HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 17/09/2555 ]
3 โรคของคนอยากสวย

 อีกครั้งกับการประชุมวิชาการของกรุงเทพดุสิตเวชการปี 2555 งานนี้ นอกจากแพทย์หลายสาขาจะมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันแล้ว ยังได้ออกมาเตือนถึงปัญหาสุขภาพของสาวๆ ที่รักสวย รักงามจนน่าเป็นห่วง
          โรคแรกที่คุณหมอได้หยิบมาเป็นประเด็น คือ "Too Thin or Too Fat" หรือ โรคคลั่งผอม
          แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่นโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ แจงว่าปัจจุบันวัยรุ่นที่ไม่พึงใจในรูปร่างของตนเองจนกลายเป็นคนป่วยนั้นมีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหามาจากเหล่าดารานางแบบที่เป็น ไอดอลมักปรากฏตัวผ่านสื่อด้วยหุ่นเพรียวลมเยาวชนจึงพยายามสารพัดวิธีเพื่อลดน้ำหนัก ให้มีเรือนร่างบอบบาง  "นอกจากปรึกษาแพทย์หรือออกกำลังกายแล้วบางคนถึงกับยอมทรมานอดอาหารจนร่างกายปฏิเสธอาหารทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วจนเป็นสาเหตุของโรคกลัวอ้วน Anorexia Nervora  กับ Bulimia  สองโรคอันตรายของคนอยากสวย" กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ระบุ
          สำหรับสาเหตุของ AnorexiaNervora เกิดจากหลายปัจจัย เช่นความกดดันทางวัฒนธรรม และไม่พึงพอใจในรูปร่างของตัวเอง เนื่องจากในสังคมมีค่านิยมความผอมมองว่าคนหุ่นดี เท่านั้นที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งค่านิยมที่ว่านี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ
          นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมภายในครอบครัวที่เคร่งครัดจนเกินไปจะทำให้สมาชิกในครอบครัวขาดความเป็นอิสระ พฤติกรรมการแสดงออกของคนกลุ่มนี้จึงปฏิเสธที่จะกินอาหารในที่สาธารณะ รู้สึกผิดทุกครั้งเมื่อกินอาหาร คำนวณ แคลอรี่อาหารที่กิน เริ่มอดอาหารบางมื้อตัดหรือหั่นอาหารให้มีชิ้นเล็ก ฝืนออกกำลังกายอย่างหนักแม้ว่าจะรู้สึกอ่อนล้า
          "อาการของโรคคือประจำเดือนขาด ขี้หนาว มีขนตามร่างกายมากขึ้น ชอบชั่ง น้ำหนักตัวบ่อยเพราะวิตกกังวล เลือกกินหรือพยายามกินให้น้อยที่สุด หมกมุ่นอยู่กับการออกกำลังกายจนน้ำหนักตัวลดฮวบฮาบ เมื่อพบอาการป่วย แพทย์จะใช้การทำจิตบำบัดและครอบครัวบำบัด โดยพ่อแม่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมถ้ามีอาการรุนแรงแพทย์อาจจะให้ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยาช่วยกระตุ้นให้อยากอาหารรวมถึงพฤติกรรมบำบัดเพื่อปรับทัศนคติของคนไข้ใหม่ว่าคุณค่าของตนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่างที่ผอมบางเท่านั้นแต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ความสามารถ ความดีงาม เป็นต้น" แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าว
          ส่วนพฤติกรรมตรงกันข้าม ที่ถือเป็นโรคในกลุ่มของอาการผิดปกติในการกิน Eating Disorder เช่นเดียวกัน คือ โรค Bulimia จะพบในวัยรุ่นหญิง โดยมีสาเหตุหลักเกิดจาก ค่านิยมเรื่องความอ้วนความผอมเป็นสำคัญ ที่สำคัญคือแม่ที่เป็น Bulimia มีโอกาสถ่ายทอดพันธุกรรมไปถึงลูกสาว  "อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักอยากกินอาหาร ในทันทีแบบที่บังคับตัวเองไม่ได้ทำให้กินมากเกินไป จึงต้องพึ่งยาถ่ายหรือล้วงคอให้อาเจียนหลังมื้ออาหารเพราะกลัวอ้วน พฤติกรรม ดังกล่าวจึงก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ความดันโลหิตต่ำ ประจำเดือนขาด เกิดภาวะซึมเศร้า อีกทั้งการใช้ยาระบายเป็นประจำส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับไต กระเพาะปัสสาวะ ร่างกายขาดน้ำ และเกิดความผิดปกติต่อระบบการไหลเวียนของเลือด การรักษาด้วยตัวเองจึงไม่ค่อยได้ผล เพราะขาดการยอมรับเรื่องความผิดปกติในการกิน ต้องอาศัยคนใกล้ชิดดูแลและสร้างแรงจูงใจ" อีกโรคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้ คือ ปัญหาโครงสร้างกระดูกและข้อในวัยรุ่น
          ผศ.นพ.วิศาล คันธารัตนกุล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าปัญหาโครงสร้างกระดูกและข้อในวัยรุ่นที่พบมากที่สุดคือ "เท้าแบนและเท้าแบะ" โดย 1 ใน 5 ของวัยรุ่นจะเป็นโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีภาวะผิดปกติที่กระดูกสันหลัง อาทิหลังคด หลังค่อม คอเอียง ข่าโก่ง ร่วมด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แม้จะไม่เกิดอันตรายถึงชีวิตแต่ก็ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสังคมไม่น้อย  "ภาวะเท้าผิดรูปที่พบบ่อยอย่างเท้าแบนหรือเท้าแบะ ถ้าในผู้ใหญ่ผมจะแนะนำให้เสริมพื้นรองเท้าแต่ถ้าเป็นเด็กเล็กถ้าพบตั้งแต่เนิ่นๆ คือ 4-5ขวบ ผมจะให้ความมั่นใจกับผู้ปกครองว่าเขาสามารถกลับมาเป็นปกติได้หากมีการ ออกกำลังกายที่ถูกต้องมีการยืดเหยียดเส้นเอ็น อย่างสม่ำเสมอหรือเสริมพื้นรองเท้า แต่ถ้าเลยจาก 7ขวบขึ้นไปโอกาสที่จะกลับเป็นปกติยากเพราะโครงสร้างต่างๆ คงที่แล้ว หรือถ้ามาพบแพทย์เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้วส่วนใหญ่ต้องเสริมพื้นพร้อมกับใช้รองเท้าแบบพิเศษ  เนื่องจากสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือภาวะกระดูกเอียงและเทที่จะมีอาการกระดูกเลื่อนตามมา แต่กว่าจะรู้ว่าอาการแย่ก็อาจสายเกินไป เพราะอาการปวดจะไปสำแดงเอาตอนอายุ 40 ปี เราพบเจอโรคในฐานะหมอจึงต้องเตือนคนไข้ล่วงหน้าครับ"
          ทั้งนี้ คุณหมออธิบายต่อถึงอาการเท้าโก่ง ที่พบว่าโดยมากมักหายเป็นปกติได้เอง แต่ในกลุ่มที่ไม่หายนั้นสันนิษฐานว่ายังนั่งแบบ เท้าแบะ W ShapeSetting เหมือนเดิมจนทำให้ เส้นเอ็นหย่อนและกลายเป็นผิดปกติอย่าง ต่อเนื่อง ในที่สุดโครงสร้างก็ไม่คืนสู่สภาพปกติ
          "เด็กกลุ่มนี้จะมีส่วนหนึ่งที่เกิดโรครุนแรงตามมาโดยเฉพาะเท้าแบะแบบเดินเท้าชี้เข้าใน ถ้าอาการดังกล่าวเกิดความปกติจากสะโพก เช่น ปวดสะโพก มักจะต้องได้รับการดูแลอย่าง ใกล้ชิดเพราะฉะนั้นถ้าผู้ปกครองที่มีบุตรเท้าโก่ง เข้าด้านใน หรือเดินปลายเท้าชี้เข้าด้านในเมื่ออายุ 4-5 ขวบ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกายถ้ายังไม่ดีขึ้นควรพามาพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์ดูว่าเกิดโรคบางอย่างในสะโพกหรือไม่"
          ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือกลุ่ม ผู้ป่วยหลังคดและคอเอียงมักเป็นเพศหญิงและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เอง แต่อาจไม่หายขาด ดังนั้นการติดตามอย่างใกล้ชิดจึงมีสำคัญ
          "เราต้องการแก้ไขตั้งแต่เริ่มเป็นโรค โดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาซึ่งหลังคลอดคุณแม่ต้องสังเกตและหมั่นทำการยืดเหยียดให้ลูกด้วยท่าที่ถูกต้อง ขณะที่บางคนก็อาจมาเป็นตอนโตได้โดยเป็นผลมาจากอาการไซนัสเรื้อรัง หูอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ติดเชื้อเรื้อรังในหูก็อาจจะนำไปสู่การคอเอียงได้เช่นกัน"
          ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสังเกตว่าคนใกล้ตัวอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่กล่าวมานี้ ที่ดีที่สุดคือรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาก่อนที่สายเกินเยียวยา


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved