HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 17/09/2555 ]
รู้ไว้ก่อนภัย(น้ำ)มา

  ก้าวเข้าสู่กลางเดือนกันยายน หลายฝ่ายยังคงหวาดกลัว และกังวลไม่หาย ว่าปีนี้จะเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาบ้านเรา เหมือนเช่นปีที่ผ่านมาหรือไม่ จน ณ ขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดกล้าออกมายืนยันในหลักการว่า ประวัติศาสตร์จะหมุน กลับมาซ้ำรอยเดิมหรือเปล่า
          แต่จากบทเรียนของมหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้หน่วยต่างๆ ของชุมชนเริ่มเฝ้าระวัง และเริ่มเตรียมการรับมือกันอย่างเป็นรูปธรรม มากขึ้น จากแต่เดิมที่เป็นผู้ตั้งรับโดยไม่มีระบบการจัดการ และแก้ไขปัญหาเพียงเฉพาะหน้า ผ่านเวลาไป 1 ปีเศษ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรการกุศล และหน่วยงานการศึกษา ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และวางรากฐานขององค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้วิกฤตน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น ไม่เหมือนเช่นปีที่ผ่านมา
          รังสิต หลักหก และ ปทุมธานี เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เป็นแห่งแรกๆ ของเขตพื้นที่ชานเมืองติดกับกรุงเทพมหานคร และเรียกได้ว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในชุมชน ระดับน้ำที่ท่วมขัง อยู่ยาวนานถึง 2 เดือนที่ความสูง 2-3 เมตรนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา และยากเกินกว่าที่ชุมชนจะตั้งรับได้ทัน
          โครงกร "รักชุมชนหลักหก เฝ้าระวังอุทกภัย ร่วมใจฟื้นฟูยั่งยืน" เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยรังสิต รวมกับนักวิชาการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ตระเตรียมแผนในการรับมือกับภาวะน้ำท่วมในระยะยาว เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยมีนักวิชาการ อาทิเช่น ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. และ นพ. วิชัย โชควิวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการ สสส. คนที่ 2 นายมานิต สุขสมจิตร และ นางมุกดา อินต๊ะสาร คณะกรรมการกองทุน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ ลงพื้นที่ สำรวจความเสี่ยหายของชุมชนที่เคยน้ำท่วม พร้อมทั้งจัดประชุม ระดมความคิดจากผู้นำหมู่บ้านทั้ง 7 เพื่อรับฟังปัญหา จุดบอด จุดบกพร่องและเร่งทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปในการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ
          "เรามีการจัดทำผังชุมชน จัดเวทีชุมชน 10 ครั้งเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิจัยและประเมินความช่วยเหลือ มีการทำคู่มือชุมชนที่เข้าใจง่าย และมีการอบรมการใช้เครื่องมือต่างๆ และจะอบรมชาวบ้านให้อ่านจนแตกฉาน" ดร.เจริญวิชย์ หาญแก้ว ประธานคณะทำงานกล่าว
          "บรรยากาศเวทีชุมชนทุกหมู่บ้าน ได้รับความร่วมมือจากผู้นำและชาวบ้านเป็นอย่างมากแสดงให้เห็นถึงพลังชุมชนที่เข้มแข็ง บางชุมชนมีการจัดอาสาสมัครเครือข่ายดูแลซึ่งกันและกันเรียกว่า "แม่นก" โดยช่วยเหลือกันเองระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียง" ดร.เจริญวิชญ์ เล่าอย่างภูมิใจ
          นอกจากนั้นยังมีการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดคลอง เพื่อทำการขุดลอกคูคลอง ซึ่งได้นักศึกษาจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยรังสิตมาเป็น ผู้ช่วยเหลือ รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศบาล และเจ้าหน้าที่ทหารด้วย ทั้งหมดนี้ คือแผนตั้งรับ และป้องกันน้ำท่วม ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้
          จากความยากลำบากร่วมกัน ทำให้คนในชุมชนหลักหกตื่นตัวเป็นอย่างมากที่จะหาวิธีป้องกันตนเองจากอุทกภัยที่กำลังจะมาถึง ทำให้ชาวบ้าน และผู้บริหารเชื่อมั่นว่า แม้คราวนี้อาจเกิดปัญหาซ้ำรอย แต่การเตรียมการตั้งรับที่ทำไว้อย่างดี จะทำให้ทุกฝ่ายไม่ตื่นตระหนก และสามารถจัดการชีวิตให้ลงตัวได้แม้จะตกอยู่ในสภาวะผู้ประสบภัย ก็ตาม
          "เชื่อว่าครั้งนี้หากเกิดภัยธรรมชาติ เราจะมีความพร้อมในการจัดการมากขึ้น เพราะได้มีการพูดคุย แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ทำความเข้าใจกันแล้ว"
          ทางด้านผู้จัดการ สสส. นพ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ กล่าวว่า โครงการนี้ยังได้รับการคัดเลือกเพื่อให้เป็นโครงการต้นแบบ ภายใต้หัวข้อ "มหาวิทยาลัยช่วยเหลือชุมชนที่ประสบอุทกภัย" ซึ่งเป็นโครงการที่ สสส. ลงไปจัดการดูแลในอีกกว่า 20 โครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดด้วย
          "ก่อนเกิดเหตุไม่มีแผนต่างคนต่างอพยพทำให้มีแต่ความชุลมุนวุ่นวาย แต่หากทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลมีแผนเป็นของตัวเอง เมื่อยามมีภัยมา เชื่อว่า จะสามารถลดความรุนแรงจากวิกฤตได้อย่างมาก" ทพ.กฤษดา ทิ้งท้าย

 


pageview  1206114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved