HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 03/09/2555 ]
พาราเซตามอลยาสามัญที่ต้องระวัง

พราเซตามอล เป็นยาแก้ปวดและลดไข้ ที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากเชื่อว่าปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง  ซึ่งก็เป็นความจริงที่ว่าพาราเซตามอลมีข้อดีที่ ไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่แท้จริงแล้วพาราเซตามอลมีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุด นั่นคือ การเกิดพิษต่อตับ หากใช้เกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป
          ภาวะเป็นพิษต่อตับจากยาพาราเซตามอลนั้น เกิดได้ทั้งจากความตั้งใจรับประทานยาเกินขนาด เพื่อทำร้ายตัวเอง ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน และเกิดภาวะตับวาย ซึ่งอาการอาจรุนแรงถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือเสียชีวิตหากไปรับการรักษาไม่ทันท่วงที
          ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่เกิดภาวะเป็นพิษต่อตับโดยความไม่ตั้งใจนั้นพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบว่ากำลังทำร้ายตัวเองด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่มีผลทำร้ายตับต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าจะรับประทานไม่เกินขนาดที่แนะนำ แต่ถ้ารับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานก็มีโอกาสที่จะเกิดตับอักเสบได้เช่นเดียวกัน    ที่สำคัญผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีแนวโน้มที่จะไปรับการรักษาช้า เนื่องจากไม่ตระหนักถึงพิษภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยาพาราเซตามอลเป็นเวลานาน เมื่อเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2554 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration หรือ USFDA) ได้ออกประกาศให้บริษัทยาที่ผลิตยาแก้ปวดสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ให้ลดปริมาณยาพาราเซตามอลลงจากเดิม จากขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ดเป็น 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภคในการที่จะได้รับปริมาณยาพาราเซตามอลเกินขนาด และลดความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อตับ
          นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ระบุถึงผลข้างเคียงของยาพาราเซตามอล ที่ฉลากยาให้ชัดเจนว่า "ยามีผล ทำให้เกิดพิษต่อตับอย่างรุนแรงได้" นอกเหนือจากผลข้างเคียงอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการแพ้ยาหรือ ผื่นคัน
          แม้ว่ายาพาราเซตามอลจะเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่มีประโยชน์ แต่หากใช้ผิดวิธีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ยา และหากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาควรรีบไปพบ แพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเสมอ
          ข้อควรระวังที่ควรทราบเกี่ยวกับยาพาราเซตามอล คือ ไม่ควรรับประทานเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานานและไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเกินวันละ 4 กรัม ในประเทศไทยซึ่งยามักจะอยู่ในรูปแบบเม็ดละ 500 มิลลิกรัม คือ รับประทานได้ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน และไม่เกิน 1-2 เม็ดต่อครั้ง (ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัมควรรับประทานพาราเซตามอล ครั้งละ 1 เม็ดเท่านั้น)
          นอกจากนี้ไม่ควรดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ขณะที่รับประทานยาพาราเซตามอล ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรัง ตับแข็ง หรือดื่มสุราเป็นประจำจะมีความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับง่ายกว่าคนปกติจึงควรงดเว้นการรับประทานพาราเซตามอล หรือหากจำเป็นจริงๆ ก็ควรรับประทาน ให้น้อยที่สุด
          ข้อควรระวังอีกอย่างคือ มียาสูตรผสมเป็นจำนวนมากที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดเมื่อย ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งยาสูตรผสมเหล่านี้หากนำมารับประทานร่วมกันโดยไม่ทราบว่ามีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น รับประทานยาแก้ไข้หวัดพร้อมๆ กับยาคลายกล้ามเนื้อ จะทำให้ได้รับยาเกินขนาด และเกิด ตับอักเสบหรือตับวายเฉียบพลันได้
          ดังนั้นก่อนรับประทานยาทุกชนิดจึงควร อ่านฉลากยาให้ละเอียดเสมอ ถ้าไม่แน่ใจว่ายามีส่วนประกอบของพาราเซตามอลหรือไม่ ควรปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคยาทุกครั้ง
          คนไทยใช้ยาพร่ำเพรื่อ
          เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการฯ ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ปวดของคนไทยว่า มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ "พาราเซตามอล" ซึ่งส่วนใหญ่ มักเข้าใจว่า เป็นยาแก้ปวดสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจาก ยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้ยาแตกต่างกัน
          พาราเซตามอลอยู่ในกลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง ซึ่งในกลุ่มนี้ยังมีแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองอุดตัน ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม มึนงง ซึมเศร้า ระบบเลือด จะขัดขวางการ เกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีผลต่อการทำงานของไต โดยทำให้ ไตบวม ระดับโปตัสเซียมและโซเดียมในเลือดสูงและไตวาย และมีผลต่อผิวหนัง โดยมีอาการผื่น คัน ผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดดอีกด้วย
          นอกจากนี้ ยาพาราเซตามอลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น หากใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำอาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด
          นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้ผู้บริโภคใช้ยารักษาอาการปวดอย่างถูกต้อง โดยใช้ยาตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาด ใช้บ่อยกว่า หรือใช้เป็นระยะเวลานานกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก หรือเอกสารกำกับยา หรือแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ยาแก้ปวด เพราะอาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยามากขึ้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา


pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved