื่อของร่างกาย ไม่สามารถย่อยสลายออกมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบว่าการเข้าสู่ร่างกายในอันดับต้นๆ คือ การรับประทานเข้าไปผ่านระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเด็กอาจไปถูกผงสีที่หลุดลอกออกมา และเมื่อหยิบอาหารเข้าปากก็ติดเข้าไปด้วย รองลงมาคือการสูดดม และฝุ่นสีที่หลุดลอกเป็นผง
          ดร.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อสังคมทราบดีอยู่แล้วว่าสารตะกั่วเป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ว่าจะรับมาจากปัจจัยใดก็ตาม แต่เราควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กเล็กได้รับสารดังกล่าวเข้าไป ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถลงมือทำได้เลย โดยขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สิทธิในการขอรับบริการตรวจสารตะกั่วในเลือด สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป  และการเปลี่ยนแปลงสารตะกั่วในสีอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีกิจกรรมที่ต้องใช้สี  จึงคิดว่าสิ่งที่ทำได้เลยคือขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำประกาศชนิดของสี อัตราสารตะกั่วที่เป็นส่วนผสมในสีมีจำนวนเท่าไหร่ หรือประกาศไปเลยว่าสีที่ใช้ในอาคารภายใน โดยเฉพาะโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กควรจะมีค่า PPM เท่าไหร่ เช่น ในอาคารบ้านเรือน อพาร์ตเมนต์ คอนโด หรือสำนักงานต่างๆ ควรมีการกำหนดค่าสารตะกั่วต้องไม่เกิน 90 PPM เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่มีทางรู้ได้เลย และขอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการทางกฎหมายมาบังคับเลยว่า สีที่ใช้ภายในอาคารต้องปนเปื้อนสารตะกั่วเท่าไร  "ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ระบุข้างกระป๋องสีว่า สีแต่ละเฉดเสียงมีสารตะกั่วอยู่เท่าไร เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภค เช่น ถ้าเกิน 90 PPM ให้ติดคำเตือนห้ามใช้ในอาคารภายใน "
          นางสาวเพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าจากผลการวิเคราะห์สารตะกั่วในสี ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ศึกษาร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อกำจัดสารพิษตกค้างยาวนาน หรือ IPEN ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วม 10 ประเทศ โดยได้ขับเคลื่อนให้เกิดการควบคุมและการกำจัดสารตะกั่วในสีทาอาคารตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งการสุ่มตัวอย่างสีทาอาคารที่วางขายในท้องตลาดในประเทศไทยจำนวน 31 ตัวอย่าง 29 ยี่ห้อ 19 บริษัท ส่งไปตรวจหาปริมาณสารตะกั่วที่ Toxics Link ประเทศอินเดีย
          พร้อมๆ กับตัวอย่างสีของประเทศที่กำลังพัฒนาอีก 9 ประเทศ เช่น ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย เบลารุส เม็กซิโก มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ พบว่า สีทาอาคารประเภทน้ำมัน จากไทย 47% มีตะกั่วเกินกว่าค่ามาตรฐานของไทยเองที่กำหนดไว้ที่ 600 PPM โดยพบว่าสียี่ห้อที่มีสารตะกั่วมากกว่าค่ามาตรฐานวางขายในระบบกลางและระดับล่าง และยังพบว่าเฉดสีเหลืองเป็นสีที่มีสารตะกั่วสูงที่สุดด้วย
          องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ ได้มีการตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2563 เป็นปีที่นานาชาติควรมีการเพิกถอนสารตะกั่วในสีทาอาคาร จึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องทบทวนถึงสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในประเทศ ซึ่งยังมีการตรวจพบในสีทาอาคารจำนวนมาก และไทยยังไม่มีมาตรการบังคับ แต่ที่ผ่านมาเป็นภาคของการสมัครใจ จากผู้ประกอบการที่จริงใจต่อคนในสังคม จึงเสนอว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเร่งกำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วในสีน้ำมัน ที่อนุญาตให้มีได้ไม่เกิน 600 PPM เป็นมาตรฐานบังคับ
          นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล อุปนายกสมาคมผู้ผลิตสีไทย กล่าวว่า สารตะกั่วที่พบในสีส่วนใหญ่มาจากผงสี แต่ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์สีมักถูกมองเป็นผู้ร้ายเสมอ ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตสีไทยเองได้มีการพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการสีด้วยกัน ก็มีความยินดีที่จะเพิกถอนสารตะกั่วในสี เพราะทุกคนมีความตระหนักในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสารตะกั่ว และหลายยี่ห้อเริ่มปรับกระบวนการผลิตโดยเข้าร่วมกับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย ในการสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการสีของไทยได้รับฉลากเขียว หรือ Green Label มากที่สุด
          "จึงคิดว่า การที่สังคมมองว่าสีทาอาคาร หรือธุรกิจสีเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยไอคิวต่ำ ถือเป็นการกล่าวหากันเกินไป เพราะผู้ประกอบการที่มีความตระหนักในเรื่องนี้ก็มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ยืนยันว่าธุรกิจผลิตสี ไม่คัดค้านหากจะให้มีการเพิกถอนสารตะกั่ว แต่ภาครัฐบาลควรมีมาตรการรองรับที่เหมาะสมเสียก่อน ซึ่งต้องมองในเรื่องของการป้องกันสารตะกั่วที่มาจากผลิตนำเข้าด้วย "


pageview  1205861    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved