HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 05/02/2555 ]
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
          อมรากุล อินโอชานนท์ 
          
          เมื่อสองปีที่แล้วเคยนำความรู้เรื่องการเสริมพลังอึด ฮึด สู้ (resilience) ลงในชุมชน เพื่อทดลองว่ากิจกรรมและองค์ความรู้ที่นักวิชาการร่วมกันพัฒนาขึ้นมานั้นใช้ได้หรือไม่ มีการทดลองกับชุมชนสองแห่ง
คนที่มาฟังมีหลากหลายวัย ตั้งแต่อายุ 20 กว่าไปจนถึง 70 กว่าปี การทดลองครั้งนี้ใช้เวลาหลายเดือน ก่อนจบโครงการมีคุณน้าคนหนึ่งนำประเด็นเนื้อหาของพลังอึด ฮึด สู้ มาผูกเป็นเพลง และออกมาร้องให้พวกเราฟัง เนื้อร้องใช้คำที่เข้าใจง่าย แค่เพลงเดียวก็ครอบคลุมประเด็นสำคัญได้ทั้งหมด เป็นวิธีการสื่อสารที่ช่วยให้เข้าใจและจดจำได้ดี นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากศักยภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหยิบยกขึ้นมาเชิดชู เนื่องจากผลผลิตที่ได้มักจะตรงใจคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา 
          ในพื้นที่ตำบลโคกสะอาด อำเภอภูเขียว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อสองปีย้อนหลังพบปัญหาการพยายามฆ่าตัวตายอยู่ในอัตราที่น่าเป็นห่วง ซึ่งสาเหตุมาจากอาการซึมเศร้าที่เกิดจากปัญหาครอบครัว เช่น มีปัญหาในการสื่อสาร การเปลี่ยนคู่และการถูกทอดทิ้ง คุณณฐพร ชัยพรมเขียว พยาบาลโรงพยาบาลภูเขียว และคุณวรวรรณ หนึ่งด่านจาก นักจิตวิทยาของศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 จึงได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน คือ หมอลำเพลิน มาใช้ถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคซึมเศร้า เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้และเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างเป็น VCD หมอลำเพลิน สร้างความเข้มแข็ง ต้านภัยโรคซึมเศร้า ผู้แต่งคือคุณพ่อสำราญ คงเซียงซา ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการแต่งเพลงหมอลำเพลิน และยังฝึกสอนการแสดงให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข กับแกนนำจิตอาสาที่ต้องการจะแสดงหมอลำเพลินเป็นอาชีพ เมื่อทำวิจัยก็พบว่าการถ่ายทอดในรูปแบบนี้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายในภาคอีสาน สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชุมชน ความรู้นั้นถ้านำมาทำให้สนุกคนก็จะจำ แต่ถ้าเสริมด้วยกิจกรรมบางอย่างก็จะนำไปสู่การ รู้แล้วทำ อย่างกรณีนี้ก็จะมีกลุ่มแกนนำจิตอาสาออกเยี่ยมผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คอยช่วยเหลือปลอบใจก่อนจะพาไปพบหมอ 
          ที่จังหวัดสมุทรปราการ คุณลออ ประเทิงจิตต์ บุคลากรสาธารณสุขสังเกตเห็นว่า ในพื้นที่มีร้านทำผมเปิดเรียงรายกันหลายร้าน ก็เลยได้ความคิดที่จะพัฒนาช่างทำผมให้เป็นสื่อบุคคล เพราะคนเหล่านี้จะสนิทสนมและมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้า แถมยังพูดคุยสนุกสนาน จึงแสวงหาอาสาสมัครจากคนกลุ่มนี้ จัดอบรมให้ความรู้เพื่อเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับลูกค้า เช่น ชวนคุยเรื่องการเลี้ยงลูก พูดเรื่องพัฒนาการเด็ก วิธีลดความขัดแย้ง นอกจากนั้นยังมีการนำหมอนวดแผนโบราณในชุมชนมาเสริมให้มีความรู้เรื่องความเครียด วิธีคลายเครียดด้วยตนเอง ความรู้เรื่องสมองและการหลั่งฮอร์โมนเครียด การหลั่งสารสุข ปรากฏว่าลูกค้าติดใจเพราะได้ความรู้ด้วยวิธีบอกเล่าแบบง่าย ๆ น่าฟัง ฝั่งผู้ที่เป็นสื่อบุคคลเองก็รู้สึกดี เพราะได้รับความเชื่อถือเนื่องจากมีความรู้นอกเหนือจากวิชาชีพที่ทำอยู่ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง 
          แกนนำในชุมชนที่เก่ง ๆ จะมีแนวคิดในการทำงานแบบนอกกรอบ โดยนำปัญหาในชุมชนมาเป็นตัวตั้ง เช่น ชุมชนหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว เป็นชุมชนที่อยู่ชายขอบ พื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งจนมีคำขวัญว่า เป็นเมืองข้าวสารป่น คนดำ น้ำขุ่น ฝุ่นเยอะ หัวหน้าครอบครัวส่วนใหญ่มักอพยพไปทำงานที่กรุงเทพ หรือไปขายแรงงานต่างประเทศ กลับมาก็เข้าทำนอง ไปเสียนา มาเสียเมีย คนในชุมชนมีปัญหาครอบครัวกันมาก ผู้นำชุมชนจึงคิดโครงการ ฝากคนรักไว้กับชุมชน ขึ้น ก่อนจะเดินทาง ทางชุมชนก็จะจัดพิธีให้พราหมณ์สวดและผูกข้อมือเพื่อเป็นสิริมงคล ให้คำมั่นสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน ระหว่างที่หัวหน้าครอบครัวไม่อยู่ ชุมชนก็จะช่วยกันดูแลช่วยเหลือคนทางบ้าน พอกลับมาทางชุมชนก็จะจัดพิธีรับขวัญ ซึ่งเขาพบว่าช่วยทำให้ปัญหาครอบครัวลดลง 
          ในสังคมไทยยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าอีกมากมายที่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเชิดชู หากมีการประมวลและรวบรวมเป็นรูปเล่ม จะช่วยเปิดหูเปิดตาคนในสังคมให้เห็นศักยภาพของคนในท้องถิ่นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นบทสรุปให้เห็นว่ามีความยั่งยืนและแนบเนียนไปกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนอย่างแท้จริง

pageview  1204837    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved