HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 09/07/2555 ]
ทักษะเอาชนะ'จิตตก'

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าคนเราแต่ละคนมีจิตใจแข็งแรงไม่เท่ากัน ทำให้ความสามารถในการรับความกดดันในชีวิตไม่เท่ากัน ยิ่งโดยเฉพาะปัจจุบันระดับความเครียดที่เกิดขึ้นมีสูงมาก คนที่ประสบภาวะเครียดบ่อยๆ เป็นระยะเวลายาวนาน บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการอ่อนล้าทางด้านจิตใจ หรือสภาวะที่เรียกกันคุ้นปากว่า "จิตตก"
          นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายคำว่า "จิตตก" ในทางการแพทย์ว่า คำนี้เป็นคำที่ใช้พูดกันเพื่อบรรยายอาการของคนที่ประสบกับความเครียด ความกดดัน เป็นระยะเวลายาวนาน หรืออาจจะเกิดจากความกดดันที่เกิดขึ้นในระยะที่ไม่ยาวนาน แต่มีความรุนแรงสูง โดยจะมีอาการเกิดขึ้นเป็นลำดับ เบื้องต้นมักจะเกิดจากการคาดว่า เกรงว่า สิ่งที่ไม่ดีจะเกิดขึ้น จะมีความเสียหายเกิดขึ้น คิดว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ คิดว่าจะล้มเหลว ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ซึ่งได้แก่อาการใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหารปั่นป่วน เป็นต้น
          ส่วนระยะถัดมา เมื่อทราบถึงผลของเหตุการณ์แล้วว่าไม่ได้ผลอย่างที่คิด ไม่สำเร็จ ก็จะเกิดอาการผิดหวัง ท้อแท้ ซึมเศร้า ซึ่งได้แก่ อาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ คิดช้าไม่มีกำลังใจ รู้สึกตัวเองไร้คุณค่า ในรายที่อาการรุนแรง อาจจะมี ความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากฆ่าตัวตาย  ในบางรายก็อาจจะมีอาการทางจิตร่วมด้วยเช่น หูแว่วประสาทหลอนหวาดระแวง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งกับตนเองและผู้อื่น
          นพ.ไกรสิทธิ์ ให้ข้อสังเกตว่าเนื่องจากคนเราไม่สามารถรู้ได้ว่าภาวะจิตตกจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ เมื่อไหร่ ดังนั้นทางที่ดีจึงควรทำความรู้จักวิธีการรับมือกับภาวะจิตตกเพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ เช่นการเพิ่มภูมิคุ้มกันโดยการลดระดับความเครียดในแต่ละวันไม่ให้เกิดการสะสม พยายามหาเวลาเพื่อพักกายและพักใจซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมไป
          การพักกายและพักใจนี้ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ นอกจากนี้ในแต่ละวัน เราควรที่มีเวลาออกกำลังกายเพื่อยืดเส้นยืดสาย คลายความเครียด และช่วยให้ฮอร์โมนเอ็นโดรฟินในสมองซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้คนเรา รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขหลั่งออกมา "เพราะคนที่หิว หรือนอนไม่พอ ความอดทนจะต่ำ อารมณ์จะหงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ทั้งภายในครอบครัวและที่ทำงาน"
          และนอกจากการพักกายที่มีความสำคัญแล้ว การพักใจก็ควรทำเป็นประจำด้วย เช่น การทำงานอดิเรกที่ชอบ ทำแล้วมีความสุข สมองได้พักผ่อน เพื่อช่วยให้อารมณ์ลบในแต่ละวันได้ถูกถ่ายเทออกไป ไม่สะสม จิตใจก็จะผ่องใส สามารถรับแรงกดดันในชีวิตได้ดีขึ้น เกิดภาวะจิตตกได้ยากขึ้น จิตแพทย์ยังแนะนำอีกว่าสำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะจิตตก การที่จะผ่านภาวะนี้ไปได้ก็ต้องอาศัยทักษะ 4 ประการ คือ ความเชื่อมั่นว่าจะผ่านพ้นปัญหาไปได้ ความสามารถในการมองเห็นข้อดีหรือข้อบวกของสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาเป็นกำลังใจให้ต่อสู้ต่อไปได้ การมองปัญหาและการวางแผนแก้ไขแบบเป็นขั้นตอน และสุดท้ายสำหรับคนที่พยายามแก้ปัญหา ด้วยตัวเองแล้วยังไม่สำเร็จ อาจจะต้องอาศัยตัวช่วย คือความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ซึ่งก็ได้แก่เพื่อนสนิทหรือญาติผู้ใหญ่ ในการช่วยมองปัญหา ให้คำปรึกษาแนะนำ
          นพ.ไกรสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า ในบางรายถ้าได้รับความช่วยเหลือแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจมีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้าจนไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงานได้ ก็จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยเหลือให้ต่อสู้กับปัญหาและผ่านวิกฤติไปได้
          หวังว่าคนไทยทุกคนจะไม่ต้องประสบกับภาวะจิตตก ถ้าพบก็ขอให้รับมือได้ และที่สำคัญในทุกๆ วันอย่าลืมที่จะมีเวลาสำหรับพักกายและพักใจด้วย


pageview  1205848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved