HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 06/08/2555 ]
มหัศจรรย์แสนล้านเซลล์สมอง

หลายคนอาจสงสัยว่าเด็กเกิดมามีจำนวนเซลล์สมองเท่ากันแต่ทำไมเติบโตขึ้นมาถึงมีความฉลาด สติ-ปัญญา และความสามารถไม่เท่ากัน ปัจจัยเหล่านี้เกิดจากสาเหตุอะไร และมีวิธีใดบ้างที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถส่งเสริมเพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมีศักยภาพสูงสุด.
          ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มีหลายปัจจัยที่มีส่วนกำหนดให้เด็กแต่ละคนเติบโตขึ้นมาแตกต่างกันและมีศักยภาพไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่มีบทบาทสำคัญ สมองก็ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกำหนดทิศทางชีวิตและความสำเร็จในอนาคต ซึ่งถ้าพ่อแม่มีโอกาสพัฒนาลูกน้อยได้เต็มศักยภาพ โอกาสที่ลูกจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ และมีคุณภาพของสังคมก็จะมีสูงขึ้น โดยใน 1,365 วันแรกของลูกน้อย ได้แก่ช่วงตั้งครรภ์ถึง 3 ขวบปีแรกนั้น ถือเป็นช่วงสำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพสมอง
          นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล แนะนำว่าการพัฒนาสมองลูกต้องเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ก่อน ตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็น เช่น กรดโฟลิก ซึ่งช่วยป้องกันภาวะบกพร่องของการสร้างสมองและไขสันหลัง
          "สารอาหารบางชนิด อย่างเช่น DHA จะเข้าไปเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ซึ่งเป็น ไขมัน เสริมให้มีความโปร่งพรุนมากขึ้น ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาททั้งภายในเซลล์กับภายนอกเซลล์สื่อสารกันได้ดี นอกจากนี้ยังมีสารอาหารที่สำคัญไม่แพ้กัน อาทิ กลุ่มของวิตามินชนิดต่างๆ เช่น วิตามินบี ที่จะช่วยกระตุ้นให้เซลล์ประสาทของลูกน้อยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยป้องกันความผิดปกติของระบบประสาท ส่วนสารอาหารที่ขาดไม่ได้เลย คือ ไอโอดีน ถ้าขาดสารอาหารชนิดนี้แล้ว สมองจะถูกทำลายอย่างถาวร ส่งผลต่อสมองของลูกน้อยในระยะยาว"
          นอกจากเรื่องโภชนาการแล้ว คุณพ่อคุณแม่ ควรส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกตั้งแต่อยู่ในท้องเพื่อให้เซลล์สมองส่วนต่างๆ พัฒนาให้ได้มากที่สุด การทำงานของเซลล์สมองนั้นจะทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการเชื่อมโยงสั่งงานกันระหว่างเซลล์ ผ่านแขนงประสาท มีการสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์หรือที่เรียกว่า ซินแนปส์ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อรับสัญญาณระหว่างเซลล์ การเชื่อมต่อนี้จะเกิดมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นผ่านประสบการณ์ที่ได้รับ  "คุณแม่ควรปฏิบัติตัวด้วยวิธีการธรรมชาติดีที่สุด กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย เพื่อให้ฮอร์โมนจากแม่ซึ่งเป็นฮอร์โมนดีหลั่งไปถึงลูก สื่อสาร พูดคุยกับลูกปกติ แม่ที่พูดคุยกับลูกมาก ร้องเพลงให้ลูกฟัง เมื่อคลอดมาจะจำเสียงแม่ได้เร็วขึ้น" นพ.พงษ์ศักดิ์ แนะนำ
          หลังจากคลอด ช่วง 3 ปีแรก คือช่วงเวลาทองที่จะทำให้สมองที่เคยมีจำนวนเซลล์แสนล้านเซลล์เท่าๆ กัน เริ่มไม่เท่ากัน เพราะในช่วงเวลานี้สมองของเด็กจะเติบโตสูงสุดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เซลล์สมองมีการแตกตัวมากขึ้น พ่อแม่สามารถส่งเสริมการพัฒนาสมองของลูกให้เต็มศักยภาพและต่อเนื่องโดยเน้นการได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ และเปิดโอกาสให้ลูกมีประสบการณ์ที่หลากหลาย เพื่อให้เซลล์สมองได้รับการกระตุ้นมากที่สุด ช่วงพัฒนาการของสมองในวัยเด็กเล็กนั้น แบ่งออกเป็นสองช่วงหลักๆ  คือช่วงอายุ 2-3 ปีแรก เรียกว่าระยะ experience-sensitive ยิ่งพ่อแม่ส่งเสริมประสบการณ์ให้ลูกมากเท่าไร ลูกจะพัฒนาจากประสบการณ์ที่ได้รับมากขึ้นเป็นสิบ เป็นร้อยเท่า
          สำหรับในช่วงที่สอง คือหลังจาก 3 ปี แรกไปแล้ว พัฒนาการสมองของลูกน้อยจะเข้าสู่ระยะ experience-dependent ซึ่งเป็นช่วงที่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและประสบการณ์ของ ตัวเด็กเอง
          "ในช่วง 3 ปีแรก พ่อแม่ต้องพยายามหาโอกาสให้ลูกเรียนรู้ให้มากที่สุด ได้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย เพื่อคงสมองส่วนที่ทำงานเอาไว้ วิธีง่ายๆ คือส่งเสริมพัฒนาการผ่านกิจวัตรประจำวัน ซึ่งต้องดูอีกว่าวัยไหนควรทำอะไร วัยเริ่มเดิน เด็กจะชอบเคลื่อนไหว อาจส่งเสริมด้วยการหากิจกรรมนอกบ้าน ในวัยเริ่มพูด ให้ชวนลูกพูดคุยเพื่อกระตุ้นให้พูดโต้ตอบ ชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งรอบตัวจะได้คิดตาม เกิดการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งสอนด้วยการพูดเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้ลูกได้คิด ได้ทำด้วยตัวเอง อีกอย่าง ที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ของเด็กคือการเล่น ของเล่นไม่ว่าถูกหรือแพง สำคัญคือพ่อแม่ต้องรู้จักเล่นกับลูก ขณะที่เล่นก็ชวนให้ลูกคิดไปด้วย มองหาโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง" นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถส่งเสริมไอคิวให้ลูกมีความฉลาดได้ด้วยการฝึกให้ลูกเกิดการคิดวิเคราะห์ โดยวิธีการง่ายๆ เช่น การตั้งคำถามปลายเปิด ให้เด็กได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เช่น ของเล่นชิ้นนี้ทำไมถึงทำงานแบบนี้ สัตว์แต่ละชนิดที่เห็นแตกต่างกันอย่างไร
          ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องฝึกให้ลูกรู้จักการวางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยตนเอง ไม่ควรจัดการทุกอย่างให้ลูกทั้งหมด
          สำหรับปัญหาที่เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กไทยในยุคปัจจุบันนั้น นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า "ที่เห็นได้ชัดคือพัฒนาการทางด้านภาษาที่ช้าลงในเด็กปกติ เพราะขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม โดยเฉพาะขาดปฏิสัมพันธ์จากคุณพ่อคุณแม่ มีหลายบ้านปล่อยให้เด็กดูแต่โทรทัศน์ หรือใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาเป็น ตัวช่วยในการเลี้ยงเด็กตลอดทั้งวัน การให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงชาวต่างด้าวที่ไม่โต้ตอบทางภาษา เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้าลง ดังนั้นเมื่อคุณแม่กลับถึงบ้าน ควรพยายามพูดคุยกับลูก ทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะพ่อแม่จะรับรู้ว่าลูกเข้าใจหรือไม่เข้าใจ มีปฏิกิริยาโต้ตอบกัน ซึ่งลูกเองก็เรียนรู้จากทั้งคำพูด ท่าที และการตอบสนองของคุณพ่อคุณแม่ตามบริบทร่วมกัน"
          ส่วนอีกปัญหาที่พบบ่อยคือ พ่อแม่ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจพัฒนาการของลูกในแต่ละวัยและไม่เข้าใจธรรมชาติของลูก พัฒนาการของเด็กอาจเร็วช้าต่างกันได้ถึง 4 เดือน บางคนก็เร็ว บางคนก็ช้า บางคนชอบวิ่ง บางคน ชอบอยู่เฉยๆ การตั้งความหวังเกินกว่าธรรมชาติของเด็กอาจจะสร้างความกดดันแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นพ่อแม่ควรเปลี่ยนความคิดโดยหันมามองและทำความเข้าใจลูกว่าลูกถนัดอะไร ลูกสนใจอะไร
          ขณะเดียวกันเมื่อเข้าใจลูกแล้ว ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจตัวเองด้วย
 


pageview  1205848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved