HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 27/08/2555 ]
"ปวดหลัง" เรื่องน่าเบื่อของนักบิน

อาชีพนักบิน นอกจากจะเป็นอาชีพในฝันของหนุ่มๆ ยังเป็นที่หมายตาของสาวๆ ด้วยลุคที่ดูสมาร์ท การงาน ที่เหมือนจะสะดวกสบาย แต่ความจริงแล้วบรรดากัปตันมาดเท่เหล่านี้ก็มีปัญหาสุขภาพที่รบกวนจิตใจไม่แพ้คนในอาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะโรคปวดหลังอันเนื่องมาจากสภาพการทำงาน สำหรับโรคปวดหลังที่เกิดกับนักบิน ส่วนใหญ่จะเป็น โรคปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งพบได้บ่อยในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนมักทำงานโดยอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น ผู้ที่ทำงานในสำนักงาน คนขับรถ คนงานในโรงงาน ฯลฯ เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และมักจะหายได้เอง แต่อาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้
          รศ.ดร.ประวิตร เจนวรรธนกุล ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความชุกและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคปวดหลังส่วนล่างในนักบินที่ขับเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ชาวไทย กล่าวถึงโรคปวดหลังว่า ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดที่บริเวณหลังส่วนล่างหรือบั้นเอวเท่านั้น ไม่แผ่หรือลามไปที่อื่น มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อเกร็งหรือข้อต่อกระดูกสันหลังมีปัญหา แต่หากมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอวร่วมกับอาการปวดร้าวลงไปที่ก้น หรือบางคนอาจร้าวลงไปถึงบริเวณน่องและข้อเท้า จะมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกสันหลังยื่นหรือเคลื่อน หรือเส้นประสาทถูกกดทับ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดทันที เพราะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่า  สำหรับการนั่งแม้จะดูเป็นกิจกรรมที่ไม่หนัก แต่ความจริงแล้วส่งผลเสียต่อหลังหลายประการ เนื่องจากปกติแล้วกระดูกสันหลังจะเว้าไปข้างหน้า แต่ขณะนั่งมันจะเว้าไปข้างหลัง ทำให้กระดูกสันหลังบิดผิดรูปไป อีกทั้งการนั่งเฉยๆ เป็นเวลานานยังทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง ส่วนของกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อก็ได้รับสารอาหารน้อยลงอีกด้วย
          รศ.ดร.ประวิตร เปิดเผยถึงผลงานวิจัย ดังกล่าวว่า มีที่มาจากการที่นิสิตนักกายภาพ บำบัดซึ่งทำงานที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ได้มีโอกาสดูแลนักบินจำนวนหนึ่งและพบว่ามีนักบินจำนวนมากที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง จึงสนใจทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ ประกอบกับตนมีความสนใจเกี่ยวกับโรคปวดหลังอยู่แล้ว จึงร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นเพื่อศึกษาความชุก และปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการ ปวดหลังในนักบิน  กลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้เป็นกัปตันที่ขับ เครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ชาวไทยจำนวน 708 คน โดยใช้การวิจัยแบบตัดขวาง และแบบสอบถาม ผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 56 รายงานว่าตนเองมีปัญหาโรคปวดหลังในรอบปี ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจเล็กน้อย เนื่องจากหากมีอาการปวดหลังในขณะขับเครื่องบินจะเป็นการรบกวนร่างกาย และ สภาพจิตใจของนักบินไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพในการขับเครื่องบินได้
          สำหรับปัจจัยที่สัมพันธ์กับอาการปวดหลังพบว่ามี 2 กลุ่มปัจจัยคือ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ เป็นโรคง่ายขึ้นได้แก่ การประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนหรือตกหลุมอากาศในระหว่างการบินบ่อยครั้ง โดยมีสมมติฐานว่าอาจเกิดจากความเครียดที่สูงขึ้นทันที ซึ่งความเครียดมีส่วนสำคัญต่ออาการปวดหลังเป็นอย่างยิ่ง หรือ การกระแทกอย่างรุนแรงระหว่างตกหลุมอากาศ ทำให้ข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลังแพลง การยกกระเป๋าสัมภาระบ่อยๆ เนื่องจากนักบินมักจะนั่งตลอดการบินเป็นเวลาหลายชั่วโมง ร่างกายจึงไม่ยืดหยุ่น เมื่อต้องมาหิ้วของหนักก็ทำให้บาดเจ็บง่ายขึ้น
          การอยู่ในห้องบังคับการที่มีเสียงดังมากเป็นเวลานาน และการมีความรู้สึกว่า งานนักบินเป็นงานที่มีอันตรายมากก็มักทำให้เกิดความเครียดซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ดังนั้น หากไม่ต้องการเผชิญกับความทรมานจากโรคปวดหลัง คุณหมอแนะนำว่าควรออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยในกรณีของนักบินควรมีระยะเวลาการพักระหว่างเที่ยวบินที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการทำงาน และป้องกันอาการบาดเจ็บ
          อย่างไรก็ตาม นอกจากบรรดากัปตันที่ต้องนั่งขับเครื่องบินเป็นเวลานานๆ แล้ว ยังมี อีกหลายอาชีพที่มีสภาพการทำงานที่อาจ ส่งผลต่อสุขภาพไม่น้อยไปกว่ากัน โครงการนี้ จึงวางแผนการวิจัยต่อไปว่าจะศึกษาเกี่ยวกับ อาการปวดหลังในผู้ที่ทำงานในสำนักงาน เนื่องจากเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ และอาการปวดหลังทำให้สูญเสียเงิน เวลา และทรัพยากรไปกับการรักษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อหาวิธีป้องกันโรคปวดหลังสำหรับผู้ที่ต้องนั่งทำงานนานๆ โดยปัจจุบันกำลังศึกษาเกี่ยวกับ การป้องกันโดยการขยับร่างกายบ่อยๆ ในระหว่างวัน
          นอกจากนี้ยังได้คิดท่าบริหารง่ายๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้านขึ้นเพื่อทดสอบดูว่าจะสามารถป้องกันอาการปวดหลังได้หรือไม่
          สุดท้าย รศ.ดร.ประวิตร ได้ให้คำแนะนำสำหรับนักบินและผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการปวดหลังควรป้องกันด้วยการดูแลสภาพร่างกายให้ดี เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาปวดหลังของผู้ที่นั่งนานๆ คือร่างกายขาดความยืดหยุ่น จึงควรทำกิจกรรม Stretching หรือการเหยียดยืดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลัง หรือเล่นโยคะและเล่นกีฬาก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลังได้
          ส่วนผู้ที่เป็นโรคปวดหลังแล้ว เมื่อเกิดอาการปวดก็ไม่ควรให้ความสนใจกับมันมากเกินไป ให้พยายามใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ลดระดับความหนักของกิจกรรมลงมา เล็กน้อย และควรงดกีฬาบางชนิดที่ออก แรงมากเช่น เทนนิส วิ่ง ฟุตบอล ฯลฯ จนกว่าอาการจะทุเลา แต่หากเป็นกีฬาเบาๆ เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว ฯลฯ ก็สามารถทำได้และจะส่งผลดีต่อโรคปวดหลังอีกด้วย
          ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหลังจะหายเองภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่หากยังไม่หาย ก็ควรปรึกษาแพทย์


pageview  1206118    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved